ทุนจีนรุกคืบทำ ‘ล้งจีน’ บุกสวนผลไม้ไทย จี้รัฐ 'ล้อมคอก-ขันน็อต-ใช้กฎหมาย'

ทีมข่าว TCIJ : 8 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 9384 ครั้ง

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลไม้สำคัญของโลก โดยสำนักพัฒนาการค้าและธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าในปี 2558 ไทยส่งออกผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ปริมาณทั้งหมด 1,579,539 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,546.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดผลไม้ที่สำคัญของไทย อันดับ 1 คือ ประเทศจีน รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี และอินโดนีเซีย  ผลไม้ที่ผลิตและสร้างรายได้เข้าประเทศค่อนข้างสูง ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลิ้นจี่ และมะม่วง เป็นต้น และแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญของไทยอยู่ที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะ จ.จันทบุรี

‘จันทบุรี’ เมืองหลวงผลไม้ไทยถูกทุนจีนบุก

ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ระบุว่าจำนวนโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ในภาคตะวันออกที่ได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตร มีจำนวน 138 โรง ประกอบด้วย จ.จันทบุรี 122 โรง จ.ระยอง 12 โรง จ.ตราด 2 โรง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 1 โรง ในบรรดาโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองดังกล่าว หากจำแนกตามชนิดพืชที่ขอรับรองแบ่งตามชนิดพืชหรือกลุ่มพืชได้ 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ และพืชรวม หากพิจารณาโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองตามชนิดพืชโดยเฉพาะใน จ.จันทบุรี จะพบว่าโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรอง เฉพาะพืช ทุเรียน มีจำนวน 38 โรง มังคุด 24 โรง ลำไย 34 โรง และกล้วยไข่ 1 โรง สำหรับโรงคัดบรรจุที่เหลือจะเป็นโรงคัดบรรจุพืชรวม ซึ่งประกอบด้วยไม้ผลตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ได้แก่ สัปปะรด ส้มโอ มะม่วง ลิ้นจี่ ลองกอง เงาะ และสละ รวม 25 โรง

โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวน จ.จันทบุรี พบว่าปัจจุบันมีล้งที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน GMP แล้วใน จ.จันทบุรี ทั้งสิ้น 122 โรง ในจำนวนนี้เป็นล้งของพ่อค้าชาวจีนเกือบครึ่งหนึ่ง ผลไม้ส่งออกโดยเฉพาะทุเรียนที่ส่งไปตลาดจีนส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยล้งจีน ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจรับซื้อและตั้งล้งโดยอาศัยชื่อคนไทยบังหน้าในลักษณะ 'Nominee'

และในรายงานของคณะอนุกรรมาธิการการพาณิชย์ ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  คาดการณ์ไว้ว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้เกรงว่าภายใน 5 ปี ธุรกิจรับซื้อผลไม้ทั้งหมดใน จ.จันทบุรี จะเป็นของนักธุรกิจจีนทั้งหมด

นักธุรกิจผลไม้ไทยเสียเปรียบนักธุรกิจจีนอย่างไร

แม้นโยบายด้านการส่งออกผลไม้ของไทยจะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) เช่น การแปรรูปเป็นผลไม้อบแห้ง ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น  รวมถึงการสร้าง'โซ่อุปทาน' (Supply Chain) ในการผลิต ตั้งแต่ผลิต แปรรูป ส่งออก ไปจนถึงตลาดผู้ซื้อ แต่ขณะนี้พบว่า กลับถูกชาวต่างชาติเข้ามาทำ'โซ่อุปสงค์' (Demand Chain) คือการใช้ความต้องการสินค้าของลูกค้ามาเป็นเงื่อนไขการต่อรองการซื้อตามคุณสมบัติผลไม้ที่ต้องการ แล้วยังทำให้โซ่อุปทานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยแก่ผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก โดยผลิตผลที่ส่งออกต้องมาจากแปลงปลูก เก็บเกี่ยว และใส่บรรจุภัณฑ์ตามขั้นตอนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) และมาจากโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) และในกรณีส่งออกไปยังจีน ผลไม้ที่ส่งออกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ AQSIQ ของจีนด้วย ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ล้งไทยเสียเปรียบล้งจีน นอกจากนี้จีนยังมีระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่แตกต่างกับของไทย โดยประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเกษตรทั้งที่นำเข้าและผลิตในประเทศ แต่จีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเกษตรที่นำเข้าในอัตราร้อยละ 13 แต่ด้วยระบบการปฏิบัติที่ซับซ้อนของจีน ท้ายสุดสินค้าเกษตรของจีนก็ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งจากมาตรการภาษีที่แตกต่างกันดังกล่าวทำให้ผลไม้จากล้งไทยมีราคาสูงกว่าล้งจีน ย่อมทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านต้นทุนและการเข้าสู่ตลาดจีน

ซึ่งตามกฎหมายนั้น ล้งจีนสามารถเข้ามาซื้อ รวบรวม คัดแยก และบรรจุผลไม้ในไทยแล้วส่งออกได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถนำผลไม้ที่ซื้อแล้วมาเวียนขายในไทย แต่ที่ผ่านมาก็เกิดปรากฎการณ์ที่ล้งจีนนำสินค้าเกษตรที่ไม่ผ่านคุณภาพ มาลักลอบขายในไทยโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งมีความผิด โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและจีนได้ทำข้อตกลงร่วมกันสำหรับการซื้อผลไม้ ทั้งลำไย ทุเรียน และมังคุดจากไทย ภายใต้ข้อกำหนดว่าล้งจีนที่เข้ามารับซื้อและส่งออกไปจีน ต้องลงทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรก่อนและต้องได้มาตรฐาน GMP ในการแพ็คสินค้าเพื่อส่งออก ถ้าไม่ได้ลงทะเบียนและไม่ได้มาตรฐาน GMP จะทำธุรกิจไม่ได้ ขณะที่สวนผลไม้ของเกษตรกรไทยหากจะส่งออกไปจีน ต้องลงทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเช่นกัน เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตให้เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานตามที่จีนกำหนด และก่อนจะส่งออก ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย และใบอนุญาตการส่งออก

ด้านสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า การรุกคืบทุนจีนในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะธุรกิจล้งผลไม้นั้นมีอย่างแพร่หลาย โดยได้เปิดธุรกิจรับซื้อลำไยและผลไม้ต่าง ๆ จากภาคตะวันออกโดยเฉพาะใน อ.สอยดาว กับ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี 2 อำเภอที่เพาะปลูกลำไยส่งขายให้จีนกันมาก แม้ปัจจุบันการเข้ามาของล้งจีนไม่มีผลเสียกับท้องถิ่นมากนัก ตรงกันข้ามกลับทำให้ชาวสวนขายผลผลิตได้มาก เหมือนมีตลาดอยู่หน้าบ้าน แต่ก็ต้องระวัง 'ล้งนินจา' ที่ทำธุรกิจแบบเลี่ยงกฎหมาย นำเงินมาซื้อลำไยเมื่อได้กำไรแล้วหายไปทันที เป็นล้งไม่มีการขึ้นทะเบียนการค้าไม่เสียภาษีการค้าหวังเพียงแต่กำไร ส่วนนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนประกอบกิจการล้งที่ถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งสามารถลงทุนได้แบบ 100% แต่กลับไม่ได้ถือเป็นการประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมแต่อย่างใด

ทั้งนี้เมื่อนักลงทุนจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทย ก็จะเกิดความกังขาว่า ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผูกขาดโดยทุนจีนหรือไม่ ซึ่งเมื่อเกิดการผูกขาดแล้วทุนจีนก็อาจจะสามารถกำหนดราคาของผลไม้ไทยได้ตั้งแต่ในสวนผลไม้เลยทีเดียว

ด้านผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง 'กรณีการตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ของผู้ประกอบการชาวต่างชาติ ในจังหวัดจันทบุรี' ระบุว่าหากมีการคัดผลไม้เพื่อส่งออก แต่กลับมีการขายผลไม้ที่ไม่ผ่านกระบวนการคัดแยกบางส่วนในประเทศ จะเข้าข่ายว่าล้งร่วมประกอบธุรกิจการค้าภายใน เกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรหรือไม่ รวมทั้งปัญหาจากพฤติกรรมทางการค้าไม่เป็นธรรมและลักษณะผูกขาดทางการค้าของล้งจีน เพราะการประกอบธุรกิจโรงคัดบรรจุผลไม้ จะมีการทำข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรเพื่อซื้อผลไม้จากชาวสวนเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดราคาสำหรับผลไม้บางส่วนให้ต่ำกว่าราคาตลาด (ซึ่งประเด็นนี้อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542)

บทเรียนจาก ‘ล้งลำไย’ ภาคเหนือ

หนึ่งในผลไม้ที่ส่งออกไปยังจีนมากที่สุด และทุนจีนผูกขาดในกิจการรับซื้อลำไยในภาคเหนือไปแล้ว (ที่มาภาพ: thainews.prd.go.th)

ในปี 2558 ประเทศไทยส่งออกลำไยสดมูลค่า 287.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกลำไยอบแห้ง 156.06  ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดหลักของทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้งคือประเทศจีน และแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในภาคเหนือ โดยข้อมูลจากสภาเกษตรกร จ.ลำพูน ระบุว่า พ่อค้าชาวจีนและไต้หวันเริ่มเข้ามาซื้อลำไย เมื่อปี 2537 เพื่อนำไปขายต่อ ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกลำไยเป็นจำนวนมากเนื่องจากขายได้ราคาดี โดยเฉพาะจากชาวจีนที่ซื้อในปริมาณมาก ต่อมาในปี 2546 ผู้ประกอบการไทยก็ได้เริ่มเข้ามาประกอบธุรกิจจัดตั้งโรงรับซื้อและคัดแยกลำไย เป็นแหล่งรับชื้อผลผลิตจากเกษตรกรและกระจายสินค้าออกสู่ท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ข้อมูลจากการค้าภายใน จ.ลำพูน ที่เปิดเผยต่อสารธารณะชนเมื่อเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานักธุรกิจจีนเริ่มเข้ามาลงทุนในพื้นที่ จ.ลำพูน มากขึ้น โดยเปลี่ยนจากตัวแทนขายลำไย มาเป็นผู้ร่วมลงทุน หรือเทคโอเวอร์กิจการโรงรับซื้อลำไยหรือ ‘ล้งลำไย’ แต่ยังคงใช้ชื่อของคนไทยเป็นนอมินี  โดยปัจจุบันพบว่ามีการจดทะเบียนจำนวน 112 แห่ง ร้อยละ 90 เป็นของนักลงทุนจีน และมี 1 รายที่เป็นบริษัทเลยจีน 100% โดยขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

สถานการณ์ปัจจุบัน  ที่ล้งลำไยใน จ.ลำพูน ส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนจีนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเกือบทั้งหมดนั้น ได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากการที่รอให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายที่สถานที่รับซื้อ เป็นการเข้าไปติดต่อเกษตรกรถึงสวนลำไย พร้อมตกลงราคา ในแง่หนึ่งดูเหมือนว่าเกษตรกรจะได้เปรียบและมีโอกาสเลือกได้มากขึ้น แต่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า เมื่ออำนาจต่อรองของนักธุรกิจจีนในการซื้อขายลำไยถึงขีดสุด ชาวสวนจะโดนกดราคาและเอาเปรียบหรือไม่ ส่วนนักลงทุนชาวไทยที่เคยดำเนินกิจการโรงรับซื้อลำไย ก็ได้เลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนักธุรกิจจีนมีระบบการเงินหมุนเวียนดีกว่า มีการจองซื้อผลผลิตลำไยด้วยเงินสด ทำให้ผู้ประกอบการคนไทยไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงได้ปรับตัวในการทำธุรกิจด้วยการให้คนจีนเช่าโรงคัดแยกผลผลิตที่มีอยู่ และผันตัวเองไปเป็นผู้รับจ้างรวบรวมผลผลิต ตามความต้องการของผู้ประกอบการคนจีนที่มีออเดอร์เข้ามา


ล้อมคอก-ขันน็อต บังคับใช้กฎหมาย

ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลายฝ่ายก็มีมาตรการและข้อเสนอแก้ปัญหาออกมา โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2559 กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับ จ.จันทบุรี  เริ่มเข้มงวดในการวางระบบตรวจสอบ โดยวางแนวทางไว้คือ ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ล้ง และนายหน้าที่รวบรวมลำไยกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร และเกษตรจังหวัดมีการตรวจสอบแปลงผลไม้และถ่ายภาพเพื่อใช้ประกอบในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ครบถ้วน รวมทั้งให้สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) ทำสัญญากลางในการซื้อขายระหว่างล้งกับเกษตรกร และตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตร เนื่องมาจากผลผลิตการเกษตร จ.จันทบุรี (คพจ.) โดยมีพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีเป็นเลขานุการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลเชิงลึก

ข้อเสนอจากคณะอนุกรรมาธิการการ สนช. จากรายงานที่เสนอต่อที่ประชุม สนช. เมื่อเดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา ระบุว่าให้มีการจัดระเบียบทางการค้าและมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ได้แก่ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (ธุรกิจล้งผลไม้ของต่างชาติอาจถือเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามธุรกิจบริการตามบัญชี 3(21) ท้าย พ.ร.บ. ฉบับนี้, พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522) และมีการกำหนดให้ผลไม้เป็นรายการสินค้าสำคัญที่ควรมีการควบคุม กำกับดูแลปริมาณที่นำเข้าส่งออกตาม พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 รวมทั้งให้มีการควบคุมดูแลการเสียภาษีเงินได้ให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งให้มีการกำกับดูแลการนำเข้าส่งออกผลไม้ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ มีการส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางทางการตลาดให้แก่คนไทยที่ออกไปจากตลาดแล้วให้กลับเข้ามามีบทบาทในการส่งออก สนับสนุนกลุ่ม SMEs ในการหาตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ รวมทั้งวางแนวทางสนับสนุนให้การค้าผลไม้ไทยเป็นวาระขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ

ส่วนข้อเสนอของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่าควรควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการผูกขาด และลดการครอบงำการค้าผลไม้ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดรับซื้อเป็นธรรมมากขึ้น และควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้มีการตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ หรือส่งเสริมให้โรงคัดบรรจุผลไม้ มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันกับโรงคัดผลไม้ของชาวจีนได้ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน เช่น  สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด ต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการสร้างโอกาสของการเป็นผู้นำทางการตลาด

อ่าน 'จับตา': “การส่งออกผักและผลไม้ของไทย"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6188

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: