คนไทยรู้ยัง : ตลาดท่องเที่ยวเรือยอร์ชปีนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 5,800 ล้านบาท

ทีมข่าว TCIJ : 5 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4010 ครั้ง

ซึ่งการใช้จ่ายมีทั้งค่าบริการมารีน่าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวเรือยอร์ชของไทยยังมีขนาดตลาดเล็ก แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีการใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปประมาณ 4 เท่าตัว ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจมารีน่า รวมถึงนักท่องเที่ยวเรือยอร์ชของไทย จึงได้แบ่งกลุ่มตลาดท่องเที่ยวเรือยอร์ชของไทย ดังนี้ 

(1) ตลาดล่องเรือยอร์ชในไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเรือยอร์ชส่วนตัว (Private Yacht) ที่ทั่วประเทศน่าจะมีจำนวนประมาณ 2,000 ลำ  และโดยมากมีขนาดน้อยกว่า 80 ฟุต (30 เมตร) ทั้งนี้ เรือยอร์ชส่วนตัวประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนเรือยอร์ชส่วนตัวทั้งหมดในไทย จะเทียบท่าและแล่นท่องเที่ยวในฝั่งทะเลอันดามัน อย่างภูเก็ต กระบี่ ส่วนที่เหลืออยู่ในฝั่งอ่าวไทย อย่างพัทยา เกาะสมุย โดยแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยเหมาะกับการล่องเรือยอร์ชได้ตลอดทั้งปีขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมและทิศทางลม เช่น ช่วงที่เหมาะแก่การแล่นเรือในทะเลฝั่งอันดามัน คือ ไตรมาสที่ 1 และ 4 ส่วนฝั่งอ่าวไทยอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของปี สำหรับการล่องเรือยอร์ชเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมของตลาดไฮเอนด์ ดังนั้น จึงมีการใช้จ่ายสูงกว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวอื่น โดยกว่าร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายต่อทริป คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลือเป็นค่าจ้างกัปตันเรือและลูกเรือ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับกีฬาทางน้ำ (อย่างดำน้ำ ตกปลา) เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการนำเรือออกไปแล่นในทะเล แต่ความน่าสนใจอีกส่วนของตลาดท่องเที่ยวเรือยอร์ชในไทย คือ การก่อให้เกิดเม็ดเงินไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลัก อย่างธุรกิจมารีน่า รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่ ด้วยเจ้าของเรือยอร์ชจะมีการใช้จ่ายรายปีและรายเดือน โดยค่าใช้จ่ายรายปี เช่น ค่าสมาชิกมารีน่าราย 1 ปี/ 3 ปี/ 5 ปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาดและการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกของมารีน่า อีกทั้งค่าประกันเรือที่ค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความคุ้มครองและวงเงินเอาประกัน ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำและค่าไฟตามขนาดเรือและจำนวนหน่วยการใช้งาน ซึ่งราคาต่อหน่วยขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างมารีน่าและเจ้าของเรือ ค่าบริการทำความสะอาด บริการซ่อมบำรุง เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเรือยอร์ชยังอาจจะสะพัดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มารีน่าพัฒนาขึ้นมา ซึ่งเป็นการเพิ่มการให้บริการของธุรกิจมารีน่า อย่างบริการด้านที่พัก (โรงแรม/ รีสอร์ท/ คอนโดมิเนียม) กิจกรรมสันทนาการ ที่จอดเรือบนบก ศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นต้น อย่างไรก็ดี เจ้าของเรือยอร์ชส่วนตัวบางรายอาจจะให้เช่าเรือ โดยจะดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเรือยอร์ช สำหรับในไทยลูกค้าที่มีการเช่าเรือยอร์ชแล่นท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งนิยมเลือกไปแล่นเรือยอร์ชในแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยในช่วงปลายปี โดยมากเป็นชาวยุโรปที่นิยมเดินทางไปล่องเรือกับสมาชิกในครอบครัว/กลุ่มเพื่อน สำหรับราคาเช่าเรือยอร์ชแต่ละลำขึ้นอยู่กับความยาวเรือ ระยะเวลา (ครึ่งวัน/ เต็มวัน/ 2 วัน 1 คืน/ 3 วัน 2 คืน) และฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น/ไฮซีซั่น) ยกตัวอย่างเช่น ราคาเช่าเรือยอร์ชขนาด 85 ฟุต จำนวน 1 วันในช่วงไฮซีซั่น ค่าเช่าอยู่ที่ 220,000 บาทต่อวัน ซึ่งราคานี้รวมกัปตันและลูกเรือ

(2) ตลาดเรือยอร์ชแล่นจากต่างประเทศเข้ามาไทย ในแต่ละปีมีเรือยอร์ชเข้ามาไทยจำนวนหลักพันลำ และในปี 2559 นี้เรือกลุ่มนี้น่าจะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 2,625 ลำ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 YoY ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น โดยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้จ่ายซื้อสินค้า บริการที่เกี่ยวเนื่อง (นวดไทย สปา เป็นต้น) บริการทำความสะอาดเรือ บริการซ่อมบำรุงเรือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ตลาดเรือยอร์ชแล่นจากต่างประเทศเข้ามาไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด จากศักยภาพด้านความลึกของร่องน้ำทะเลไทย และกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องอนุญาตให้เรือยอร์ชขนาดใหญ่ (ซูเปอร์ยอร์ช) ผ่านเข้ามาท่องเที่ยวได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทย (เช่น บริการให้เช่าเรือยอร์ช) อีกทั้งยังขาดการจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นหนึ่งในปลายทางในเส้นทางแล่นเรือยอร์ชของโลก ดังนั้น การจัดบิ๊กอีเว้นท์เป็นประจำเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง น่าจะช่วยให้ตลาดเรือยอร์ชแล่นจากต่างประเทศเข้ามาไทยสามารถเติบโตได้มากกว่าขนาดตลาดในปัจจุบัน

 

ที่มาข้อมูล: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มาภาพประกอบ: 
flickr.com/80038275@N00/CC BY-SA 2.0

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: