สธ.เล็งสร้าง 1 อำเภอ 1 ทันตแพทย์ แก้ปัญหาหมอฟันกระจุกตัวในเมือง

8 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3027 ครั้ง


	สธ.เล็งสร้าง 1 อำเภอ 1 ทันตแพทย์ แก้ปัญหาหมอฟันกระจุกตัวในเมือง

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมปั้นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทันตแพทย์ แก้ปัญหาหมอฟันกระจุกตัวในเมืองใหญ่ หลังพบผลจากทุนเรียนแพทย์ให้แต่ละตำบล ทำให้แพทย์ทำงานในชนบทนานขึ้น 2-3 เท่าตัว คาดวิชาชีพทันตแพทย์จะเต็มกรอบอัตรากำลังภายใน 6-7 ปี (แหล่งที่มาภาพจาก: novasans)

8 ม.ค. 58 เว็บไซต์hfocus รายงานเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับทางเว็บไซต์ว่า กระทรวงฯ มีแนวคิดที่จะทำโครงการในลักษณะเดียวกับโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (One District One Doctor : ODOD) กับวิชาชีพทันตแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวของทันตแพทย์ที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ และในส่วนของทันตแพทย์ที่ออกไปทำงานในพื้นที่ชนบท เมื่อทำงานใช้ทุนครบ 3 ปีแล้วก็มักจะลาออก ดังนั้นการนำคนในพื้นที่มาเรียนแล้วให้กลับไปทำงานใช้ทุนตามภูมิลำเนา จะช่วยให้บุคลากรทำงานพื้นที่ยาวนานขึ้น โดยโครงการนี้พิสูจน์แล้วจากการทำ ODOD กับวิชาชีพแพทย์ ซึ่งพบว่าระยะเวลาการอยู่ในพื้นที่นานกว่าแพทย์ที่บรรจุลงพื้นที่ตามปกติ 2-3 เท่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดโครงการดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าใน 1 เดือนน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สธ. มีทันตแพทย์ที่บรรจุอยู่ประมาณ 4,600 คน จากอัตรากรอบบรรจุที่ต้องการประมาณ 7,300 คน ขณะที่ตัวเลขการบรรจุบัณฑิตจบใหม่อยู่ที่ปีละ 500-600 คน และอัตราการลาออกประมาณปีละ 200-300 คน ดังนั้นหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ วิชาชีพทันตแพทย์จะเต็มกรอบอัตรากำลัง สธ.ภายในเวลาประมาณ 10 ปี

ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นมา และนักศึกษาที่กำลังเรียนในขณะนี้ กำลังจะจบการศึกษาในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีปริมาณบัณฑิตจบใหม่มากขึ้นอีก ดังนั้นอัตรากรอบกำลังคนของวิชาชีพทันตแพทย์น่าจะเต็มเร็วขึ้นเป็น 6-7 ปี

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อัตราส่วนทันตแพทย์ของ สธ.ต่อประชากรในขณะนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1:12,000 คน ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบอัตรากำลังที่ต้องการ สัดส่วนที่ตั้งเป้าไว้จะอยู่ที่ 1:8,000 คน แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้เป็นเรื่องของการกระจายตัวของทันตแพทย์มากกว่า เช่น ภาคกลางมีอัตราส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:10,000 คน บางอำเภอมีสัดส่วนสูงถึง 1:5,000 ส่วนภาคอีสานมีสัดส่วนโดยรวมอยู่ที่ 1:16,000 คน แต่บางพื้นที่ทันตแพทย์กระจุกตัวอยู่ในเมือง และหากเป็นอำเภอรอบนอก อัตราส่วนยังสูงกว่า 1:16,000 คนเสียอีก

“เหตุที่บางพื้นที่มีความขาดแคลนทันตแพทย์สูงนั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างพื้นที่ เมื่อทำงานใช้ทุนครบ 3 ปีก็ลาออกไปทำงานภาคเอกชน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: