ดึงจีนร่วมทุนโครงการทวายระยะแรก สร้างถนน 4 เลน-ท่าเรือกว่า 3 หมื่นล้าน

9 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3795 ครั้ง


	ดึงจีนร่วมทุนโครงการทวายระยะแรก สร้างถนน 4 เลน-ท่าเรือกว่า 3 หมื่นล้าน

เผยกลุ่มพันธมิตรจีนจะเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโครงการทวายในระยะแรก (Initial Phase) ได้แก่ ถนน 4 เลน วงเงินลงทุนประมาณ 13,500 ล้านบาท ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.)  จากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก (ที่มาภาพ: maritimenews.id)

9 มี.ค. 2559 สำนักข่าวอินโฟเควส รายงานว่านายสมเจตน์  ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมียนทวาย อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด (MIE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) กับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) เปิดเผยว่า นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ ITD ได้พาพันธมิตรจีนที่รวมตัวเป็นกลุ่มคอนซอเทียมทั้งจากรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนของจีน อาทิ บริษัท ไชน่าเรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CREC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน , King Trillion เอกชนของจีน เป็นต้น เข้าพบกับคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Committee :DSEZ) ของเมียนมาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มพันธมิตรจีนจะเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโครงการทวายในระยะแรก (Initial Phase) ได้แก่ ถนน 4 เลน วงเงินลงทุนประมาณ 13,500 ล้านบาท ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.)  จากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก จากเดิมจะสร้างถนน 2 เลน วงเงิน 4,500 ล้านบาท  นอกจากนี้จะลงทุนท่าเรืออีก 2 แห่งจากปัจจุบันมี 1 แห่ง โดยใช้วงเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการเริ่มสร้างภายในปลายปี 59

ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งขณะนี้ได้ทำการปรับพื้นที่ส่วนของนิคมฯเฟสแรกไปแล้ว 51 แปลง หรือ 180 เอเคอร์ และทำการก่อสร้างอาคารพักอาศัย 5 ชั้นของผู้ที่ทำงานในนิคมฯหลังแรกเสร็จแล้ว 90% ซึ่งจะเปิดจองให้ผู้ประกอบการเข้าจองพื้นที่นิคมฯได้ทันที และสามารถเข้าใช้งานในพื้นที่ภายในปลายปี 59

เมื่อ 5 ส.ค. 58  ITD และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศเมียนมาร์ ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการทวายระยะแรกกับ DSEZ เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค โดยปัจจุบันมีท่าเรือเล็ก  โรงไฟฟ้าขนาด 5-15 เมกะวัตต์ ที่ใช้ก๊าซและดีเซล อาคารที่พักอาศัย (Township) โดยสัญญาสัมปทานทั้งหมดมีอายุ 50 ปี และขยายเวลาได้อีก 25 ปี มีเนื้อที่ 27 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) หรือประมาณ 16,875 ไร่ โดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะแบ่งเป็น 4 แปลง ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระยะแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสมเจตน์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวายระยะแรกปีละ 1,500 - 2,000 ไร่ และคาดว่าจะขายพื้นที่ได้ทั้งหมดภายใน 8 ปี โดยบริษัทจะเน้นลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในเชิงการผลิต (Meterial Base) ซึ่งน่าจะไปได้ดี และเชิญชวนบริษัทคนไทยเข้ามาขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยขณะนี้เชิญชวนบริษัทในกลุ่มธุรกิจก๊าซ ซึ่งไม่ใช่มาจากกลุ่มปตท.  (PTT) , กลุ่มบมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิล กลุ่มอุตสากหรรมแปรรูปอาหาร และกลุ่มสิ่งทอ ซึ่งสองกลุ่มหลังจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี GSP และยังมีแรงงานมากในเมียนมาร์

โดยขณะนี้มีเอกชนไทย 1 รายบริษัท วีเอสไอ ยูเนี่ยนไทย จำกัด ได้เซ็นสัญญาซื้อพื้นที่นิคมฯเป็นรายแรกแล้ว  นอกจากนี้ ยังมองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเมียนมาร์ น่าจะเป็นการเปลียนแปลงในทางบวก ซึ่งจะเห็นในเร็วๆนี้ และไม่น่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคกับโครงการทวาย

"เราต้องจับลูกค้า 10 รายให้ได้ภายใน 1 ปีเศษ เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าต้นน้ำในเชิงการผลิต ต้องอาศัยคนไทย ก็เชิญชวนกันอยู่"  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมียนทวายฯ กล่าว

ด้านนายสมชัย เอี่ยมอิ่มจิตต์ เจ้าของกิจการ บริษัท วีเอสไอ ยูเนียนไทย จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจห้องเย็นในสมุทรสาคร และ ระนอง กล่าวว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย 10 ไร่แล้ว และคาดว่าจะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก เพื่อเข้ามาลงทุนธุรกิจห้องเย็น และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้มองเห็นศักยภาพเมืองทวาย เพราะเป็นแหล่งสัตว์น้ำจำนวนมาก แรงงานก็มีมาก และสามารถส่งออกไปยุโรปได้เพราะยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี GSP

ทั้งนี้ โครงการระยะแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะเป็นฐานการผลิตใหม่ของผู้ประกอบการขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดเบา ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยจะเป็นอุตสาหกรรมในการส่งออกทางทะเลสูมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน และสามารถเชื่อมโยงไปยัง Eastern Seabord สู่ทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ผู้ประกอบยังได้ประโยชน์สิทธิ GSP จากประเทศในกลุ่มยุโรป

ขณะที่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายทั้งหมดที่มีพื้นที่ 196.5 ตร.กม. หรือ  122,812 ไร่ (Full Phase) ก็กำลังเดินหน้า โดยเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่ายจากฝ่ายญี่ปุ่น ไทย และเมียนมาร์ จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า และจะมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักเข้ามา ได้แก่ โรงงานปิโตรเคมี โรงงานถลุงเหล็ก เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการนี้ทาง ITD ได้ก่อสร้างบ้านหลังใหม่รองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 10 หมู่บ้าน จำนวน 2,200 ครัวเรือน โดยโครงการทวายระยะแรก กระทบไป 1 หมู่บ้าน 100 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ได้สร้างบ้านรองรับไว้แล้ว 480 ส่วนที่เหลือก็ทยอยก่อสร้างระหว่างรอแผนรัฐบาลเมียนมาร์อนุมัติแผนโยกย้ายหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: