กรมสรรพากรชูไอเดียเปิดทางให้บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุกำหนดอายุไม่เกิน 65 ปี นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าจ้างแรงงานทั้งหมด และกำหนดรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท โดยให้บริษัทนำค่าใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้างผู้สูงอายุมาหักลดหย่อนภาษีสรรพกากร 2 เท่าในการคำนวณภาระภาษี ยอมรับกระทบรายได้กรมฯ ไม่มาก (ที่มาภาพประกอบ: express.co.uk)
8 ก.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสังคมผู้สูงอายุ กรมสรรพากรเตรียมเสนอมาตรการภาษีสนับสนุนการจ้างงานของภาคเอกชนให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็ว ๆ นี้ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2559 ทันที เพื่อต้องการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำ เพราะบางคนยังแข็งแรงและมีความเชี่ยวชาญในสายงานที่ทำงานมาตลอด หรือกิจกรรมอื่นที่มีความจำเป็น
ทั้งนี้ กรมสรรพากรเปิดทางให้บริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุกำหนดอายุไม่เกิน 65 ปี โดยนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าจ้างแรงงานทั้งหมด และกำหนดรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท โดยให้บริษัทนำค่าใช้จ่ายเงินเดือน ค่าจ้างผู้สูงอายุ มาหักลดหย่อนภาษีสรรพกากร 2 เท่าในการคำนวณภาระภาษี ยอมรับกระทบรายได้กรมไม่มาก ส่วนการกำหนดเพดานรายได้ของผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุบางคนมีเงินสะสมจำนวนมากแล้ว จึงต้องการเปิดทางให้กับผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในการเลี้ยงชีพ
นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีความขัดแย้งทางกฎหมายในการตีความของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมสรรพากรนั้น กรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ตามมติ ครม. โดยยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หลังจากต้องชำระภาษีเพิ่มตามคำพิพากษาของศาลฎีกา กรณีจ่ายภาษีไม่ครบถ้วน เนื่องจากยึดหลักตามบีโอไอ ดังนั้น เอกชน 40 ราย ทางกรมสรรพากรได้ส่งหมายเรียกให้จ่ายภาษีเพิ่ม เพราะยื่นภาษีปรับปรุง มีภาระภาษีต้องจ่ายเป็นเงินรวมกันประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี เนื่องจากได้รับการส่งเสริมบีโอไอและไม่ได้เจตนาเลี่ยงภาษีจึงได้ยกเว้นเบี้ยรับเงินเพิ่มให้ นับว่าเป็นยอดเงินอีกเท่าตัวของภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม และหลังจากนี้จะหารือกับทางบีโอไอและภาคเอกชนเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันและใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการยื่นเสียภาษี ขณะที่ส่วนใหญ่ 800 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอนั้น มีการยื่นเสียภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนั้น เอกชนอีก 40 ราย ต้องดำเนินการลักษณะเดียวกัน
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐทั้งกรมสรรพากรและบีโอไอ ต้องร่วมกันทำให้ภาคเอกชนเข้าใจในแนวทางเดียวกับจากการตีความกฎหมาย เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมการลงทุนและการจัดเก็บภาษี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ