พม่า
รบ.พม่าเตรียมประชุมสันติภาพ หวังยุติความขัดแย้งชนกลุ่มน้อย / รัฐบาลพม่าเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมสันติภาพซึ่งจะใช้เวลารวม 5 วัน ว่าจะสามารถมีแถลงการณ์ร่วมที่จะนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงอย่างถาวรระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ได้ แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้นำชนกลุ่มน้อย และผู้เชี่ยวชาญอิสระ ต่างมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่ นางออง ซาน ซูจี กำลังเผชิญ ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้กำลังพยายามผลักดันกระบวนการสันติภาพซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม นาย Zaw Htay โฆษกประจำตัวนางออง ซาน ซูจี เผยว่า ยังไม่ชัดเจนว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยสามกลุ่ม คือ กลุ่มอาระกัน กลุ่มดาระอั้ง และกลุ่มโกกั้ง จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพนี้หรือไม่ โดยขณะนี้กำลังรอการตัดสินใจของกองทัพ ซึ่งต้องการให้ทั้งสามกลุ่มเริ่มวางอาวุธก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพดังกล่าว ด้านนาย Tom Kramer นักวิจัยจาก Transnational Institute เผยว่าการขาดทั้งสามกลุ่มดังกล่าวไปอาจสร้างปัญหาตามมา เพราะถือว่าเป็นการเริ่มกระบวนการสันติภาพที่ไม่สมบูรณ์หากยังมีชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่สู้รบต่อต้านรัฐบาลอยู่ และในที่สุดการจัดทำข้อตกลงสันติภาพอาจไร้ความหมายได้ ลิงค์ข่าว
การประชุมสันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ในพม่าเริ่มแล้ว / การประชุมที่มีจุดประสงค์เพื่อยุติความรุนแรงที่ดำเนินมาหลายสิบปีในพม่าระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้เริ่มขึ้นแล้วที่กรุงเนปิดอว์ โดยตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ 17 กลุ่มเข้าร่วมการประชุมสันติภาพแห่งสหภาพมีระยะเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 31 สิงหาคม นางออง ซาน ซูจี กล่าวเปิดการประชุมนี้ว่าพม่าสามารถพัฒนาได้ หากมีสันติภาพขึ้นในชาติ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของพม่าจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี นอกจากนี้ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวเรียกร้องให้บรรดาตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมทำงานร่วมกัน เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นมีความรับผิดชอบต่อคนรุ่นต่อไป อย่างไรก็ตามมีกลุ่มที่เข้าร่วมการประชุมประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลไปแล้ว และจะต้องรอดูต่อไปว่านางออง ซาน ซูจี จะสามารถทำข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มอื่น ๆ ได้หรือไม่ ลิงค์ข่าว
ญี่ปุ่นเตรียมรับผลตอบแทนจากการลงทุนในพม่า / หลังจากประเทศพม่าผ่านพ้นการคว่ำบาตรและมีสถานะเป็นประเทศที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นเวลาร่วม 20 ปี ขณะนี้กำลังเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศพม่า โดยการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 เพื่อแต่งตั้งประธานาธิบดีที่เป็นพลเมืองและการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 ทำให้นานาชาติเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าขบวนการประชาธิปไตยในพม่ากำลังเกิดขึ้นจริง ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สนับสนุนพม่ามาอย่างต่อเนื่อง ในปี 1954 มีนโยบายเงินชดเชยให้แก่พม่า โดยคิดเป็นเงินสนับสนุนครึ่งหนึ่งของการพัฒนาประเทศทั้งหมด การลงทุนนี้ยาวนานต่อเนื่องถึงช่วงคว่ำบาตรหลังสงครามเย็น นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังปล่อยกู้ให้พม่าในปี 1999 และสัญญาว่าจะยกเลิกหนี้หากมีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งหลังจากนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในปี 2012 ญึ่ปุ่นก็ได้หักลบหนี้สินส่วนใหญ่ให้แก่พม่ากว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ญี่ปุ่นไม่เคยได้รับสิ่งตอบแทนจากการลงทุนเลย อย่างไรก็ตามขณะนี้มีความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับพม่า ในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa หรือ Thilawa Special Economic Zone (SEZ) ที่ญี่ปุ่นได้ร่วมลงทุนถึงร้อยละ 49 โดยบริษัทมหาอำนาจของญี่ปุ่น อย่าง Nihon Koei, Marubeni, Itochu Corporation, Mitsubishi และ Sumitomo นอกจากนี้ยังมีการแถลงการร่วมลงทุนสร้างสนามบินนานาชาติย่างกุ้งเมื่อไม่นานมานี้ เพราะฉะนั้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นจะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอนาคตอันใกล้ และญี่ปุ่นกำลังเริ่มได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพม่า ลิงค์ข่าว
กัมพูชา
คาดอุตสาหกรรมเสื้อผ้า-บริการ กัมพูชาโต 7 % สวนทางภาคเกษตรที่ 0.5 % / กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเผยในรายงานการประเมินเศรษฐกิจกลางปีว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงปลายปีด้วยอัตรา 7 เปอร์เซ็นต์ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เแปรปรวน โดยมีปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจหลักคือภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและธุรกิจบริการ ในปีนี้ รัฐบาลคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและบริการจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 11.4 และ 6.7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมเติบโตเพียงแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ลิงค์ข่าว
สิงคโปร์
สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกากว่าร้อยรายรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่มาเลเซียยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรก / กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศทั้งหมด 115 ราย เป็นชาวต่างชาติ 57 ราย รวมทั้งผู้ป่วยชาวจีนอีก 23 ราย และชาวไต้หวัน 1 ราย โดยอาการของผู้ป่วยเหล่านี้ยังไม่สาหัส เบื้องต้นสถานทูตจีนได้ประกาศให้ชาวจีนในสิงคโปร์ดูแลรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ตามในจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวมีหญิงตั้งครรภ์หนึ่งคน อย่างไรก็ตามประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ได้ออกประกาศเตือนให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงเดินทางไปเที่ยวสิงคโปร์ ขณะที่นักวิชาการสาธารณสุขสิงคโปร์เตือนว่า อัตราผู้ติดเชื้อไวรัสซิกายังจะเพิ่มขึ้นต่อไป ด้านกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียประกาศยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรก ซึ่งผู้ป่วยเป็นสตรีวัย 58 ปี ในรัฐสลังงอร์ โดยเธอกับสามีไปเยี่ยมลูกสาวที่สิงคโปร์ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมนี้เกิดผื่นคัน ผลการตรวจปัสสาวะพบเชื้อไวรัสซิกา แต่ต้องรอผลการตรวตจเลือด ขณะนี้ สามีและสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ลิงค์ข่าว
ฟิลิปปินส์
เหตุระเบิดในบ้านเกิดปธน.ฟิลิปปินส์ เสียชีวิตสิบราย บาดเจ็บกว่าหกสิบราย / เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นใกล้กับตลาดช่วงกลางคืน ในเมืองดาเวา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และผู้บาดเจ็บอีก 60 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่นาย Ernesto Abello โฆษกประธานาธิบดีให้สัมภาษณ์กับสื่อ Inquirer รองผู้ว่าราชการเมืองดาเวา Paolo Duterte เผยกับ CNN ว่าจากรายงานเบื้องต้นคาดว่าเกิดระเบิดโดยใช้ถังแก๊ส LPG แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน และยังไม่สามารถยืนยันว่าใครเป็นผู้กระทำการครั้งนี้ ด้าน Manuel Gaerlan ผู้บัญชาการตำรวจส่วนภูมิภาคแถลงว่า กรุณาอย่าปล่อยข่าวที่อาจทำให้เกิดการสับสนหรือตื่นตระหนก หากยังไม่ได้รับการยืนยัน อย่างไรก็ตามขณะนี้กองทัพฟิลิปปินส์ก็กำลังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังหลังมีการปะทะกับกลุ่มกองกำลังอาบูไซยาฟในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทางกลุ่มอาบูไซยาฟได้ประกาศต่อกองทัพฟิลิปปินส์ว่าได้เตรียมการต่อสู้ไว้แล้ว และเตือนว่าจะเริ่มโจมตีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ลิงค์ข่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ