เปิดเอกชนลงทุนจุดพักรถนำร่อง 'มอเตอร์เวย์ชลบุรี-มาบตาพุด' ทำสัญญา 30 ปี

5 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4461 ครั้ง


	เปิดเอกชนลงทุนจุดพักรถนำร่อง 'มอเตอร์เวย์ชลบุรี-มาบตาพุด' ทำสัญญา 30 ปี

กรมทางหลวงนำ 3 เส้นทางมอเตอร์เวย์เสนอภาคเอกชนร่วมลงทุนบริหารจัดการจุดพักรถ 11 แห่ง นำร่องเส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด) ทำสัญญายาว 30 ปี คาดมูลค่าลงทุน 1,000 ล้านบาท เร่งเสนอ สคร.พิจารณาแล้วเสร็จก่อนชง ครม.อนุมัติปี 60 ปตท.-เชลล์-บางจาก-กาแฟอเมซอน ยังเกาะติดเหนียวแน่น (ที่มาภาพประกอบ: waygookboon.blogspot.com)

เว็บไซต์ ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่านายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่าได้จัดงานประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการสถานีบริการทางหลวง (Service Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา และช่วงพัทยา-มาบตาพุด) เป็นการนำร่อง ก่อนที่จะทยอยดำเนินการในอีก 2 เส้นทางให้ต่อเนื่องกันไป

โดยในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามารับฟังรายละเอียดพร้อมกับรับฟังข้อเสนอแนะว่าเอกชนมีความต้องการและข้อเสนออย่างไรบ้างก่อนที่ ทล.จะนำเสนอไว้ในแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี พ.ศ.2556 โดยจะนำข้อมูลไปกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนต่อไป

ทั้งนี้ได้คาดการณ์มูลค่าการลงทุนไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งผลการศึกษาเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเห็นความชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนรายเดียวหรือหลายรายเข้ามาแข่งประมูลรับบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าว โดยจะแยกย่อยออกไปเป็น 1-2 สัญญา ซึ่งทล.จะเร่งสรุปให้แล้วเสร็จในปลายปีนี้ เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณารายละเอียดในปลายปีนี้หลังจากนั้นจึงนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เห็นชอบนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการในปี 2560

จุดพักรถมอเตอร์เวย์ ชลบุรี มาบตาพุด (ที่มาภาพ: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ)

“การร่วมลงทุนกำหนดระยะเวลาไว้ 30 ปี นอกจากนั้นทล.จะปรับปรุงและพัฒนาเซอร์วิสแอเรียที่มีอยู่ตลอดจนยังเตรียมเปิดในเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะใช้โมเดลเส้นทางพัทยา-มาบตาพุดเข้าไปดำเนินการ โดยจะแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ คือ สถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) เบื้องต้นจะบอกนักลงทุนถึงความต้องการของทล. อาทิ มีห้องสุขา- ห้องอาบน้ำกี่ห้อง ลานจอดรถกี่คัน ส่วนร้านค้ากี่ตารางเมตร ก่อนที่จะเปิดกว้างให้ภาคเอกชนออกแบบมานำเสนอทล. เพื่อพิจารณา”

โดยเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด จะแบ่งสถานที่บริการทางหลวงออกเป็น 4 จุดให้เอกชนพิจารณาการลงทุน ส่วนเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา มีจำนวน 8 จุด(ศูนย์บริการทางหลวง 1 จุด สถานที่บริการทางหลวง 2 จุด สถานที่พักริมทาง 5 จุด) สำหรับเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 3 จุด(สถานที่บริการทางหลวง 2 จุด และสถานที่พักริมทาง 1 จุด) โดยทั้ง 3 เส้นทางจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งหมดใช้โมเดลใหม่ของเส้นทางพัทยา-มาบตาพุดไปดำเนินการในอีก 2 เส้นทางดังกล่าวนั้นด้วย

ทั้งนี้เซอร์วิสแอเรียเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด จะใช้พื้นที่ฝั่งละมากสุดประมาณ 50 ไร่ แบ่งสิ่งอำนวยความสะดวกออกเป็น 3 กลุ่ม ภาคเอกชนจะเป็นผู้จัดหาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า ประปาเข้าไปในสถานที่เอง แยกสัดส่วนจอดรถชัดเจนทั้งรถผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยเส้นทางช่วงพัทยา-มาบตาพุดที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างจะเปิดใช้บริการปี 2563

“ล่าสุดพบว่าปริมาณรถยนต์ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 นี้ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงปัจจุบันมีจำนวนรวม 87 ล้านเที่ยวคัน โดยเส้นทางช่วงพัทยา-มาบตาพุดคาดว่าจะมีรถใช้เส้นทางราว 2 หมื่นคันต่อวันในปี 2564 และจะเพิ่มเป็น 5.7 หมื่นคันในปี 2584 รูปแบบการลงทุนที่จะนำเสนอจะใช้รูปแบบผู้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนโครงการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จยกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล (Build Transfer and Operate : BTO) โดย ทล.เตรียมพื้นที่ไว้รองรับ เอกชนเพียงออกแบบมานำเสนอทล. พิจารณา โดยจะเร่งจัดหาผู้ลงทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2560”

ทั้งนี้จากการสำรวจรายชื่อผู้สนใจเข้ารับฟังความสนใจของภาคเอกชนในครั้งนี้พบว่ามีทั้งฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด บริษัท เชลส์ แห่งประเทศไทย จำกัด และอีกหลายบริษัทสนใจเข้าร่วมรับฟังรายละเอียดในครั้งนี้ด้วย

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: