ร่างกม.จัดซื้อฯลดบทบาทองค์การเภสัช หวั่นกระทบมั่นคงยา-เปิดช่องต่างชาติ เอกชนหนุน-จี้อภ.หยุดผูกขาดยาภาครัฐ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล : 6 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3479 ครั้ง

แต่น่าสนใจว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 7(2) กลับระบุว่าไม่ให้บังคับใช้กับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการทางทหารโดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของต่างประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

และอีกแง่มุมหนึ่งของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก กลับเกี่ยวพันใกล้ชิดกับผู้คนและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาและการเข้าถึงยาของคนไทย เมื่อผู้เล่นหลักในระบบยาของไทยอย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้ขายยาเช่นเดียวกันธุรกิจอื่นๆ ในท้องตลาด

ร่างกม.จัดซื้อฯ เปลี่ยนองค์การเภสัชฯ เป็นบริษัทยา

เดิมทีในระเบียบสำนักนายกฯ ระบุถึงการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ไว้ในข้อที่ 61-64 ข้อใหญ่ใจความคือกำหนดให้การซื้อยาและเวชภัณฑ์ของส่วนราชการ จะต้องซื้อจากองค์การเภสัชกรรมฯเป็นหลัก เช่น ข้อ 61 เขียนว่าส่วนราชการจะต้องซื้อยาชื่อสามัญจากองค์การเภสัชฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของงบประมาณ แต่ถ้าเป็นส่วนราชการในกระทรวงสาธารณสุข ตัวเลขข้างต้นจะเพิ่มเป็นร้อยละ 80 เป็นต้น

จากเนื้อหาของระเบียบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐต้องการให้ อภ. รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตยาราคาถูกและมีคุณภาพป้อนให้กับระบบสาธารณสุข เป็นหลักประกันที่ยืนยันว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ใดจะไม่เกิดการขาดแคลนยาขึ้นในประเทศไทย และต้องการให้ อภ. สามารถเลี้ยงตัวเองได้

แล้ว ร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ เกี่ยวพันกับ อภ. อย่างไร?

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับใหม่แล้ว ระเบียบเดิมถือว่าเป็นอันยกเลิกไป ซึ่งร่างกฎหมายฉบับใหม่ไม่ได้ระบุว่าให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อยาหรือเวชภัณฑ์จาก อภ. อีกต่อไป ย่อมเท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนสถานะของ อภ. ให้เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

นักวิชาการเตือน อภ.ต้องเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านยา

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาหรือ กพย.กล่าวว่า บทบาทของ อภ. ไม่ได้ถูกกำหนดมาเพื่อแข่งขันกับเอกชน แต่เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางยาของประเทศและเพื่อควบคุมราคายาในท้องตลาดให้อยู่ในระดับที่สามารถเข้าถึงได้

“ยาบางชนิดไม่มีคนทำ อภ. ต้องทำเอง เช่น ยากำพร้า (หมายถึงยาสำหรับรักษาโรคที่พบน้อย บริษัทยาเอกชนจึงไม่สนใจผลิต เพราะรายได้ไม่คุ้มกับต้นทุน) หรือกรณีโรงพยาบาลของรัฐ องค์การเภสัชฯ ก็ให้เครดิตยาวมาก ซึ่งบริษัทเอกชนให้ไม่ได้ ถ้าบทบาทขององค์การเภสัชฯ ตรงนี้หายไปเพราะต้องแข่งขันในตลาด จะทำให้ระบบยาไม่มีความมั่นคง เพราะองค์การเภสัชฯ ก็ต้องไปทำอย่างอื่นเพื่ออยู่รอด สุดท้ายจะกลายเป็นว่ารัฐต้องเอาเงินไปถม ขณะที่ตอนนี้ องค์การเภสัชฯ สามารถนำเงินไปทำวิจัยได้”

โดยในปี 2557 องค์การเภสัชฯ จัดหายาและเวชภัณฑ์ให้แก่ภาครัฐช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้ 3,378 ล้านบาท จากงบประมาณเต็มที่ 7,515 ล้านบาท หรือประหยัดได้ถึงร้อยละ 44.95 แบ่งเป็นกลุ่มยารักษาโรคและวัคซีนประหยัดได้2,243.86 ล้านบาท และยาต้านไวรัสเอดส์ประหยัดได้ 1,134.19 ล้านบาท

ในส่วนของการจัดหายาจำเป็นและยากำพร้า ในปี 2557 องค์การเภสัชฯ สามารถจัดหาและสำรองยาตามนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาได้ตามความต้องการทั้งหมด 11 รายการ เป็นยากำพร้า 9 รายการ เช่นLabetatol Hydrochloride Injection 25 mg/ 5ml, 5-Fluorocytosine Tablet 500 mg, Diazoxide Capsule 250 mg, Dactinomycin for Injection 0.5 mg vial เป็นต้น

ผอ.องค์การเภสัชฯ ย้ำไม่เห็นด้วยร่างกฎหมาย

ด้านปราณี มั่นคง ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ก็แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่จะทำให้องค์การเภสัชฯ มีสถานะเดียวกันกับผู้ผลิตยารายอื่นๆ ในประเทศ เนื่องจากบทบาทขององค์การเภสัชฯ มีความแตกต่างที่ต้องควบคุมระดับราคายาและจัดหายาให้เพียงพอต่อความต้องการ

ขณะเดียวกัน ด้วยกติกาของภาครัฐที่กำกับองค์การเภสัชฯ อยู่ก็ทำให้องค์การเภสัชฯ แข่งขันกับบริษัทยาอื่นได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดมากกว่า

“ถ้ามีเครื่องมือเหมือนกันก็พร้อมแข่ง เครื่องมือที่ว่าเช่นระเบียบจัดซื้อพัสดุ การดำเนินการ การจะให้เหมือนกันต้องย้อน กลับไปดูกฎหมายการจัดตั้งองค์การเภสัชฯ ที่เราต้องมีการสำรองยาเพื่อความมั่นคง ถ้าจะให้เราแข่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่การก่อตั้งว่าต้องมีการแก้ไขจุดไหนหรือไม่ อย่างไร”

เช่นเดียวกัน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวย้ำกับ TCIJ ว่า ทางองค์การเภสัชฯ มีจุดยืนคัดค้านร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาและเวชภัณฑ์ องค์การเภสัชฯ ไม่ควรมีสถานะเดียวกับผู้ผลิตยารายอื่นๆ ในตลาด เนื่องจากบทบาทหน้าที่มีความแตกต่างกันมาก

“เรามีความจำเป็นต้องขอคงเรื่องนี้ไว้ เพื่อทำให้ราคายาในไทยมั่นคง ยกตัวอย่างว่ามียาหลายตัวที่เราทำแล้วขาดทุน แต่เราก็ยังทำตามพันธะกรณี ไม่ว่าจะยาความดัน เบาหวาน เอดส์ หรือมะเร็งในอนาคต สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องได้สิทธิพิเศษบ้าง เหตุผลคือเราไม่สามารถใช้การตลาดได้เต็มที่เหมือนกับภาคเอกชน กระบวนการต่างๆ เรายังถูกจำกัดโดยกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ให้เราแข่งแบบเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์ มันค่อนข้างจะขัดกันเองพอสมควร”

TPMA หนุนกม. ชี้ อภ.ต้องเลิกผูกขาด ถึงเวลาปรับตัว-แข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ด้าน ทัฬห ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน  หรือ Thai Pharmaceutical Manufacturers Association (TPMA)  ให้ข้อมูลอีกด้านว่า ระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2535 ที่ต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์เฉพาะ เพราะว่าสถานการณ์ขณะนั้นอุตสาหกรรมยายังไม่เข้มแข็ง เกรงว่าจะเกิดปัญหาความมั่นคงด้านยา จึงกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อยาจากองค์การเภสชัฯ แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก อุตสาหกรรมยาของไทยโตขึ้นเรื่อยๆ แต่องค์การเภสัชฯ กลับยังได้รับสิทธิผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ตัวองค์การเภสัชฯ ไม่เกิดการพัฒนา

“กฎนี้ถ้ามีอยู่ในระดับหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่ง ก็โอเค แต่เมื่อถึงตอนนี้ทำให้องค์การเภสัชฯ ไม่ปรับตัว ไม่พัฒนา ทำให้เกิดเหตุการณ์ยาสลับผิดแผง เจอเศษลวด เป็นต้น ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ว่าการที่รัฐให้สิทธิประโยชน์แก่หน่วยงานรัฐมากเกินไป ทำให้หน่วยงานนั้นไม่ปรับตัว ไม่พัฒนา

“เคยเกิดกรณีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจะจัดซื้อยา มีการเปิดประมูลเกือบเสร็จแล้ว องค์การเภสัชฯ ยื่นข้อเสนอว่าเขามีขาย ต้องซื้อกับเขา สุดท้ายก็ล้มประมูลเพื่อไปซื้อขององค์การเภสัชฯ หรือสองปีที่ผ่านมา ยาขององค์การเภสัชฯ ขาด โรงพยาบาลก็มาร้องว่าซื้อยาไม่ได้ องค์การเภสัชฯ ก็มาหาผู้ประกอบการให้ช่วยผลิตยา แต่ผลิตในราคาต่ำกว่าที่องค์การเภสัชฯ เสนอประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าเขากินหัวคิว โดยทางองค์การเภสัชฯ อ้างว่าที่เขาขายถูกเพราะหลายโรงพยาบาลถังแตก ไม่มีตังค์จ่ายค่ายา องค์การเภสัชฯ จึงต้องอุ้ม หนี้ที่องค์การเภสัชฯ ถืออยู่มีมูลค่าหลายร้อยล้าน แต่ถามว่ามันเป็นปัญหาขององค์การเภสัชฯ หรือของระบบ ถ้าเป็นที่ระบบ คุณก็ต้องไปแก้ที่ระบบ”

ร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯเกิดขึ้นเพราะกรมบัญชีกลางต้องการเน้นเรื่องความโปร่งใสและการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม ตรวจสอบได้ มีการกำหนดราคากลางที่เป็นธรรมมากขึ้น จากเดิมที่การกำหนดราคากลางเป็นไปอย่างล่าช้ามาก ทีพีเอ็มเอจึงสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อจะผลักดันให้อุตสาหกรรมยาไทยเติบโตและมีการแข่งขัน

“ทีพีเอ็มเอมองว่าองค์การเภสัชฯ ไม่ควรได้สิทธิ์นี้ต่อ ถ้าอยากได้ยาดี มีคุณภาพ ต้องเปิดให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ได้บอกว่าราคาต้องถูก องค์การเภสัชฯ ขายยาถูก สุดท้ายก็จะตาย เพราะหาต้นทุนวัตถุดิบราคาถูกไม่ได้ แต่ฝ่ายเอ็นจีโอมองว่าการมีองค์การเภสัชฯ ทำให้เข้าถึงยา แต่ไม่รู้ว่าการเสพติดสินค้าถูกนานๆ มันทำร้ายคุณ เห็นจากผู้ป่วยที่ไปใช้บริการในสถานพยาบาลปฐมภูมิ จะเห็นว่าเอายาไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ นี่คือต้นทุน รัฐก็ต้องปรับปรุงตรงนี้”

ผอ.องค์การเภสัชฯ แจงไม่ได้ผูกขาด หวั่นอนาคตบริษัทยาต่างชาติฮุบตลาดยาไทย

นพ.นพพร ชี้แจงว่า ตลาดยาทั้งประเทศของไทยมูลค่าการซื้อประมาณ 145,000 ล้านบาท แต่ยอดจำหน่ายขององค์การเภสัชฯ ประมาณ 12,772 ล้านไม่ถึงร้อยละ 10 อีกทั้งสิทธิ์ที่องค์การเภสัชฯ ได้รับก็มีรายละเอียดอีกมาก คือต้องเป็นยาที่องค์การผลิต ต้องเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักที่พิสูจน์ตามหลักวิชาการแล้วว่ามีความจำเป็น ไม่ใช่ว่ายาทุกชนิดต้องซื้อที่องค์การเภสัชฯ

จุดที่ นพ.นพพร แสดงความกังวลคือ หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน บทบาทการควบคุมราคายาขององค์การเภสัชฯ หายไป จะทำให้บริษัทยาข้ามชาติที่มีทุนทรัพย์มากกว่าเข้ามาทุ่มตลาดยาในเมืองไทย ในระยะแรกราคายาอาจถูกลง แต่ในระยะยาวแล้ว ตลาดยาส่วนใหญ่อาจจะตกอยู่ในมือบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น บริษัทยาของไทยก็อาจต้องล้มหายตายจากไปด้วย

นพ.นพพร กล่าวอีกว่า ทางองค์การเภสัชฯ ได้ทำหนังสือส่งถึงคณะรัฐมนตรีให้ทบทวนเรื่องนี้แล้ว แต่หากสุดท้ายกฎหมายดังกล่าวผ่านสภา ทางองค์การเภสัชฯ ก็ต้องปรับตัว หันมาวางแผนการตลาดเหมือนกับบริษัทยาเอกชนทั่วไป และอาจต้องลดการผลิตยาพื้นฐานที่ไม่ทำกำไรลง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทยาเอกชนได้

ร่างกฎหมายจัดซื้อฯกับ TPP  หรือเป็นเรื่องเดียวกัน?

ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.... ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือลดการทุจริตเพียงอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งคือการเปิดช่องทางให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าร่วมประมูลงานได้  มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า "นักลงทุนต่างประเทศอยากให้รัฐบาลออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด เพื่อให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการเข้าร่วมประมูลการลงทุนในโครงการต่างๆ ของส่วนราชการ"

จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างทำขึ้นเพื่อรองรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ในอนาคตหรือไม่ เพราะมีความสอดคล้องกับ TPP ที่ต้องการให้เปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมานี้เอง ครม. ก็มีมติให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตรวจพิจารณาแล้วให้แก่หน่วยงานอื่นๆ พิจารณาต่อไป

ขณะที่ ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นต่างโน้มน้าวให้ไทยเข้าร่วม TPP  รัฐบาลไทยบอกว่าขอเวลาในการศึกษาผลกระทบก่อน แต่น่าสังเกตว่า กฎหมายจำนวนหนึ่งถูกแก้ไขหรือเตรียมแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าเสรีนี้

อ่าน 'จับตา': “มูลค่าตลาดยาไทยและยอดจำหน่ายขององค์การ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6086

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: