เผยก่อสร้าง 100 โครงการชะงัก เหตุรัฐสับสนมาตรฐานเหล็กข้ออ้อยพิจารณาล่าช้า

20 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2467 ครั้ง


	เผยก่อสร้าง 100 โครงการชะงัก เหตุรัฐสับสนมาตรฐานเหล็กข้ออ้อยพิจารณาล่าช้า

วสท.เผยการก่อสร้างอาคารรัฐและเอกชนกว่า 100 โครงการสะดุด เหตุใช้เหล็กข้ออ้อยมาตรฐาน SD40 T และ SD50 T ไม่ได้ ชี้ผู้ออกแบบโครงการสับสนยังใช้มาตรฐานเหล็กเดิมอยู่ ต้องแก้แบบใหม่ ทำให้โครงการล่าช้ากว่า 6 เดือน สะเทือนถึงผู้ผลิตเหล็กส่งมอบสินค้าไม่ได้ กระทบต่อการวางแผนผลิต และเสียโอกาสทางธุรกิจ (ที่มาภาพประกอบ: to.co.th)

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่ารศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ทางวสท.ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนหรือผู้ผลิตเหล็กข้ออ้อยเพื่อใช้ในการก่อสร้าง กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากการที่โครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนกว่า 100 โครงการ มีความสับสนในการใช้มาตรฐานเหล็กข้ออ้อยในงานก่อสร้างที่ยังมีการคลาดเคลื่อน เนื่องจากในการออกแบบของแต่ละโครงการมีการกำหนดให้ใช้เหล็กข้ออ้อยมาตรฐาน SD40 และ SD50 ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะผลิตเหล็กข้ออ้อยโดยการพิมพ์สัญลักษณ์ตัวนูนเป็น SD40T และ SD50T ทำให้เจ้าของโครงการปฏิเสธที่จะรับเหล็กข้ออ้อยที่มีสัญลักษณ์ตัว T เข้าใช้ในโครงการ เนื่องจากมาตรฐานหรือสเปกไม่ตรงตามที่ได้มีการออกแบบไว้

ทั้งนี้ จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้รับเหมาเกิดความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถจัดหาเหล็กเส้นข้ออ้อยตามมาตรฐาน SD40 และ SD50 ได้ เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้เลิกดำเนินการผลิตแล้ว และหันมาผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อย SD40T และ SD50T ตามมาตรฐานบังคับ มอก.24-2548 แทน ตามการปรับปรุงจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย ที่มอก.24-2536 ส่งผลให้โครงการต่างๆ เกิดความล่าช้า โดยเฉพาะโครงการภาครัฐ ที่มีการก่อสร้างอาคารหรือสำนักงาน รวมถึงที่พักอาศัย ต้องสะดุดไปไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จากการปรับแก้สเปกใหม่ ส่งผลต่อเนื่องมาถึงผู้ผลิตต้องส่งมอบสินค้าช้าตามไปด้วย ทำให้ประเทศเสียโอกาสแทนที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับภาวะเศรษฐกิจได้

สำหรับการหาทางออกในเรื่องนี้ วสท.ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อยากจะสร้างความเข้าใจให้ภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรฐานเหล็กเส้นข้ออ้อยดังกล่าว ว่าเหล็กเส้นข้ออ้อย SD40 และ SD50 กับ SD40T SD50T มีคุณสมบัติที่ไม่แตกต่างกันในกรรมวิธีที่ผลิต เนื่องจากภายหลังการอนุญาตให้ผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยตามมาตรฐานเมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้ปรับมาใช้วิธีการผลิตด้วยกรรมวิธีความร้อนแทบทั้งสิ้น การที่มีสัญลักษณ์ตัวนูนอักษร T ขึ้นมา เป็นเพียงทำให้ผู้ใช้ทราบถึงกรรมวิธีผลิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับชั้นคุณภาพของเหล็กหรือคุณสมบัติเหล็กแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบในจุดดังกล่าวนี้ เพื่อให้โครงสร้างที่ยังสะดุดอยู่นี้สามารถเดินหน้าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้

ขณะที่นายอดิศร สุขพันธุ์ถาวร ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างมีปีละประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้เป็นเหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีอักษร T อยู่ประมาณ 90 % ของเหล็กเส้นก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งมาตรฐานและกระบวนการผลิตนี้ได้ออกมาตั้งแต่ปี 2548 การใช้งานไม่พบปัญหาการนำไปใช้งาน เพราะเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ และไม่ทราบว่าเหตุใดภาครัฐหรือเอกชนที่มีการออกแบบโครงการ ถึงยังใช้มาตรฐานของ SD40 และ SD50 อยู่ทั้งที่มีการปรับปรุงมาตรฐานไปแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้โครงการเกิดความล่าช้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลมาถึงผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามแผนที่วางไว้ได้ด้วย ส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตในแต่ละปี

นอกจากนี้ หากภาครัฐยังกำหนดสเปกเหล็กเส้นข้ออ้อยแบบเดิมอยู่ ผู้รับเหมาคงจัดหาเหล็กที่ไม่มีอักษร T ได้ลำบาก และหากไม่มีการแก้ไขหรือสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง ก็จะทำให้โครงการต่างๆ ที่กำลังจะเปิดประมูลชะงักตามไปด้วย เท่ากับว่าไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอย่าลืมว่ายังมีโครงการของภาครัฐอีกมากมายที่จะเกิดตามมาอีกมาก หากภาครัฐแก้ไขตรงจุดนี้แล้ว จะเป็นการช่วยผู้ผลิตในประเทศได้อีกทางหนึ่ง ที่จะป้อนเหล็กเส้นข้ออ้อยเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5 % ในปีนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: