มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำร่องใช้รถบัส CBG ยานยนต์ใช้พลังงานทางเลือกจากมูลสัตว์ นำร่องแห่งแรกในประเทศไทย ใช้พลังงานก๊าซ CBG ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึง 21,200 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 517,926 บาทต่อปี (ที่มาภาพข่าว: erdi.cmu.ac.th)
7 ม.ค. 2559 เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำร่องใช้รถบัส CBG ยานยนต์ใช้พลังงานทางเลือกจากมูลสัตว์ นำร่องแห่งแรกในประเทศไทย ใช้พลังงานก๊าซ CBG ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึง 21,200 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 517,926 บาทต่อปี และที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในปริมาณ 216,751 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือ217 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการพัฒนาการใช้พลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ low carbon society เป็นต้นแบบที่สำคัญให้กับนักศึกษา บุคลากรและชุมชนในพื้นที่ ที่จะหันมาช่วยกันตระหนักและให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนภาคการขนส่งมากขึ้น เป็นการลดปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศและการใช้พลังงานที่จะหมดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานของประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ก๊าซ CBG (Compressed Biomethane Gas) หรือ ก๊าซไบโอมีเทนอัด คือ การนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จากน้ำเสีย/ของเสียของมูลสัตว์ หรือกระบวนผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และการหมักย่อยจากพืชพลังงาน มาผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ให้มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซ NGV สําหรับยานยนต์ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กําหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติอัดสําหรับยานยนต์ พ.ศ. 2552 โดยก๊าซ CBG มีองค์ประกอบหลักคือก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ โดยก่อนการนำก๊าซชีวภาพ มาผลิตเป็นก๊าซ CBG ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก๊าซ (Upgrading) เพื่อกําจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S)และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพ จากนั้นนำมาอัดลงถังที่ความดัน 200 barg เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสําหรับยานยนต์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ