คนไทยรู้ยัง : คาดลงทุนโครงข่าย ใยแก้วนำแสงบรอดแบนด์แบบมีสายปี 2559-2561 กว่า 173,000 ล้านบาท

ทีมข่าว TCIJ 7 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1799 ครั้ง

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน้ำหนักการลงทุนกว่าร้อยละ 70 จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2560-2561 โดยในปี 2559 จะมีเม็ดเงินลงทุนราว 48,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.5 จากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 และมีเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 47,336 ล้านบาท เนื่องจากผู้ให้บริการรายใหญ่บางรายต้องจัดสรรเงินลงทุนโครงข่าย 4G ก่อน

 

การใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ทั้งในด้านของวัตถุประสงค์ ปริมาณข้อมูล และความเร็วที่ต้องการ กล่าวคือผู้บริโภคไม่ได้จำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาข้อมูลและการใช้สังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อความบันเทิงในรูปแบบอื่นและใช้เชิงธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การชมภาพยนตร์ออนไลน์ในรูปแบบความละเอียดสูง การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการทำการตลาดออนไลน์ เป็นต้น จากการใช้งานที่มีความหลากหลายดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณข้อมูลที่ใช้งานผ่านบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายของผู้บริโภคในอีก 3 ปีข้างหน้า (2559-2561) จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ยร้อยละ 24.7 ต่อปี ส่งผลให้คาดว่าในปี 2561 ปริมาณข้อมูลที่ใช้งานจะอยู่ที่ราว 46 กิกะไบต์ต่อรายต่อเดือน สูงกว่าปี 2559 ที่คาดว่าจะใช้เพียง 27 กิกะไบต์ต่อรายต่อเดือน ราว 1.9 เท่า

จากการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและความต้องการใช้งานข้อมูลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงยิ่งขึ้น ซึ่งบริการบรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงนับว่าเป็นอีกหนึ่งบริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว เนื่องจากเทคโนโลยีโครงข่ายใยแก้วนำแสงในปัจจุบันสามารถให้บริการที่ความเร็วสูงสุด สูงกว่าเทคโนโลยีบรอดแบนด์ ADSL ที่ใช้งานในปัจจุบัน กว่า 40 เท่า อีกทั้ง ยังมีความเร็วสูงกว่าเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สาย 4G ราว 10 เท่า และยังสามารถใช้งานข้อมูลที่ความเร็วสูงสุด ได้อย่างไม่จำกัด          

อย่างไรก็ตามปัจจุบันพื้นที่ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสงยังคงอยู่ในวงจำกัด และส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก โดยในปี 2558 มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ใยแก้วนำแสงเพียงร้อยละ 12.0  (หรือ 7 แสนกว่าราย) ของผู้ใช้บริการบรอดแบนด์แบบมีสายทั้งหมด ราว 6.4 ล้านราย แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านใยแก้วนำแสงจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ขณะที่ การเชื่อมต่อผ่าน ADSL จะลดความสำคัญลง โดยในปี 2561 สัดส่วนผู้ใช้งานบรอดแบนด์ใยแก้วนำแสงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44 ของจำนวนผู้ใช้งาน บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากปี 2558

 

ที่มาข้อมูล: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มาภาพ: digitaltrends.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: