ย้อนรอยของขวัญปีใหม่ 2554-2559  จาก ‘ประชาวิวัฒน์’ สู่ ‘ประชารัฐ’  ลบล้าง ‘ประชานิยม’ ไม่ได้สักที

ทีมข่าว TCIJ : 3 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2617 ครั้ง

นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางในช่วงปีใหม่ เช่น ลดหรือยกเลิกค่าผ่านทางพิเศษต่าง ๆ ลดค่าโดยสารรถสาธารณะ และการคุมเข้มความปลอดภัย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาเกือบทุกรัฐบาลแล้ว TCIJ พบว่าในช่วงที่การเมืองไทยมีความไม่แน่นอน ในระยะหลัง ๆ ที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลมักจะมีนโยบาย/โครงการ/กิจกรรม มอบเป็นของขวัญให้ประชาชน

โดย นโยบาย/โครงการ/กิจกรรม ที่รัฐบาลนั้น ๆ มอบให้กับประชาชนในช่วงปีใหม่  มักจะเป็นการ ‘ประกาศต่อสาธารณะอย่างครึกโครม’  หวังผลทางการเมือง-ความนิยมต่อประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น ๆ ด้วย และยังพบอีกว่าหลายนโยบาย/โครงการ/กิจกรรม ที่รัฐบาลนั้น ๆ มอบให้กับประชาชนในช่วงปีใหม่นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาใส่กล่องผูกริ้บบิ้นให้ดูพิเศษในช่วงปีใหม่และอ้างว่าเป็น ’ของขวัญให้ประชาชน‘

ปีใหม่ 2554 รัฐบาลประชาธิปัตย์มอบของขวัญ ‘ประชาภิวัฒน์’

หลังจากการสลายการชุมนมในช่วงเดือน พ.ค. 2553 และรอยต่อสู่การเดินหน้าเลือกตั้งในเดือน ก.ค. 2554 ในช่วงปลายปี 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศนโยบายปฏิบัติการ "ประชาวิวัฒน์" โดยระบุว่าเป็นการ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ คือ 1. การเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่นอกระบบ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสมทบเงิน 100 ต่อเดือน เข้าระบบประกันสังคม 2. การเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะคนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เป็นธรรม 3. การขึ้นทะเบียนและจัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสวัสดิการ ต้องมีการปรับปรุงวิน ป้ายราคาต้องชัด ประเดิมพื้นที่ กทม. 4. เพิ่มจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าจำนวน 2 หมื่นราย มีพื้นที่ค้าขายเพื่อลดรายจ่ายนอกระบบ และพัฒนาให้เป็นจุดท่องเที่ยว 5. การแก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะการแก้ปัญหากองทุนน้ำมัน โดยจะมีการยกเลิกการตรึงราคา LPG ในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังตรึงราคาภาคครัวเรือนและขนส่งต่อไป เพื่อประชาชนจะได้ใช้ในราคาที่เป็นธรรม  6. การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับคนที่ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วย อย่างถาวร โดยการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม 7. อาหารในส่วนของผู้ประกอบการ โดยจะดูแลให้ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 8. อาหารในส่วนของผู้บริโภคจะต้องมีทางเลือกมากขึ้น ต้องมีการเปิดเผยต้นทุนการผลิต ต้องมีความโปร่งใส ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยมีแนวคิดจำหน่ายไข่เป็นกิโลกรัม และ 9. การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาจุดเสี่ยงกว่า 200 จุด จะมีการบูรณาการ การเพิ่มบุคคลากรในการตรวจตราเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 200 - 300 ล้านบาท โดยตั้งเป้าลดปัญหาอาชญากรรมได้ร้อยละ 20 ภายใน 6 เดือน โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ระบุว่า แผนปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ คือ กระบวนการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ที่ผ่านการกลั่นกรองโดยระบบราชการ เพื่อยืนยันว่า เป็นนโยบายที่ "ยั่งยืน" และ "สมเหตุสมผล" ต่างกับ 'ประชานิยม' ที่เป็นนโยบายที่กำหนดโดยนักการเมืองเพื่อเอาใจประชาชน มุ่งเน้นไปที่จุดประสงค์ในการหาเสียง โดยไม่ผ่านขั้นตอนในการที่จะทดสอบความยั่งยืน

นโยบายนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่า ไม่ได้หนีไปจากนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย หรือจากพรรคพลังประชาชนไปเท่าไหร่ เช่น  สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ระบุว่านโยบายประชาวิวัฒน์ขาดคุณสมบัติของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะนโยบายที่นำเสนอไม่ได้มีหลักคิดเรื่องความถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทุกคนอยู่เลย มีการกำหนดกลุ่มผู้รับประโยชน์เป็นกลุ่ม ๆ  กองทุนหมู่บ้านแม้จะครอบคลุมทุกชุมชนในเมืองไทย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงเงินกู้นี้ (โดยเฉพาะคนจน) มาตรการลดค่าครองชีพบางประการก็ให้ประโยชน์เฉพาะผู้ที่ใช้เท่านั้น เช่นคนชนบทไม่ได้ใช้รถเมล์ฟรี เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม 'ประชาวิวัฒน์: ไม่ใช่ประชานิยมและไม่ใช่ระบบสวัสดิการสังคม')

และท้ายสุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้สานต่อนโยบายประชาวิวัฒน์นี้ เนื่องจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคเพื่อไทยในเดือน ก.ค. 2554

ปีใหม่ 2555 รัฐบาลเพื่อไทย ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ-ลูกจ้าง-วุฒิป.ตรีเงินเดือน 15,000 บาท

 

พรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งในเดือน กรกฎาคม 2554 ได้ชูนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งในช่วงรณรงค์เลือกตั้ง ก็คือการขึ้นเงินเดือนให้แก่บุคลากรภาครัฐ วุฒิปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้กำหนดว่าจะประกาศใช้นโยบายนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 เพื่อเป็นการให้ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล

สำหรับบุคลากรภาครัฐ ที่จะได้รับการปรับเพิ่มรายได้ในการประกาศนโยบายของขวัญปีใหม่ในครั้งนั้น ครอบคลุม 5 กลุ่ม กว่า 649,323 คน คือ 1.ข้าราชการ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ 2.ลูกจ้างประจำ 3.ลูกจ้างชั่วคราว ที่จ้างจากเงินงบประมาณ 4.ทหารกองประจำการ และ 5.พนักงานราชการ อนึ่ง ในขณะนั้นมีข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานราชการ ที่บรรจุในวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 346,365 คน  ส่วนที่ต่ำกว่าปริญญาตรีจำนวน 164,943 คน ทหารกองประจำการ จำนวน 138,015 คน

ปีใหม่ 2556 รัฐบาลเพื่อไทยปรับปรุงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เอาใจชนชั้นกลาง

ของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศให้แก่ประชาชนในช่วงปีใหม่ 2556 ก็คือปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยรัฐบาลระบุว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งการประกาศปรับปรุงในครั้งนั้นเป็นการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิ จากเดิม 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีสูงสุดจาก 37% เหลือ 35% ส่งผลให้ผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-300,000 บาท เสียภาษี 5% แต่ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีในส่วน 150,000 บาทแรก ส่วนผู้มีเงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท เสียอัตรา 10% ผู้มีเงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท เสียในอัตรา 15% ผู้มีเงินได้สุทธิ 750,001-1 ล้านบาท เสียอัตรา 20% ผู้มีเงินได้สุทธิ 1,000,001-2 ล้านบาท เสียอัตรา 25% ผู้มีเงินได้สุทธิ 2,000,001-4 ล้านบาท เสียอัตรา 30% และผู้มีเงินได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไป เสียอัตรา 35% เสียอัตรา 30% และผู้มีเงินได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไป เสียอัตรา 35%

นอกจากนี้ช่วงปีใหม่ 2556 นั้นรัฐบาลยังมอบสิทธิความเสมอภาคและการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้คู่สมรส เพิ่มการลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องหารครึ่งส่วนลดอีกต่อไป เริ่มตั้งแต่รอบภาษีปี 2555 ที่จะเริ่มยื่นแบบแสดงเงินได้และเสียภาษีต้นปี 2556 โดยคู่สามี-ภรรยา ที่เป็นผู้มีรายได้ จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ต้องกลัวเรื่องจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขประมวลรัษฎากร เปลี่ยนการเสียภาษีในส่วนของคู่สมรสให้สามารถยื่นภาษีร่วมกันได้ โดยเลือกยื่นในนามสามี หรือในนามภรรยา โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับการลดหย่อนภาษีหลายรายการ ในส่วนของการดูแลบุตร และที่อยู่อาศัย จะได้การลดหย่อนภาษีในจำนวนเต็มโดยไม่ต้องหารครึ่งเหมือนที่ผ่านมา โดยจะเริ่มตั้งแต่รอบภาษีปี 2555 ที่จะเริ่มยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือน ม.ค – มี.ค. 2556

ปีใหม่ 2557 สุญญากาศทางการเมือง รัฐบาลเพื่อไทยทิ้งทวนเร่งจ่ายโบนัสข้าราชการ

การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ที่เริ่มชุมนุมมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ได้ส่งผลต่อการเมืองไทยในขณะนั้นเป็นอย่างมาก โดยในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และมีการกำหนดการจัดการเลือกตั้งใหม่ วันที่ 2 ก.พ. 2557

ทั้งนี้ การประกาศมอบของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญของรัฐบาลเพื่อไทยในช่วงสุญญากาศทางการเมืองในขณะนั้น คือการมอบโบนัสให้กับข้าราชการ โดยระบุว่าได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ว่าเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยทำให้นโยบายของรัฐดำเนินการบรรลุเป้าหมายได้ จึงจัดสรรเงินงบประมาณเป็นเงินรางวัลเพื่อจ่ายให้กับบุคลากรภาครัฐ และมอบให้กรมบัญชีกลางรีบจ่ายเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2555 ให้ทันภายในไตรมาส1 ของปีงบประมาณ    2557 เป็นเงินทั้งสิ้น 3,745 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางคาดว่าทุกหน่วยงานจะเบิกจ่ายได้ครบภายในสิ้นปี 2556  ทั้งนี้กรมบัญชีกลางระบุว่าการจ่ายเงินโบนัสข้าราชการของปี 2555 วงเงิน 3,700 ล้านบาทนั้น ได้มีการดำเนินการจ่ายเงินมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว โดยนโยบายนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 แต่เนื่องจากมีปัญหาการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ทำให้คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งหมดภายในช่วงสิ้นเดือน ม.ค. 2557 นอกจากนี้กรมบัญชีกลางยังยืนยันในขณะนั้นว่า จะเร่งการจ่ายเงินโบนัสให้กับข้าราชการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับข้าราชการ

อนึ่งข้อมูลจากกรมบัญชีกลางในขณะนั้นระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วข้าราชการระดับล่างจะได้โบนัสมากที่สุดอยู่ที่ประมาณคนละ 3,200 บาทข้าราชการระดับกลางประมาณคนละ 2,900 บาท และระดับสูงคนละ 2,300 บาท ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีเกณฑ์การแบ่งจ่ายโบนัสที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักสำคัญคือ ข้าราชการระดับล่างจะต้องได้เงินโบนัสในจำนวนที่มากกว่าผู้บริหารระดับสูง

ปีใหม่ 2558 อภิมหาของขวัญจากรัฐบาลทหาร

 

ของขวัญปีใหม่ชิ้นอื้อฉาวเมื่อช่วงปีใหม่ 2558 "Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ" โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งบประมาณ 7,117,400 บาท อีกหนึ่งของขวัญปีใหม่จาก คสช. ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการใช้งบประมาณ

ในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะทหารได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558  พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบนโยบายสั่งการแบบทหารให้ทุก ๆ กระทรวงต้องมีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน และต้องสอดคล้องกับเทศกาลปีใหม่ 2558  ซึ่งถือว่าของขวัญที่รัฐบาล คสช. มอบให้ประชาชนนี้  มีมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (มากกว่ารัฐบาลพลเรือนด้วยซ้ำ) ทั้งนี้มองได้ว่าน่าจะเป็นความพยายามของ คสช. ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ไม่ได้รับฉันทามติจากคนไทยส่วนใหญ่ตามวิถีแห่งประชาธิปไตย ที่สำคัญยังพบว่าของขวัญปีใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำนโยบายและกิจกรรมโครงการ ‘ที่มีอยู่-ดำเนินการอยู่’ แล้วมาผูกริบบิ้น อ้างเป็น ‘ของขวัญ‘ มอบให้ประชาชนในช่วงปีใหม่

(อ่านเพิ่มเติม ‘Happy New Year 2015 ของขวัญปีใหม่ ‘รัฐบาลทหาร’ จัดให้’ และ 'จับตา: แกะกล่องของขวัญปีใหม่รายกระทรวง')

ปีใหม่ 2559  คสช. ชู ‘ประชารัฐ’ จัดเต็มของขวัญปีใหม่เช่นเคย

 

อีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลมอบให้ในปีนี้ การอวยพรปีใหม่ผ่านระบบ Online (ส.ค.ส. Online) ชุดความเป็นไทยสู่ใจประชาชน ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2558-15 ม.ค. 2558 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงวัฒนธรรม

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการควบคุมประเทศโดย คสช. ไฮไลต์ที่สำคัญของรัฐบาลคือ การเปลี่ยนตัวขุนพลด้านเศรษฐกิจ ด้วยการตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวแทนหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล โดยในช่วงเดือนกันยายน 2558  นายสมคิดระบุว่าสำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เรียกว่า'ประชารัฐ' จะเป็นนโยบายที่ประชาชนเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับเอกชน เป็นหน้าที่ที่ประชาชนจะพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ 'ประชานิยม' เป็นสิ่งที่ประชาชน เอกชน รัฐบาล ช่วยกันสร้างขึ้นมา โดยชุดนโยบายบางส่วนของ ‘ประชารัฐ’ นี้ก็ถูกสอดแทรกไว้เป็นของขวัญปีใหม่ 2559 จากรัฐบาล คสช. ด้วย

ซึ่งก็เช่นเคย ที่ในช่วงปีใหม่ 2559 นี้ รัฐบาล คสช.กล่าวอ้างการให้ของขวัญกับประชาชน โดยมอบแพ็กเกจของขวัญปีใหม่จาก 16 กระทรวง รวม 194 โครงการ/กิจกรรม มีทั้งโครงการที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้า และโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ (ทั้งระยะสั้นและโครงการระยะยาว) ซึ่งแน่นอนว่ายังคงมีลักษณะเหมือนของขวัญปีใหม่ในช่วงปี 2558 คือมีการนำนโยบายและกิจกรรมโครงการที่มีอยู่-ดำเนินการอยู่-และการดำเนินการในอนาคต บางส่วนแล้วมาใส่กล่องผูกริบบิ้นให้ประชาชน (อ่านเพิ่มเติม 'จับตา : แกะ 194 กล่องของขวัญปีใหม่  2559 จาก 16 กระทรวง' )

นอกจากนี้ ของขวัญปีใหม่แบบฉุกละหุกอีกชิ้นของรัฐบาล คสช. ก็ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25 -31 ธ.ค. 2558 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร (แต่ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ)

อ่าน 'จับตา': “แกะ 194 กล่องของขวัญปีใหม่ 2559 จาก 16 กระทรวง"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5974

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: