เจาะวงในโต๊ะเจรจา'สันติภาพปาตานี'

ทวีศักดิ์ ปิ 3 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2656 ครั้ง

ความรุนแรงในชายแดนใต้กินเวลามา12 ปีแล้ว ย้อนอดีตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้แทนของรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับผู้แทนของขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดยนายฮัสซัน ตอยิบ ประธานสุงสุดของขบวนการ ได้ลงนามในฉันทามติว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประสานงานและสถานที่ลงนาม โดยมี ดาโต๊ะ มูฮัมหมัด ทาญุดดิน บินอับดุลวาฮับ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเทศมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน

เราคงปฏิเสธที่จะให้เครดิตกับผู้ริเริ่ม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้นไม่ได้พล.ท. ภราดร เปิดเผยว่า ในเวลาดังกล่าว ตนได้ไปพบกับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของมาเลเซียให้ช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้มีการเจรจา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดเกมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของทั้งคู่ และเป็นกระบวนการที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไทย จึงได้เกิดประเทศที่สามขึ้นคือ มาเลเซีย ที่ได้มอบให้อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองเป็นผู้อำนวยความสะดวก

แล้วจะคุยกับใคร ?

ในคราวนั้น ทั้งไทยและมาเลเซีย ตกผลึกร่วมกันว่าจะขอคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็น  เนื่องจากเป็นขบวนการที่มีอิทธิผลและได้รับการยอมรับในฐานะคู่ขัดแย้งหลักกับรัฐไทย  จากนั้น ได้พัฒนาการพูดคุยไปสู่ความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายก็สะดุดลง จากการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

อดีตเลขา สมช.เปิดเผยกับ TCIJ ว่า กระบวนการตั้งแต่ครั้งแรกนั้นก็คือ มี Party A คือรัฐไทย และ Party B คือกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งช่วงนี้ถือว่ายังอยู่ในช่วงของการรักษาปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย แต่ทั้งนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงคณะบุคคลซึ่งในชุดเดิมมี อาวัง ญาบัติ ในทีมอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้รับหน้าที่ในฐานะประธานมาราปาตานี (MARA PATANI) สำหรับฝ่ายไทยก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงคณะบุคคลที่ครั้งแรกมีเลขาสมช.เป็นผู้นำ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น พลเอก อักษรา เกิดผล  อดีตที่ปรึกกองทัพบก ซึ่งทั้งสองครั้งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยให้หน้าที่นี้กับคนสนิทของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ขับเคลื่อน

สำหรับมาเลเซียนั้น อยู่ในสถานะที่เรียกว่า’ผู้อํานวยความสะดวก’   ซึ่งอดีตเลขา สมช.ย้ำว่าสิ่งที่ต้องปฎิบัติคือ การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ต่อเนื่อง  รักษาปฎิสัมพันธ์เพื่อรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   

ประชาธิปไตยสำคัญต่อสันติภาพอย่างไร ?

พล.ท.ภราดร  กล่าวว่า ความแตกต่างของกระบวนการสันติภาพในยุครัฐบาลประชาธิปไตยกับรัฐบาลที่ไม่มีการเลือกตั้งนั้นชัดเจนมาก สันติภาพเกิดขึ้นจากรัฐบาลประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน  มีการยอมรับจากภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญมาก

ในส่วนเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขคนปัจจุบัน พล.ท. นักรบ บุญบัวทอง เปิดเผยว่า ตนเป็นคนเดียวในคณะพูดคุยชุดของพล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร ที่มาทำงานในชุดปัจจุบันด้วย  พล.ท. นักรบ บอกว่าต้องเรียกความเชื่อมั่น ทำให้สังคมยอมรับว่า รัฐบาลชุด คสช.คุยถูกคน เจรจากับคู่ขัดแย้งหลักจริงๆ  ดังนั้นอีกภารกิจของคณะพูคคุยที่ต้องทำ คือ พยายามสร้างพันธมิตรให้มากที่สุด เนื่องจากขณะนี้ทั้งสองฝ่ายที่นั่งโต๊ะพูดคุยกันไม่ว่าฝ่ายมาราปาตานี หรือฝ่ายไทย มีคนที่เห็นด้วยกับการพูดคุยแค่ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือ 30% อยู่กลางๆ อีก 15-20% ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เขาเชื่อว่าต้องดึงคนที่อยู่ตรงกลางให้เข้าร่วมให้มากที่สุด ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย เมื่อกระบวนการเดินหน้าได้ผล จะเจอแรงกดดันให้ยกเลิกความรุนแรงเอง ฉะนั้นในระหว่างนี้ จะยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่อีก

สำหรับประเด็นความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลทหาร พล.ท. นักรบ ระบุว่า รัฐบาล คสช.หรือทีมงานชุดใหม่นี้ มีแผนงาน มีขั้นตอนที่ชัดเจน มีการประเมินผล ต่างจากชุดที่ผ่านมาที่ดูเหมือนจะมองเห็นเป็นงานง่าย ไม่มีการทำรายงานการทำงานเสนอต่อ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นคือพลเอกประยุทธ์ และไม่มีรายงานทางการที่จะนำมาใช้สานต่อได้ ยกเว้นของเขาที่ทำเองเพื่อนำเสนอต่อ ผบ.ทบ.ในเวลานั้น เลขานุการพูดคุย ยังระบุว่า ในเมื่อทหารเป็น “ตัวจริง” ของการต่อรองทางการเมือง การพูดคุยหนนี้ก็คือบททดสอบที่สำคัญของกระบวนการสันติภาพ  ต้องมีกระบวนการสร้างความไว้ใจ เพราะการพูดคุยยังไม่ได้แตะประเด็นที่จะคุยกันจริงๆ  เขาย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ง่าย กระบวนการของต่างประเทศใช้เวลานับปีกว่าจะกำหนดหัวข้อคุยกันได้

ตั้งเป้าใช้เวลาพูดคุย 3 ปี

“เราวางเป้าหมายจะคุยให้ได้ผลใน 3 ปี ที่ผ่านมามีการพบปะเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการถึง 4 ครั้งแล้วบวกกับการทำงานของคณะพูดคุยชุดเล็กในการกำหนดกติกาการพูดคุยก็ใกล้จะเสร็จแล้ว สำหรับประเด็นที่เคยติดขัดก็แก้ไขไปได้ ทั้งในเรื่องการยอมรับมารา ปาตานี การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและในเรื่องการยกเว้นไม่เอาผิดทางกฎหมายสมาชิกทีมพูดคุย การพูดคุยอย่างเป็นทางการคาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้  จะเริ่มด้วยการทดสอบความไว้ใจซึ่งกันและกันด้วยเรื่องกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัย”

ความคืบหน้าอีกประการในสายตาของเลขานุการคณะพูดคุยชุดนี้คือ เรื่องที่มารา ปาตานี ยอมรับแล้วประชาชนในพื้นที่ต้องการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่เฉพาะมุสลิม แต่อุปสรรคสำคัญของกระบวนการพูดคุยในเวลานี้ก็ยังมีหลายประการ ที่สำคัญคือ ฝ่ายเราเองที่ไม่เห็นด้วยว่าเหตุใดจึงต้องไปพูดคุย กับเรื่องแทรกซ้อนความขัดแย้งที่ออกไปในแนวศาสนา เช่น เรื่องคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยเรื่องการสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี  อีกอย่างที่เป็นอุปสรรค คือสิ่งที่พล.ท.นักรบ เรียกว่า “นักค้าสันติภาพ” คือคนที่อยากเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการเอง เพราะเรื่องของเงินและมองว่าทหารทำไม่ได้

“ปัญหาหลักคือเรื่องการเมืองและนักการเมือง การแย่งชิงพื้นที่คะแนนเสียงทางการเมือง หัวคะแนนเป็นกลุ่มผู้เห็นต่าง เคยเห็น ส.ส.ในใต้ออกมาช่วยแก้ปัญหามั่งไหม ไม่มี รัฐบาลเราไม่มีผลประโยชน์ เรามีแต่ทหารที่ไปตายและอยากกลับบ้านทุกคน เมษาและตุลานี้เราพยายามถอนทหารและให้กำลังท้องถิ่นดูแลตัวเอง ผลประโยชน์อยู่ที่การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติทั้งสิ้น”

วาระของประชาชน ต้องผลักดันให้เดินหน้า

นาย อารีฟิน โสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS มองว่า "การพูดคุยเจรจาตลอดระยะเวลาสามปีมานี้  เรายังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เป็นตัวแทนของประชาชน เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างให้เราคิด ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางการเมือง ที่มีการควบคุมอำนาจอยู่ ฉะนั้น 28 กุมภาพันธ์ จึงเป็นการพูดคุยในวาระของประชาชนปาตานี และสำหรับการพูดคุยในครั้งนี้  BRN ก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่า MARA PATANI  ไม่ใช่มติของ BRN"

นาย อารีฟีน กล่าวอีกว่า ประชาชนไม่ได้อะไรจากการพูดคุยในทางตรง แต่จะได้ในทางอ้อม คือ ประชาชนจะได้วุติภาวะทางการเมือง  หากวุติภาวะของประชาชนเติมโต เป็นผลทางอ้อมที่ประชาชนจะเลือกใช้แนวทางทางการเมืองมากกว่าการใช้อาวุธ ฉะนั้นประชาชนต้องเป็นคนที่ผลักดันให้สันติภาพเดินหน้า

ประธาน PerMAS มองว่า กลุ่มต่างๆ อ้างว่าเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของประชาชนทั้งนั้น  แต่ปัจจุบันพื้นที่ทางการเมืองถูกลิดรอน แสดงให้เห็นว่ารัฐยังมองว่าประชาชนคือศัตรูของรัฐ  สิ่งเหล่านี้ ส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยอย่างชัดเจน  ทุกกระบวนการหลังจากนี้ ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย รวมทั้งให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ได้ ทำให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ระหว่างคู่เจรจา

“ตอนนี้ในพื้นที่ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายอย่าง สิ่งเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยอย่างปฎิเสธไม่ได้ หากปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนอย่างต่อเนื่องแบบนี้ต่อไป จะส่งผลให้ประชาชนเลือกแนวทางติดอาวุธ ทำให้หล่อเลี้ยงความรุนแรงต่อเนื่อง”

ประธาน PerMAS เสนอว่า ในสภาวะเช่นนี้ อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างความสามัคคี ตนมองว่าการเจรจาในช่วงนี้ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เสรีภาพถูกลิดรอน ประชาชนไม่สามารถแสดงออกความคิดเห็นที่เป็นความจริง และตราบใดที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ย่อมเกิดขึ้นยาก

“สันติภาพเกิดขึ้นได้ แต่อาจจะไม่เกิดโดยเร็ว ปัญหาสำคัญคือ รัฐต้องพูดคุยภายในก่อนและยอมรับความจริงว่า ที่นี่คือพื้นที่สงครามที่ต้องจัดการดูแล และต้องให้ประชาชนกำหนดชะตากรรมตัวเองต่อสงครามในครั้งนี้  หรือที่เรียกว่า  Right to Self Determination “ ประธาน PerMAS กล่าวทิ้งท้าย

‘สันติภาพปาตานี’ กับ 3 ปีที่ผ่านไป

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ครบรอบ 3 ปีของการพูดคุยสันติภาพ  อาวัง ญาบัติ ประธานมารา ปาตานี (MARA PATANI)  ได้ปรากฎตัวและกล่าวดุลยปาฐกเป็นครั้งแรก ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเป็นการบันทึกเทป ว่า “กระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานี เป็นหนึ่งในวิธีการค้นหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น กระบวนการดังกล่าวควรต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในการต่อสู้เพื่อแสวงหาสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง การลงนามเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำหรับประชาชนชาวมลายูปาตานี”

อาวัง ญาบัติ ระบุว่า ประสบการณ์ 3 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ บนโต๊ะพูดคุยก็คือ คณะพูดคุยจากทั้งสองฝ่ายได้แสดงท่าทีความเป็นศัตรู ด้วยความโกรธ ความแค้น และความเศร้าต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นการพบปะกันเพื่อระบายความรู้สึกเชิงลบและแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อกัน การพูดคุยเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมต่อการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้กระบวนการพูดคุยจึงไม่ใคร่จะมีความคืบหน้าเท่าที่ควร

อาวัง ญาบัติ วิเคราะห์ว่า เหตุที่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความท้าทาย  4 ข้อ ด้วยกัน                      

ข้อแรก : กระบวนการพูดคุยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพไทย

ข้อสอง : กลุ่มนักต่อสู้ปลดปล่อยปาตานีบางกลุ่มในพื้นที่ ยังขาดความเข้าใจที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพพวกเขาจึงไม่ให้การสนับสนุน ถึงแม้ว่าการสนับสนุนจากพวกเขาต่อกระบวนการนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งก็ตาม

ข้อสาม : อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ได้ถอนตัวออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น หลังจากท่านได้ยื่น 5 ข้อเรียกร้องจากฝ่าย B ให้แก่ฝ่าย A ซึ่งการยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นอีกครั้ง

ข้อสี่ : รัฐบาลไทยเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง และสุดท้ายก็มีการก่อรัฐประหาร ซึ่งนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อวสานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้นำไปสู่การชะงักงันของกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยอัตโนมัติ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีคณะพูดคุยเจรจาของตนอีกต่อไป

“สิ่งเดียวที่ยังคงมีอยู่ คือฉันทามติ ที่เรามาหวนรำลึกถึง ณ วันนี้ ด้วยเจตนารมณ์ของฉันทามติทั่วไปฯ ที่ลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และเนื่องจากการแสดงความจริงจังของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เราจึงตอบรับข้อเสนอจากผู้อำนวยความสะดวก เพื่อที่จะริเริ่มกระบวนการสันติภาพขึ้นมารอบใหม่  การพูดคุยสันติภาพรอบที่สองนี้ จะดำเนินการโดยแบ่งออกเป็นสองกระบวนการ 

“กระบวนการแรก คือ การพูดคุยระหว่างคณะทำงานเชิงเทคนิค เพื่อเตรียมประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะนำไปถึงโต๊ะพูดคุย การพูดคุยระดับนี้ดำเนินการไปอย่างไม่เป็นทางการ  กระบวนการที่สอง คือ การพูดคุยเพื่อตัดสินใจลงมติ เป็นการพูดคุยประเด็นต่างๆ ที่ได้รับการตกลงในระดับคณะทำงานเชิงเทคนิคมาบ้างแล้ว และจะเป็นมติของการพูดคุยอย่างเป็นทางการด้วยการดำเนินการพูด คุยตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้น จะได้ผลในทางปฏิบัติมากขึ้น ในการกำหนดทิศทางของการพูดคุยสันติภาพรอบที่สอง และเอื้อต่อขั้นตอนต่อไปของกระบวนการสันติภาพโดยภาพรวม

“และเราต้องเข้าใจว่า กระบวนการพูดคุยหรือการเจรจานั้นเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทย คือปาร์ตี้ A และผู้มีอุดมการณ์ต่างกัน นั้นก็คือ ปาร์ตี้ B  เราต้องเน้นย้ำ ณ ตรงนี้ว่าปาร์ตี้ B คือประชาชนปาตานีและ ในกระบวนการสันติภาพ กลุ่มนักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี กลุ่มต่างๆ และองค์กรภาคประชาชนปาตานีนี่เองที่เป็นผู้แทนของประชาชนปาตานี เพื่อให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ในการสร้างความเป็นหนึ่ง ทั้งในทางความคิดและการกระทำของฝ่าย B ในกระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลไทย สภาชูรอแห่งปาตานี หรือที่รู้จักกันในนาม มาราปาตานี จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเป็นเอกภาพ และในฐานะเป็นองค์กรทางการเมืองระดับสูงของประชาชนปาตานี”

3 ปีที่ผ่านไป ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (ปัจจุบันใช้”การพูคคุยเพื่อสันติสุข”) ต่างฝ่ายต่างมีความกดดันและความท้าทายไม่ใช่น้อย  อาจกล่าวได้ว่า ทางรัฐไทยเองถือเป็นการก้าวข้ามความโอหังที่มีต่อกลุ่มต่อสู้ชาวมลายูปาตานีเป็นครั้งแรก  ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฏถึงขั้นนี้  ด้วยการยอมลงนามเพื่อพูดคุยกับกลุ่มขบวนการต่อสู้

ในฝ่ายขบวนการเอง ถือว่าได้ก้าวข้ามความมีวินัยในจุดยืนของตนเช่นกัน ที่จะไม่มีการเจรจาใดๆ กับรัฐบาลไทย จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ถึงแม้การลงนามเมื่อสามปีที่ผ่านมาเป็นปฐมเหตุ จะมาจากการวางเกมของผู้มีอำนาจของทั้งสองประเทศ แต่สุดท้ายด้วยการริเริ่ม ณ วันนั้น จนได้พัฒนาสู่การขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนขบวนการเองมีความรู้สึกถึงความไม่ชอบมากลอยู่บ้าง ทำให้บ่อยครั้งได้เกิดการปฏิวัติภายใน ชนิดที่รัฐไทยเองต่างคาดการณ์ไม่ถูกถึงความน่าจะเป็นในภายภาคหน้า

อ่าน 'จับตา': “‘สันติภาพปาตานี’ กับ 12 ปีไฟใต้"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6086

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: