พบ 5 ปีค่ารักษา 5 โรคในรพ.เอกชน พุ่งสูงขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ทีมข่าว TCIJ 7 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 12923 ครั้ง

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทำการศึกษา ‘มาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล’ โดยได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายการรักษาโรคระหว่างปี 2552-2557 ในโรงพยาบาล 4 ประเภท จำนวน 9 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย 1.โรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก มีแพทย์ครบทุกสาขา แพทย์มีชื่อเสียงในการรักษาเฉพาะทาง และมีการขายหุ้นของโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ  2. โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ มีชาวต่างชาติมาใช้บริการไม่มากนัก แต่มีลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทต่างชาติที่ส่งเจ้าหน้าที่และพนักงานมาใช้บริการในลักษณะของบริษัทคู่สัญญา ซึ่งมีแพทย์เกือบทุกสาขา บางแห่งมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ และโรงพยาบาลนครธน 3. โรงพยาบาลเอกชนที่มีมูลนิธิสนับสนุน  มีชาวต่างชาติมาใช้บริการน้อย ไม่มีกลุ่มลูกค้าเป็นบริษัทคู่สัญญา มีแพทย์เกือบทุกสาขา ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นจุดประสงค์หลัก และไม่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ โรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และ 4. โรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ มีคนไข้จากระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ สิทธิ์อื่น ๆ และคนไข้จ่ายเงินเอง ไม่หวังผลกำไรและไม่เป็นบริษัทจำกัด ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลราชวิถี

โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำการศึกษาโรค 3 กลุ่ม คือ 1. โรคที่เป็นภาวะฉุกเฉินต้องทำการวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็ว เพราะมีอัตราตายสูงถ้าปล่อยทิ้งไว้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคไส้ติ่งอักเสบ 2. โรคที่ไม่ต้องการการรักษาเร่งด่วน พบบ่อยในผู้สูงอายุ ต้องผ่าตัดและใช้อุปกรณ์เทียมซึ่งมีราคาสูง โรคที่ศึกษาในกลุ่มนี้คือ โรคต้อกระจก (ต้องมีการใช้เลนส์เทียม) และโรคข้อเข่าเสื่อม (ที่ต้องใช้ข้อเทียม) และ 3. โรคที่พบบ่อยและรักษาแบบผู้ป่วยนอก คณะผู้ศึกษาเลือกโรคหวัดในการศึกษาครั้งนี้ เพราะเป็นโรคที่มักจะหายได้เองโดยไม่ต้องทานยา หากมีการรักษาสุขภาพและพักผ่อนอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากก็เลือกที่จะใช้บริการจากร้านขายยาโดยตรงหรือเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลและต้องการพบแพทย์เพื่อรักษาโรคหวัด

พบโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงสุด

ผลการศึกษาจากทั้ง 9 โรงพยาบาล ซึ่งศึกษาจากฐานข้อมูลของผู้ป่วยทั้งสิ้น 41,269 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 1,460 ราย ผู้ป่วยผ่าตัดไส้ติ่ง 769 ราย ผู้ป่วยโรคต้อกระจก 1,188 ราย ผู้ป่วยผ่าตัดข้อเข่า 490 ราย และผู้ป่วยโรคหวัด 37,808 คน  โดยได้ทำการเก็บข้อมูลการสุ่มเลือกคนไข้จำนวน 48 คน ในปี 2552 และอีก 48 คนในปี 2557 ในแต่ละโรคทั้ง 5 โรค โดยสุ่มเลือกเดือนละ 4 คน เป็นครึ่งเดือนแรก 2 ราย และครึ่งเดือนหลัง 2 ราย ข้อมูลที่เก็บเป็นค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลเรียกเก็บต่อคนไข้หนึ่งคนสำหรับโรคนั้น ๆ ไม่ว่าสุดท้ายผู้ป่วยจะได้ชำระเงินให้กับโรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม และหักเป็นค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมดต่อผู้ป่วยต่อรายต่อครั้งของการเข้ารับรักษา ในกรณีการศึกษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ ผ่าตัดต้อกระจก และผ่าตัดข้อเข่า เป็นการรักษาในแบบของผู้ป่วยใน ดังนั้นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะรวมค่ารักษาในโรคร่วมอย่างอื่นของผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคหลักนั้นด้วย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของการเข้ารับรักษาในหน่วยตรวจผู้ป่วยใน ส่วนโรคหวัดเป็นการดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูลของผู้ป่วยนอก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเพียงค่าวินิจฉัย ค่ายา และค่าแพทย์ เป็นหลัก

โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 120,090 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 185,473 บาท เทียบเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 โดยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศสูงที่สุด รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ, โรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนมูลนิธิ ตามลำดับ

โรคไส้ติ่งอักเสบ  ในปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 57,649 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 81,406 บาท เทียบเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 โดยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศสูงที่สุด รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเอกชนมูลนิธิ และโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์

โรคต้อกระจกและการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์  การรักษาโรคต้อกระจกมีปัจจัยของค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราคาของเลนส์ เมื่อเทียบสัดส่วนค่ารักษาระหว่างปี 2552-2557 พบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 152 โดยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศสูงที่สุด รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเอกชนมูลนิธิ และโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์

โรคข้อเข่าเสื่อมและการผ่าตัดข้อเข่า ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ มาก โดยเฉพาะการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัด ในปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 212,094 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 267,310 บาท เมื่อเทียบสัดส่วนค่ารักษาระหว่างปี 2552-2557 พบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 26 โดยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศสูงที่สุด รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ

โรคหวัด ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและมักจะหายเองได้เพราะเกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยบางรายซื้อยาทานเองและหายจากโรคโดยไม่ต้องเข้าพบแพทย์ อย่างไรก็ตามเมื่อคนไข้เข้าสู่ระบบการตรวจของโรงพยาบาล อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัย การตรวจร่างกายและการใช้ยาเพิ่มเติม จากการศึกษาพบว่าในปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,053 บาท ปี 2557 เพิ่มเป็น 1,605 บาท เมื่อเทียบสัดส่วนค่ารักษาระหว่างปี 2552-2557 พบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 52 โดยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงชั้นนำของประเทศสูงที่สุด รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเอกชนมูลนิธิ และโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปผลการศึกษาว่า สำหรับค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยต่าง ๆ พบว่า โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยต่างชาติมารับการรักษาพยาบาลในจำนวนมาก จะมีราคาสูงกว่าโรงพยาบาลที่มีชาวต่างชาติมารับการรักษาจำนวนน้อย และโรงพยาบาลที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลที่ไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

โรงพยาบาลเอกชน 'ยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งรายได้สูง'

ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนมีลักษณะผูกขาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เริ่มทยอยซื้อกิจการและควบรวมโรงพยาบาลขนาดเล็ก ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: เจาะอุตสาหกรรม ‘โรงพยาบาลเอกชน’ ถอดรหัสค่าบริการแสนแพงสู่ ‘ทุนผูกขาด’)

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่รายงานภาพรวมอุตสาหกรรมหมวดธุรกิจ 86101: กิจกรรมโรงพยาบาล  ปี 2558 (ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 2559) พบว่าในปี 2558 มีจำนวนนิติบุคคลโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งงบการเงิน 203 ราย (ปี 2556 ส่ง 451 ราย ปี 2557 ส่ง 462 ราย) โดยทั้ง 203 ราย มีสินทรัพย์รวม 114,633.88 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 26,493.37 ล้านบาท มีรายได้รวม 97,480.30 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 11,855.38 ล้านบาท

โดยโรงพยาบาลทั้ง 203 รายที่ส่งงบการเงินในปี 2558 นั้น แบ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 121 ราย แต่มีรายได้รวมกันเพียง 2,547.13 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 2.61 โรงพยาบาลขนาดกลาง 26 ราย รายได้รวม 4,314.73 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 4.43  ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีมีเพียง 56 ราย แต่กลับแต่มีรายได้รวมกันถึง 90,618.45 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดถึงร้อยละ 92.96 เลยทีเดียว

อ่าน 'จับตา': “10 อันดับโรงพยาบาลเอกชนที่มีรายได้รวมสูงสุดในปี 2557-2558"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6344

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: