ธปท.-สมาคมธนาคาร เล็งรวมหนี้บัตรพลาสติก

3 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1982 ครั้ง


	ธปท.-สมาคมธนาคาร เล็งรวมหนี้บัตรพลาสติก

ธปท.-สมาคมธนาคารหาช่องต่อลมลูกหนี้หมุนเงินผ่านบัตรพลาสติก เล็งรวมก้อนผ่อนชำระ ตั้งเงื่อนไข 1 คนค้างชำระหลายใบ ชูมาเลเซียต้นเป็นต้นแบบ (ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/users/lcb)

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่านายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลการบริหารหนี้ โดยเฉพาะหนี้ไม่มีหลักประกัน (คลีนโลน) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งพบว่ามีประชาชนเป็นหนี้ในส่วนนี้จำนวนมากและ 1 คนมีหนี้กับหลายสถาบันการเงินดังนั้น ธปท.อยากให้มีการเก็บข้อมูล ติดตามหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้โดยศึกษาทั้งการตั้งองค์กรใหม่หรือใช้ความร่วมมือของธนาคาร ซึ่งมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบเหมือน AKPK ของมาเลเซีย

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า ภายในเดือนมกราคมปี 2560 สมาคมธนาคารไทยจะมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับธนาคารสมาชิกในการเข้ามาดูแลหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยรูปแบบนั้นจะมีการประชุมวันที่ 3 ธันวาคมนี้โดยจะให้มีผลในทางปฏิบัติทันที ในหลักการคือ ลูกค้า 1 ราย ที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลหลายเจ้าหนี้ธนาคารสมาชิกจะเข้ามาบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างกันนั้นถือว่ามีประโยชน์ทั้งธนาคารเจ้าหนี้และลูกหนี้ และในระยะยาวจะช่วยลดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อดังกล่าวอีกทั้งอนาคตหากโมเดลที่พัฒนามีประสิทธิภาพ อาจจะขยายความร่วมมือไปสู่นอนแบงก์ที่สนใจและอยากจะเข้าร่วม อย่างไรก็ดี แม้ว่าความร่วมมือนี้อาจจะทำให้รายได้จากการติดตามหนี้ของธนาคารหายไป

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่า แนวทางเบื้องต้น กำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ 1คนที่มีหนี้กับสถาบันการเงินเกิน 1 แห่ง (สถาบัน) ร้องขอความช่วยเหลือจาก ธปท.หรือสมาคมธนาคารไทย ในทางปฏิบัติจะมีการรวมหนี้จากหลายสถาบันการเงินเป็นหนี้ก้อนเดียว จากนั้นจะให้ทางบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) หรือ บสส. ทยอยเชิญสถาบันการเงินเจ้าหนี้มาเจรจาต่อรองโดยเจตนาของธปท.และทางสมาคมนั้นต้องการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเบ็ดเสร็จขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดวงเงินที่จะแก้ไข เช่น อาจจะหลักหมื่นบาทหรือ 1 แสนบาท โดยรายละเอียดยังอยู่ในกระบวนการหารือกันระหว่างธนาคารสมาชิกของสมาคมและ ธปท.

สอดคล้องกับนายฐากร ปิยะพันธ์ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรม บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจนของโมเดลการบริหารจัดการหนี้ สิ่งที่ธนาคารกังวลมีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.การเปิดและปิดข้อมูลของลูกค้าและหนี้ในระดับไหน ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนและ 2.ขั้นตอนการบริหารจัดการ ตั้งแต่การเจรจา การฟ้องร้อง หรือการประนอมหนี้ จะต้องใช้เวลาสั้นหรือยาวอย่างไรรวมถึงทีมงานและความพร้อมของ SAM ในการติดตามหนี้จะเพียงพอหรือไม่เนื่องจากปัจจุบันทุกธนาคารมีศักยภาพในการทวงถามหนี้ของตัวเองอยู่แล้ว และระยะเวลาหากเป็นการทวงถามแบบ 1 ต่อ 1 จะใช้เวลาไม่นานมาก แม้ว่าลูกหนี้จะได้ประโยชน์ในแง่ความสะดวกในการเจรจาหนี้ที่แบบรวมศูนย์ทีเดียวไม่ต้องแยกประนอมหนี้ และหากหนี้ที่ถูกโอนไปรวมอยู่ที่ SAM จะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร เพราะในแง่ของธนาคารใครมาเร็วหรือติดตามหนี้ลูกค้าได้ก่อน จะมีสิทธิ์รับชำระหนี้คืนก่อน แต่หากรวมหนี้ไปไว้ที่ SAM จะมีการจัดสรรหนี้อย่างไร และการคิดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยลูกค้าอย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนธนาคารกำลังศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหากมีข้อสงสัยหรือติดขัดตรงจุดใด ธนาคารอาจจะมีการพูดคุยกับสมาคมและธปท.เพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่ารูปแบบที่เกิดประสิทธิภาพ อาจจะต้องตั้งเป็นคณะทำงานหรือคณะกรรมการร่วม (Consortiums) ส่วนโมเดลของ AKPKของมาเลเซียถือว่าเป็นหน่วยงานที่ธนาคารกลางมาเลเซียเป็นผู้จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องหนี้นอกระบบและการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะ

“การจัดตั้งโมเดลนี้จะช่วยลดโอกาสทวงหนี้ซํ้าและที่สำคัญธปท.และธนาคารสามารถเห็นข้อมูลการเป็นหนี้ภาคประชาชนที่แท้จริง เพราะจะมีการเก็บข้อมูลการเป็นหนี้และดูพฤติกรรมการชำระหนี้ซึ่งเป็นการใช้ Data Analytic ให้มีประโยชน์”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: