เปิดบันทึกช่วยจำ กิจกรรมต้านรปห. สัญลักษณ์-หลายแบบ-หลากที่-เพิ่มกลุ่ม

ทีมข่าว TCIJ : 5 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2411 ครั้ง

หลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ออกประกาศการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยอ้างถึงเหตุความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (อันเป็นผลจากการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือ กปปส.) ซึ่งในการยึดอำนาจครั้งล่าสุดของประเทศไทยนี้ คณะทหารผู้ก่อการยังระบุว่าเพื่อเป็นการดูแลความสงบ รวมถึงเพื่อดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนเกิดความรักความสามัคคี และเพื่อการปฏิรูปให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ

แต่ทั้งนี้ หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557  นอกจากแถลงการณ์ต่อต้านรัฐประหารขององค์กรต่าง ๆ รวมทั้งการจัดเสวนาวิชาการ  พบว่า ‘ประชาชน-นักศึกษา-นักกิจกรรม’ ได้ออกมาทำกิจกรรมต่อต้านคณะรัฐประหาร ต่อต้านรัฐบาล  รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ของคสช.อยู่เนือง ๆ  TCIJ จึงขอประมวลกิจกรรมการต่อต้าน นับแต่วันแรกของการัฐประหาร จนถึงการครบรอบ 2 ปีรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค. 2559 นี้

ระลอกคลื่นแห่งการประท้วง

ระลอกแรก‘การประท้วงรัฐประหารโดยพลัน’ มวลชนหลักพัน : ในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. 2557 หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่กี่ชั่วโมง ประชาชนและนักกิจกรรมได้ออกมาประท้วงในทันที โดยเฉพาะที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารสูงสุดถึงหลักพันในช่วงระหว่างวันที่ 23-28 พ.ค. 2557 ก่อนที่ทหารจะปิดพื้นที่การชุมนุมนี้ได้ในวันที่ 29 พ.ค. 2557 ซึ่งระลอกแรกของการต้านรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2557 นั้นพบว่ามีการประท้วงการรัฐประหารในหลายจังหวัดอย่างน้อย เช่น กรุงเทพ นนทบุรี เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย อุบลราชธานี มหาสารคาม เป็นต้น

‘ฉลาด วรฉัตร’ อดอาหารประท้วงก่อนเพื่อน

‘ฉลาด วรฉัตร’ ขาประจำต้านรัฐประหาร (ที่มาภาพ: เฟสบุ๊กฉลาด วรฉัตร)

ฉลาด วรฉัตร เป็นผู้เริ่มต้นการประท้วงอดอาหารเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออก ก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ได้ออกมาประท้วงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นี้เป็นคนแรก ๆ โดยฉลาดได้อดอาหารประท้วงการรัฐประหารบริเวณเต๊นท์หน้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นระยะเวลากว่า 45 วันก่อนจะประกาศยุติ หลังต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

ระลอก'กลุ่มดาวดิน' ชูสามนิ้วขณะพล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ขอนแก่น : 19 พ.ย. 2557 นักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) จ.ขอนแก่น จำนวน 5 คน ถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจ หลังชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.  ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จ.ขอนแก่น  ซึ่งถือเป็นอีกระลอกสำคัญ ที่ได้ปลุกกระแสการประท้วง คสช. โดยประชาชนและนักกิจกรรมในหลายพื้นที่ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มดาวดิน

ระลอก'เลือกตั้งที่ลัก' สู่ 'พลเมืองรุกเดิน' :  14 ก.พ. 2558 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" จัดโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจราวสองกองร้อยและตำรวจนอกเครื่องแบบอีกจำนวนมากที่กระจายรอบพื้นที่ แม้กิจกรรมจะดำเนินไปได้แต่ก็มีนักศึกษา นักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา ซึ่งกิจกรรมต่อเนื่องก็คือการเริ่มกิจกรรม 'พลเมืองรุกเดิน' เดินเท้าจากบ้านพักมารายงานตัว สน.ปทุมวัน ของ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการจัดกิจกรรมในครั้งนั้น  ซึ่งพันธ์ศักดิ์ ได้ทำกิจกรรม 'พลเมืองรุกเดิน' นี้ต่อมาอีกหลายครั้ง

ระลอก1 ปีรัฐประหาร : 22 พ.ค. 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการนัดรวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อทำกิจกรรมรำลึก ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวนักศึกษาและนักกิจกรรม และ ที่ จ.ขอนแก่น กลุ่มดาวดินก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวรำลึกการครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร และมีการจับกุมตัวกลุ่มดาวดินด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ได้ปลุกกระแสให้มีการประท้วง คสช. และการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดในหลายพื้นที่ รวมถึงเป็นการกำเนิดขึ้นของ 'ขบวนการประชาธิปไตยใหม่'

ระลอก’นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ : 7 ธ.ค. 2558 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ได้จัดกิจกรรม ‘นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ โดยมีกำหนดการที่จะนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีไปยังอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เมื่อถึงสถานีบ้านโป่ง ทหารก็ได้คุมตัวผู้ร่วมทำกิจกรรมนี้รวมทั้งเป็นคดีความต่อมา เหตุการณ์นี้ก็ได้จุดกระแสให้มีการประท้วง คสช. และการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมอีกครั้ง

ระลอกการกวาดจับแอดมินเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' : หลังวันที่ 27 เม.ย. 2559 ในปฏิบัติการกวาดจับแอดมินเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' โดยทหารบุกควบคุมตัวประชาชนหลายราย ในจังหวัดขอนแก่นและในกรุงเทพฯ  ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับกุม 8 คน ในความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 116 และยังมีผู้ต้องหา 2 คนที่โดนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยหลังปฏิบัติการกวาดจับนั้น กลุ่มนักกิจกรรมได้ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ทั้งใน กทม., ขอนแก่น, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครปฐม ฯลฯ

พื้นที่ใหม่และลักษณะการต่อต้าน

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการแสดง
สัญลักษณ์ต่อต้านคณะรัฐประหารหลัง 22 พ.ค. 2557 (ที่มาภาพ: sac.or.th)

ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่ที่มีความสำคัญในการประท้วงและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นอกเหนือจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ถนนราชดำเนิน, รัฐสภา รวมทั้งสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตแล้วนั้น ก็ยังพบว่าหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นักกิจกรรมและประชาชนใช้ในการประท้วงและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่บ่อยครั้ง

และแม้การจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ เช่น 24 มิ.ย. 19 ก.ย. 6 ต.ค. 14 ต.ค. และ 10 ธ.ค. รวมทั้งการรำลึกถึงการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ถูกห้ามถูกควบคุมอย่างเข้มงวดนั้น ก็ยังมีนักกิจกรรมและประชาชนออกมาทำกิจกรรมได้บ้าง ซึ่งมักจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือกิจกรรมเชิงศาสนา เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ

เนื่องจากข้อจำกัดด้านการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยทหารและตำรวจ ทำให้แทบจะไม่มีการชุมนุมเรียกร้องแบบเต็มรูปแบบที่มีการระดมมวลชนโดยพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง มีการจัดเวทีปราศรัย และการชุมนุมแบบค้างคืน ดังเช่นช่วงปี 2548-2549 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), ช่วงปี 2552-2553 ในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือการชุมนุมช่วงปี 2556-2557 ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า บ่อยครั้งการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มนักกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมหลากหลายกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งมีหลากหลายวิธีการ เช่น การอดอาหารประท้วง, การชูป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ, การโปรยใบปลิว, การแขวนป้าย, การแจกแซนวิชต้านรัฐประหาร, การนั่งประท้วง, การอ่านหนังสือประท้วง, การเรียงกระดาษเปล่า, การจุดเทียน, การชูสามนิ้วประท้วง, นั่งรับประทานประท้วง, ซักผ้าประท้วง ฯลฯ 

มีคนถูกจับกุมในยุค คสช.อย่างน้อย 527 คน

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่าสถิตินับถึง 21 พฤษภาคม 2559 มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 992 คน มีคนถูกจับกุมในยุค คสช.อย่างน้อย 527 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 67 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 47 คน, และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 167 คน (อ่านเพิ่มเติม: การตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557)

ประมวลกิจกรรม การต้านคณะรัฐประหาร, รัฐบาลและนโยบาย (บางส่วน) ระหว่าง 22 พ.ค. 2557 – 22 พ.ค. 2559 

อ่าน 'จับตา': “เปรียบเทียบตัวเลขเศรษฐกิจก่อนการรัฐประหารปี 2557 และเศรษฐกิจ 2 ปี หลังการรัฐประหาร "
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6236

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: