ก.พาณิชย์เผยจ้าง 'สถาบันปัญญาภิวัฒน์' ศึกษา TPP ระบุส่งผลดีกับไทยมากกว่าผลกระทบ

8 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1793 ครั้ง


	ก.พาณิชย์เผยจ้าง 'สถาบันปัญญาภิวัฒน์' ศึกษา TPP ระบุส่งผลดีกับไทยมากกว่าผลกระทบ

คณะกรรมการศึกษาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ถกนัดแรก 7 มี.ค. ที่ผ่านมา หาข้อสรุปเสนอนายกเข้าร่วมข้อตกลง TPP หรือไม่ เผยยังกังวลจะเสียเปรียบเรื่องคุ้มครองสิทธิบัตรยา-พันธุ์พืช ขณะที่ผลศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาชี้ช่วยดันเศรษฐกิจไทยขยายตัว (ที่มาภาพ: ustr.gov)

8 มี.ค. 2559 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่าในวันที่ 7 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans Pacific Partnership-TPP) ซึ่งจะเป็นการประชุมนัดแรก หลังจากที่ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการศึกษาข้อตกลง TPP ในด้านต่างๆ อย่างละเอียดมา จากนั้นจะนำผลการประชุม ไปเสนอ พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาท่าทีของไทยต่อไป

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ประเด็นที่ต้องมีการหารือในที่ประชุม ได้แก่ การพิจารณาประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับราคายาในประเทศหากข้อตกลงบังคับให้ต้องเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปี และการพิจารณาประเด็นการให้ต้องเข้าเป็น

ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูพอฟ ซึ่งจะกระทบต่อการนำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกของเกษตรกรในกรณีเป็นเมล็ดพันธุ์จากการวิจัยขึ้นมาใหม่, การพิจารณาประเด็นแรงงาน ที่มีสาระสำคัญระบุให้แรงงานทุกภาคส่วนต้องมีสหภาพแรงงาน

“ในการประชุม TPP จะเป็นการประชุมเพื่อรับทราบผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ว่าจ้างให้ทำการศึกษา โดยผลการศึกษาพบว่า TPP จะส่งผลดีกับไทยมากกว่าผลกระทบ และยังจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.77% และหากไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าร่วมด้วย เศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.06%”

ทั้งนี้ การเข้าร่วม TPP ครั้งต่อไปจะมีการพิจารณารับสมาชิกในอีก 2 ปี ซึ่งการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ได้ ประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศรับรองข้อตกลงและดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติอีก ขณะเดียวกันต้องจับตาดูการเลือกตั้งของสหรัฐ หากมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีคนใหม่แนวทางการทำ TPP ที่สหรัฐเป็นผู้ริเริ่มจะเดินหน้าต่อไปตามแผนหรือไม่

นอกจากนี้ในส่วนของประเด็นการเจรจาของ TPP รวมทั้งสิ้น 30 ข้อบท อาทิ ความจำกัดความทั่วไป การค้าสินค้า กฎกำเนิดสินค้าสำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การบริหารจัดการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการเยียวยาการค้า การลงทุน การบริการข้ามพรมแดน บริการด้านการเงิน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ โทรคมนาคม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขัน ฯลฯ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: