ความเหลื่อมล้ำในหมู่บ้านยุคอีสานใหม่

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : 9 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 4411 ครั้ง


ประเด็นเสนอ

“พัฒนา”[1] ทำให้เราเห็นว่าคนอีสานต้องการผลิตสร้างตัวตนใหม่ๆมาอย่างต่อเนื่อง เพราะคนอีสานมีแรงปรารถนาจากภายใน มีความใฝ่ฝันและแรงบันดาลใจที่มีพื้นฐานจากความยากจนที่คอยเป็นแรงผลักดันให้คนอีสานมีความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ เลื่อนฐานะ แสวงหาความมั่งคั่งทางวัตถุ มีความปรารถนาอยากเป็นผู้มีความทันสมัยและภาคภูมิใจกับอัตลักษณ์ที่ทันสมัย พยามปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ คนอีสานในความเป็นอีสานใหม่ คือ นักต่อสู้ชีวิต ผู้มีจินตนาการใหม่ๆ ผู้มีทักษะฝีมือด้านแรงงาน ผู้ผลิตอาหารของประเทศและของโลก ผู้มีความรู้ทักษะสมัยใหม่และมีการศึกษา มีความมั่นใจตัวเอง และพร้อมเปิดรับแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งอัตลักษณ์อีสานใหม่เหล่านี้มีฐานรากมาจากความเป็นท้องถิ่นและวัฒนธรรมอีสานเดิมเสมอๆ ดังนั้น ด้วยตัวตนคนอีสานในบริบทอีสานใหม่เช่นนี้ ทำให้ภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ ภูมิภาคแม่โขงและการเชื่อมต่อกับนานาชาติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (พัฒนา กิติอาษา 2557)

ผู้เขียนเห็นว่ามุมมองเรื่อง “สู่วิถีอีสานใหม่” มีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการทำความเข้าใจภาคอีสานเชิงมหภาคหรือภาพรวมของภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคระดับสากลเช่นแม่น้ำโขง ประชาคมอาเซียนหรือระดับโลก แต่อาจอธิบายความแตกต่างหลากหลายภายใน (Internal diversification) และความเหลื่อมล้ำภายใน (Internal inequality) ระดับหมู่บ้านได้ไม่ชัดเจนนักเพราะปรากฏการณ์เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ภายในหมู่บ้านอีสานมายาวนาน โดยการเลื่อนฐานะของคนในชุมชนยังทำได้ไม่ง่ายนัก จึงเป็นที่มาของข้อสรุป โดย Hewison (2013) ที่ว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทส่งผลให้คนชนบทในภูมิภาคอีสานจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

บทความสั้นๆนี้กำลังตั้งคำถามต่อ “สู่วิถีอีสานใหม่” ว่าแท้จริงแล้วภาพของอีสานใหม่ข้างต้นสามารถสะท้อนสังคมชนบทอีสานในระดับชุมชนหมู่บ้านได้ชัดเจนมาน้อยเพียงใดเมื่อนำมาอธิบายประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมภายในระดับหมู่บ้านอีสานที่ยังคงปรากฏตลอดช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมาทั้งระดับประเทศ ระดับภาคและระดับชุมชน ข้อมูลภาคสนามที่ผู้เขียนใช้สนับสนุนประเด็นการถกเถียงนี้มาจากการศึกษาภาคสนามใน 5 หมู่บ้านยากจนและมีปัญหาด้านแหล่งน้ำมากที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ (Manorom and Hall 2008) โดยเลือกข้อมูลเพียงบางส่วนมานำเสนอเพื่อประกอบการถกเถียงประเด็นข้างต้น

“หลุดพ้น” จากประเทศกำลังพัฒนา “แต่ไม่เท่าเทียม”

ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในทุกระดับ นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ สิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา การเข้าถึงบริการต่าง ๆของภาครัฐและการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังพิสูจน์ได้จากข้อมูลทางสถิติ กล่าวคือแม้ว่าประเทศไทยหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและขยับชั้นขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้วตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเห็นได้จากที่เปอร์เซ็นต์ความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา คือพบว่าความยากจนในปี ค.ศ. 1986 มีถึง 67% แต่เหลือเพียง 11% ในปี ค.ศ. 2014 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลและท้าทายมากๆคือความเหลื่อมกันทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างคนชนบทและคนเมืองกลับสูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบช่องว่างทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจนกับประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเอง โดยพบว่า 6.7 %ของประชากรทั้งประเทศมีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน[2] และมีมากที่สุดในภาคอีสาน ภาคเหนือและสามจังหวัดชายแดนใต้ (ธนาคารโลก 2016)[3]

นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า“คนจนส่วนใหญ่อยู่ในอีสานและภาคเหนือโดยในปี พ.ศ. 2556 ภาคอีสานมีคนจนประมาณ 3.3ล้านคนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 44.8 ของคนจนทั้งประเทศ ภาคเหนือมีคนจนประมาณ 1.9 ล้านคนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของคนจนทั้งประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากทั้งสองภูมิภาคดังกล่าวประชากรส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำ ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจหลักยังคงเป็นภาคการเกษตร และแรงงานเกินกว่า 73.0% ของแรงงานทั้งหมดในภาคเป็นแรงงานนอกระบบ” (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2557:2)

เกือบสามทศวรรษของความเหลื่อมล้ำในอีสาน

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยและแต่ละภูมิภาคแทบไม่ลดลงไปเลยตลอดระยะเวลามากกว่า 25 ปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิจีนีซึ่งเป็นเครื่องมือวัดความเหลื่อมล้ำในสังคม[4] กล่าวคือ ในปีพ.ศ. 2531 ค่าความเหลื่อมล้ำเท่ากับ 0.487 ส่วนในปีพ.ศ. 2556 ยังพบว่าค่าความเหลื่อมล้ำมีความใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2531 เป็นอย่างมากคือ 0.465 สำหรับภาคอีสานพบว่าค่าความเหลื่อมล้ำไม่แตกต่างกันในตลอด 25 ปี ที่ผ่านมาเช่นกันคือในปี พ.ศ. 2531 ค่าความเหลื่อมล้ำเท่ากับ 0.454 ส่วนปีพ.ศ. 2556 ค่าความเหลื่อมล้ำมีความใกล้เคียงกับปี 2531 มากๆคือ 0.442 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2557:4)

ความเหลื่อมล้ำระดับครัวเรือน

ความเหลื่อมล้ำภายในหมู่บ้านอีสานสอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำระดับภาคและประเทศ การศึกษาภาคสนามของผู้เขียนและทีมงานในปี พ.ศ. 2552 ใน 5 หมู่บ้านที่อยู่ในอำเภอปรางค์กู่ อำเภอเมือง อำเภอยางชุมน้อย และอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยหมู่บ้านทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มหมู่บ้านยากจนของจังหวัด สองหมู่บ้านในอำเภอปรางค์กู่มีปัญหาขาดแคลนน้ำแหล่งน้ำมากที่สุด มีคนย้ายถิ่นออกเพื่อรับจ้างตัดอ้อยในภาคตะวันออกจำนวน คนที่เหลืออยู่ในชุมชนทำการเกษตรได้แก่ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลาในสระ และรับจ้างในเมืองหรือเปิดร้านขายของชำเล็กๆน้อย ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ในอำเภอเมืองเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้เมืองแม้ไม่ยากจนเท่ากับสองหมู่บ้านแรกที่อยู่ในอำเภอปรางค์กู่แต่เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปีเนื่องจากมีลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาอยู่ติดกับหมู่บ้านทำให้พืชผลการเกษตรมักได้รับความเสียหายเสมอๆ ชาวบ้านทำงานรับจ้างในและนอกหมู่บ้าน บางส่วนทำงานในส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำงานนอกภาคเกษตร ส่วนอีกสามหมู่บ้านในอำเภอยางชุมน้อยและอำเภอกันทรารมย์นั้นเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่ประสบปัญหาเรื่องความแล้งหรือขาดแคลนน้ำแต่มักประสบปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีเพราะทำการเกษตรเช่นหอมแดงและอื่นๆ คนส่วนมากอยู่ในชุมชนทำนาและปลูกผักขาย มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งไปขายแรงงานต่างถิ่นและทำงานในเมือง

เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำของชาวบ้านในพื้นการวิจัยทั้ง 5 หมู่บ้านพบว่าฐานะของชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับการครอบครองที่ดิน กล่าวคือคนที่รวยที่สุดแต่เป็นคนจำนวนน้อยมีที่ดินมากกว่า20 ไร่ขึ้นไป ในขณะที่คนจนและจนที่สุดมีที่ดิน 5 ไร่ หรือน้อยกว่าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน โดยรวมแล้วคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ศึกษามีฐานะเกือบจนถึงปานกลาง โดยมีที่ดินระหว่าง 5-10 ไร่

ตารางต่อมาสะท้อนถึงสัดส่วนของรายได้ที่มาจากกิจกรรมการดำรงชีพที่สัมพันธ์กับจำนวนการถือครองที่ดินระหว่างกลุ่มคนที่จนที่สุด คนใกล้จน คนฐานะปานกลาง และคนฐานะดี โดยพบว่าปริมาณที่ดินมีความสัมพันธ์กับแหล่งรายได้จากกิจกรรม กล่าวคือ คนที่มีที่ดินน้อยที่สุดคือน้อยกว่า 5 ไร่ แหล่งรายได้ส่วนใหญ่มากจากการรับจ้างประปราย (61.70%) และขายแรงงานต่างถิ่น (29.17%) ในขณะที่คนมีที่ดินมากกว่า 15 ขึ้นไปมีรายได้หลักมาจากการค้าขายเช่น ผัก ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ หาปลา นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือทุกกลุ่มคน (ไม่ว่าจะมีที่ดินแตกต่างกัน) มีรายได้จากกการขายแรงงานในสัดส่วนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยมีสมาชิกของครอบครัวคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนไปเป็นแรงงานตัดอ้อยประจำอยู่ในภาคตะวันออกหรือรับจ้างในกรุงเทพ โดยเฉพาะชาวบ้านในอำเภอปรางค์กู่ แม้ว่าทุกกลุ่มคนที่มีที่ดินแตกต่างกันมีความหลากหลายในกิจกรรมการผลิตเหมือนกัน แต่กลุ่มฐานะดีคือคนที่มีทรัพยากรที่ดินมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆที่สามารถสร้างกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้จากการผลิตในที่ดินของตนเอง เช่น ปลูกผัก พืชไร่ เลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์ มากกว่ากลุ่มคนฐานะที่มีที่ดินจำนวนที่น้อย

หมายเหตุ: ค่าเฉลี่ยมาจากทุกจำนวนตัวอย่าง

ความเหลื่อมล้ำมิได้เกิดเฉพาะด้านการสร้างรายได้เท่านั้นแต่เกิดขึ้นในด้านการคืนหนี้สินเงินยืมของกลุ่มคนที่มีฐานะแตกต่างกันซึ่งเห็นได้จากตารางข้างล่างนี้ โดยพบว่ามีความแตกต่างด้านความสามารถในการจ่ายคืนหนี้สินของกลุ่มคนแต่ละฐานะ คนฐานะยากจนที่สุด (86.7%) และคนเกือบจน (75.8%) เห็นว่าตนมีความยากลำบากมากๆในการจ่ายคืนหนี้ที่หยิบยืมมาทั้งจากกองทุนหมู่บ้านและกู้จากนายทุนซึ่งทั้งสองกลุ่มรวมกันมีมากกกว่า 60%  ในขณะที่คนฐานะปานกลางและฐานะดีมีความยากในการจ่ายนี้ไม่ถึง 40% โดยสรุปคือกลุ่มคนฐานะดีมีความสามารถในการจ่ายหนี้สินคืนสูงมากเพราะมีแหล่งรายได้ที่มาจากงานที่มีรายได้ค่อนข้างดีกว่าและจำนวนรายได้มีมากกว่า

ในแง่การศึกษาพบว่าคนต่างฐานะใน 5 หมู่บ้านเข้าถึงการศึกษาได้แตกต่างกันกล่าวคือคนส่วนใหญ่ที่มาอายุระหว่าง 6-17 ปี ประมาณ 85% ที่เป็นวัยเรียน ได้รับการศึกษา อีกประมาณ 15% ไม่ได้เรียนต่อเนื่องเพราะพิการหรือไปรับจ้างต่างถิ่นกับพ่อแม่ และมีแนวโน้ว่าคนมีฐานะดีจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปมากกว่าคนจนโดยมีค่าเฉลี่ยของจำนวนปีที่ได้รับการศึกษา 8.46 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับคนจนที่สุดที่มีจำนวนปีในการศึกษาในระบบเฉลี่ยที่ 6.26 ปี

ความทุลักทุเลในการขยับฐานะ

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนลำดับชั้นทางสังคม (Social stratefication) ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนอีสาน ซึ่ง Mcleod and Monnemaker (1991) กล่าวว่าลำดับชั้นทางสังคมสะท้อนนัยแห่งความเหลื่อมล้ำในสังคม (Social ineqaulity) ได้เป็นอย่างดี เพราะความเหลื่อมล้ำเกิดจากการที่กลุ่มคนบางกลุ่มมีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และการกระจายของทรัพยากรไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม ซึ่งเห็นได้ทั้งระดับโครงสร้างของสังคม เช่น อำนาจ ความยากจน การไม่ได้รับโอกาส ถูกสร้างตราบาปทางสังคม และรวมถึงระดับการใช้ชีวิตประจำวันของคนชั้นล่าง

หมู่บ้านอีสานมีความเป็นพลวัตสูง (social mobility) คนอีสานเคลื่อนย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนเพื่อสร้างและเปลี่ยนฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและมีความทันสมัยทางด้านอัตลักษณ์นั้นเกิดมาจากปัจจัยภายในได้แก่ การมีแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ภายในของชาวบ้านที่ต้องการแสวงหาความก้างหน้า มั่งมีทางวัตถุและความทันสมัย (พัฒนา กิติอาษา 2557) อย่างไรก็ตาม งานภาคสนามของผู้เขียนพบว่าการขยับฐานะจากคนจนเป็นคนที่มีฐานะปานกลางหรือจากฐานะปานกลางเป็นฐานะที่รวยขึ้นค่อนข้างยากลำบากแม้ว่าการขยับฐานะและเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่สามารถกระทำได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมากเพราะกระบวนการโลกาภิวัตน์และเสรีนิยม เช่น การผลิตสินค้าป้อนตลาด มีการศึกษาสมัยใหม่และได้งานหลังจบการศึกษา การเป็นแรงงานในภาคเกษตรและบริการนอกภาคอีสานในอุตสาหกรรม การก่อสร้าง หรือภาคบริการทั้งในและต่างประเทศ หรือการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น

ชาวบ้านเล่าว่าการเลื่อนฐานะให้สูงขึ้นนั้นสามารถทำได้ในบางคน ซึ่งบุคคลที่สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น มีงานมั่นคง มิใช่ขายแรงงานไร้ฝีมือในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และ/หรือบริการ คนกลุ่มนี้มีเงินส่งกลับบ้านให้พ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่บางคนได้นำเงินมาซื้อที่ดินและเครื่องมือการเกษตรเช่น เครื่องสูบน้ำ หรือ ปั้มน้ำหรือการเจาะบ่อบาดาล จ้างแรงงาน และซื้อปุ๋ยเคมี เป็นต้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มากขึ้น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการทำการเกษตรสมัยใหม่ และสามารถส่งลูกหลานเรียนสูงขึ้นต่อไปได้อีก หรือบางครอบครัวที่มีฐานะปานกลางหากต้องการรวยขึ้นต้องมีจำนวนวัวควายจำนวนมากและเมื่อขายแล้ว ชาวบ้านได้เม็ดเงินเป็นก้อนและสามารถนำเงินมาพัฒนาความเป็นอยู่หรือซื้อที่ดินได้รวมทั้งส่งลูกให้เรียนสูงขึ้นได้ บทสรุปจากการสนทนากลุ่มย่อยในทุกหมู่บ้านล้วนมีความเห็นในทำนองเดียวกันคือการขยับฐานะจากปานกลางสู่ฐานะดีนั้นทำได้ค่อนข้างยาก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำได้

สำหรับคนจนนั้นพบว่าพวกเขามีโอกาสน้อยมากในการขยับฐานะทางเศรษฐกิจเนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการเรียนต่อ การเข้าสู่กระบวนการทำงานต่างประเทศ การค้าขาย รวมทั้งการลงทุนทำการเกษตร การสร้างรายได้เพื่อเพีบงเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ เช่น การขายแรงงานต่างถิ่นในภาคเกษตร เช่นรับจ้างตัดอ้อยหรือเป็นแรงงานไร้ฝีมือในโรงงานรวมทั้งงานก่อสร้าง จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงค่อนข้างยากสำหรับคนจนที่สุดที่จะขยับฐานะขึ้นมาเป็นคนฐานะปานกลางหรือฐานะดี

อีสานใหม่” กับ “การดำรงอยู่ของความเหลื่อมล้ำ”

แม้ว่าสังคมอีสานได้รับการอธิบายโดยภาพรวมว่าเป็นสังคมที่ก้าวเข้า “สู่วิถีอีสานใหม่”ดังที่พัฒนา กิติอาษา (2557) อธิบายว่า คนอีสานมีแรงผลักดันภายในสำหรับสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆ เพื่อความก้าวหน้าทันสมัย  ไม่ล้าหลัง คนอีสานมีการตื่นตัวทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองและมีจินตนาการใหม่ๆเกี่ยวการดำรงชีวิต มีทักษะความสามารถที่ตอบสนองต่อความต้องการของโลกาภิวัตน์ คนอีสานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมใหม่ๆโดยเฉพาะการมีประสบการณ์ข้ามชาติ ยกตัวอย่าง การย้ายถิ่นทำงานต่างประเทศของแรงงานอีสานเพื่อสร้างฐานะและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและมีความทันสมัย คนอีสานกลุ่มนี้มีแรงผลักจากภายในการมีแรงปรารถนาที่ซ่อนอยู่ภายในของชาวบ้านที่ต้องการแสวงหาความมั่งมีทางวัตถุและความทันสมัย

ผู้เขียนมิได้ปฎิเสธข้อวิเคราะห์ข้างตนของพัฒนาเรื่องการก้าวสู่วิถีอีสานใหม่ข้างต้น แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จริงระดับครอบครัวและชุมชนที่มาจากงานภาคสนามของผู้เขียนและทีมศึกษา กลับพบว่าในยุคก้าวสู่ “วิถีอีสานใหม่” นี้ เรายังเห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมยังปรากฏเห็นชัดเจน ซึ่งในบทความนี้ได้ใช้ตัวชี้วัดความเหลื่อมทั้งระดับประเทศ ระดับภาค และระดับครัวเรือน ที่พบว่าความเหลื่อมล้ำในภาคอีสานแทบมิได้ลดน้อยถอยลงไปเลยตลอดช่วง25 ปีที่ผ่านมา (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2558) แม้ว่าคนอีสานได้ประโยชน์จากการที่รัฐได้เปิดพื้นที่การพัฒนามายาวนานเช่น การเปิดสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้อีสานกลายเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจนับแต่สงครามเย็นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา คนอีสานมีโอกาสพัฒนาและปรับปรุงความเป็นอยู่และศักยภาพในการพัฒนาตัวเองและครอบครัว อีกทั้งในช่วง 20 กว่าปี ทีผ่านมากระบวนโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมได้เปิดประตูให้คนอีสานก้าวออกจากสังคมเกษตรเพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาศักยภาพของตนเอง มีโอกาสปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ สร้างทักษะด้านฝีมือแรงงานและประสบการณ์แบบสมัยใหม่ในต่างถิ่นต่างแดน แต่การพัฒนาเหล่านี้และโลกาภิวัตน์ก็ไม่มีพลังมากพอที่ลดจะช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของคนส่วนใหญ่ภายในชุมชนคนอีสานลงไปได้อย่างที่คาดไว้ซึ่งเป็น หากมีเพียงคนส่วนน้อยในหมู่บ้านที่ได้ประโยชน์จากการข้ามแดน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่พวกเขาจำนวนมากได้ออกมาเรียกร้องทางการเมืองผ่านการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนและในพื้นที่การเมืองรูปแบบต่างๆมากกว่าภาคอื่นๆในประเทศไทยโดยเฉพาะประเด็นนโยบายการจัดการทรัพยากรตลอด30กว่าปีที่ผ่านมา (ประภาษ ปิ่นตบแต่ง 2541)

 

อ้างอิง

ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2541) การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจนและประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก.

พัฒนา กิติอาษา. (2557) สู่วิถีอีสานใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2557) รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ในhttp://www.nesdb.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?nid=2669 เข้าใช้ข้อมูล วันที่ 15 มิถุนายน 2559.

Hewison, K. (2013) Considerations on inequality and politics in Thailand. Democracy. 21(5): 846-866. DOI:10.1080/13510347.2014.882910 เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 16 มิถุนายน 2559.

Manorom, K and David Hall. (2008) Water Poverty and Livelihoods Si Sa Ket Province, Northeastern Thailand Stockholm Environment Institute. Bangkok.

Mcleod, J and Nonnemaker, J.M. (1999) Social stratification and inequality in Handbook ofsociology of mental health, Pp. 321-344, edited by Carol Aneshensel Jo C Phelan, Kluwer academics, New York, Prenum publishers. DOI:10.1007/0-387-36223-1_16.เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 16 มิถุนายน 2559.

 



[1]นักวิชาการผู้มีความคิดก้าวหน้าและเสนอมุมมองใหม่ๆทางวิชาการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของสังคมอีสานกับสังคมโลกผ่านงานเขียนหลากหลายประเด็นที่โดดเด่นได้แก่แรงงานอีสานในประเทศสิงคโปร์ มวยไทย ความเชื่อและศาสนา การเปลี่ยนแปลงสังคมอีสาน รวมทั้งการตีความหมายใหม่ๆของวัฒนธรรมอีสานเช่นหมอลำซิ่งและลิเก เป็นต้น

[2] เส้นความยากจน (Poverty line ) เป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของปัจเจกบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าบริการที่จำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งบุคคลที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจนจะถือว่าเป็นคนจน (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2557:2) ซึ่งในปี 2557 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเท่ากับ 2,467 บาท หากคนใดมีรายได้ต่ำกว่า 2,467 (ในปีพ.ศ. 2557) ถือว่ายากจน (http://social.nesdb.go.th/SocialStat/StatReport_Final.aspx?reportid=854&template=2R1C&yeartype=M&subcatid=59) เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 20 มิถุนายน 2559 และแต่ละปีระดับรายได้ต่อคนต่อเดือนไม่เท่ากัน

[3] http://www.worldbank.org/en/country/thailand/overview เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 18 มิถุนายน 2559

[4] สัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) หรือสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้  เป็นตัวชี้วัดความไม่เท่าเทียมที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด  เป็นตัวที่ใช้อธิบายในกลุ่ม Lorenz Curve  ค่าสัมประสิทธิ์จีนีถูกกำหนดจากพื้นที่ระหว่างเส้นLorenz Curve กับเส้นการกระจายรายได้สมบูรณ์  หารด้วยพื้นที่ใต้เส้นทะแยงมุมทั้งหมด   สัมประสิทธิ์จินี  จะมีค่าตั้งแต่  0 ถึง 1 โดยหากมีค่าเข้าใกล้ศูนย์จะยิ่งดี   คือทุกคนมีรายได้เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ หากค่าใกล้กับ 1 แสดงว่าคนในสังคมมีความเหลื่อมล้ำในรายได้สูงมาก (อ้างในhttp://www.mof.go.th/home/eco/index_economicwordlist.htm เข้าใช้ข้อมูลวันที่ 17 มิถุนายน 2559

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: