อาชีพสุดเสี่ยง 'แรงงานบนเรือประมง' ถูกหลอก งานหนัก เฆี่ยนตี ไม่ได้ค่าแรง

ทีมข่าว TCIJ : 9 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 8203 ครั้ง

 

แรงงานบนเรือประมง เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความเสี่ยงที่สุด ก่อนรัฐเข้มงวดพบสารพันปัญหา ทั้งเหยื่อค้ามนุษย์ สภาพการทำงานหนัก การละเมิดสิทธิ์อย่างรุนแรง แต่หลังรัฐเข้มงวดเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการอ่วม ยอมหยุดกิจการดีกว่าเพิ่มต้นทุน เผย เตรียมลงทุน ‘พม่า-กัมพูชา’ ขูดรีดแรงงานที่ต้นทางดีกว่า

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมประมงสมัยใหม่ของไทยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกที่มีนโยบายด้านการประมง รัฐบาลไทยได้เน้นการเพิ่มผลผลิตปริมาณสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในประเทศ โดยระบุว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก มีการส่งเสริม เร่งรัดการเพิ่มผลผลิตปริมาณสัตว์น้ำ รัฐบาลไทยยังได้รับความร่วมมือและสนับสนุนทางวิชาการจากสาธารณรัฐเยอรมัน และในช่วงนั้นได้มีการนำเอาเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้ (Otter board trawls) เข้ามาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรมประมงของไทยเลยทีเดียว

รวมทั้งมีการค้นพบแหล่งทำการประมงทะเลใหม่ ๆ ในน่านน้ำนอกอาณาเขตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนทำการประมงทะเลในภาคเอกชน เปลี่ยนจากการใช้เครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพและต้องใช้แรงงานคน มาเป็นการประมงพาณิชย์ที่ลงทุนสูง ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการค้นหาฝูงปลาและจับสัตว์น้ำทะเล ส่งผลให้เรือประมงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งขนาดและกำลังแรงม้าของเครื่องยนต์ สามารถออกทำการประมงทะเลห่างจากฝั่งและน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น จนประเทศไทยติดหนึ่งในสิบของประเทศที่มีผลผลิตด้านการประมงสูงสุดของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา

 

'เรือกิตติขจร' นับเป็นเรือประมงทะเลลำแรกของไทยในการสำรวจหาแหล่งประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปลาหน้าดิน บริเวณห่างฝั่งไกล ๆ ในอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ นอกเกาะบอร์เนียว และการสำรวจทางสมุทรศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นเรือที่บุกเบิกการประมงอวนลากหน้าดินในบริเวณอ่าวไทย มีหน้าที่สำคัญในการฝึกอบรม ชาวประมง นิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยเริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2505 ซึ่งในปีเดียวกันนี้กรมประมงได้จัดตั้งหน่วยสำรวจแหล่งประมง (Exploratory Fishing Unit) ในสังกัดกองสำรวจและค้นคว้าขึ้น มีหน้าที่และภารกิจสำคัญ คือ การบุกเบิกและสำรวจค้นหาแหล่งทำการประมงใหม่ ๆ ทั้งในอ่าวไทย ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย (ที่มาภาพ: fisheries.go.th)

จาก 'แรงงานอีสาน' ถึง 'แรงงานข้ามชาติ'

ในอดีต แรงงานที่เข้ามาทำงานประมงทะเลส่วนใหญ่ เป็นแรงงานในท้องถิ่นที่ว่างจากฤดูกาลทำงานในภาคเกษตรกรรม แต่เนื่อง จากสภาพการทำงานหนักและเสี่ยงอันตราย ต่อมาจึงไม่เป็นที่นิยมของแรงงานในท้องถิ่น เกิดการขาดแคลนแรงงานในเขตที่มีการทำประมงอย่างหนัก ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่องประมงทั้งระบบ ผู้ประกอบการต่างแก้ไขปัญหาด้วยการหาแรงงานนอกท้องถิ่นเข้ามาทดแทน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน เพราะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย มีความขยัน อดทน กลายเป็นแรงงานที่มีความสำคัญต่อการทำประมงทะเลของไทย

ปี พ.ศ. 2533 พายุเกย์ได้สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมประมงของไทยเป็นอย่างยิ่ง ลูกเรือประมงที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นลูกเรือประมงอีสาน ทำให้ชาวอีสานมีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออาชีพลูกเรือประมง ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการภายในประเทศ ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการประกอบอาชีพหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานประมงอีสานเริ่มลดลง จนเกิดความขาดแคลนแรงงานประมงไทยในกิจการประมงทะเลในเวลาต่อมา

จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงไทยในกิจการประมงทะเล ผู้ประกอบการจึงต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน โดยมีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในกิจการประมงทะเลของไทยมากที่สุด กลายเป็นกลุ่มแรงงานประมงข้ามชาติ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการประมงทะเลของไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งค่าจ้างแรงงานราคาถูก มีความขยัน อดทน และใช้ชีวิตเรียบง่าย สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานประมงไทยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ รัฐได้เปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้แรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2547  ซึ่งการประกาศใช้กฎระเบียบดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ ตัวอย่างเช่น ได้มีโอกาสรับสิทธิต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งมีสภาพความเป็นอยู่ตรงตามมาตรฐานที่รัฐได้กำหนดไว้ แต่การขึ้นทะเบียนยังมีข้อด้อยบางประการ กล่าวคือค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ภาคส่วนการผลิตที่มีความจำเป็นต้องใช้กลุ่มแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงนอกน่านน้ำพากันเพิกเฉยต่อการนำบรรดาลูกจ้างข้ามชาติมาขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

ต้นทุนของเรือประมง

จากการประมาณการโดยส่วนเศรษฐกิจการประมง กรมประมง ระบุว่าอุตสาหกรรมเรือประมงนั้นต้นทุนหลักก็คือ 'น้ำมัน' ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูงระหว่างร้อยละ 24-64 ของต้นทุนทั้งหมด เรือประมงที่ทำประมงเชิงพาณิชย์เป็นกลุ่มเรือประมงที่ใช้น้ำมันในการทำประมงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงอวนลาก อวนรุน และอวนล้อมจับ ซึ่งประมงอวนลากแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ อวนลากแผ่นตะเข้ และอวนลากคู่ ซึ่งในอดีตก่อนมีการเข้มงวดในอุตสาหกรรมประมงของไทยตั้งแต่ปี 2558 โดยก่อนหน้านั้นการทำประมงอวนลากแผ่นตะเข้ เป็นประเภทเครื่องมือประมงที่มีจำนวนมากที่สุดในน่านน้ำไทย มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือประมง สัดส่วนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการทำการประมงประเภทนี้อยู่ระหว่างร้อยละ 56.5 – 31.3 ของต้นทุนทั้งหมด ในขณะที่เรืออวนลากคู่ซึ่งใช้เรือสองลำทำการประมง มีสัดส่วนค่าน้ำมันอยู่ระหว่างร้อยละ 50.8 – 56.7 สำหรับการทำประมงอวนรุนได้มีการพัฒนาปรับปรุงทั้งขนาดและประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำทำให้ใช้น้ำมันค่อนข้างมาก สัดส่วนค่าน้ำมันอยู่ระหว่างร้อยละ 51.6 – 65.9 ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนอวนล้อมจับเป็นการทำประมงที่ใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยน้อยกว่าเครื่องมือชนิดอื่นที่มีขนาดเดียวกัน สัดส่วนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นระหว่างร้อยละ 24.8 – 29.6 ของต้นทุนทั้งหมด การทำประมงชนิดนี้ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างแรงงานลูกเรือประมงซึ่งอยู่ระหว่างร้อยละ 37.8 – 45.5 ของต้นทุนทั้งหมด

 

ธุรกิจค้ามนุษย์-หลอกลวง ก่อนลงเรือ

บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินข่าวคราวการหลอกคนต่างด้าวไปขึ้นเรือประมงด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เพราะการจ้างแรงงานข้ามชาติแบบถูกกฎหมายนั้นผู้ประกอบการมักจะมองว่าใช้ต้นทุนมากเกินไป

ผู้ประกอบการเรือประมงบางราย จึงหันมาแสวงหาประโยชน์กับแรงงานเป้าหมายกลุ่มใหม่ ซึ่งจากเดิมเคยเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานสมัครใจเพียงกลุ่มเดียว ไปสู่กลุ่มผู้ชายทั่วไปโดยไม่คำนึงว่าจะสมัครใจหรือไม่ ไม่สนใจเรื่องอายุเฉลี่ยของแรงงาน หนำซ้ำไปกว่านั้น ยังมีการเสาะหาแรงงานที่มีปัญหาทางจิตหรือเป็นคนเร่ร่อน เพื่อนำไปทำงานบนเรือประมงอีกด้วย ทั้งนี้วิธีการแสวงหาแรงงานแบบผิดกฎหมายและเข้าข่าย ‘การค้ามนุษย์’ นี้ก็ได้แก่ การสร้างเครือข่ายกับกลุ่มคนในสายอาชีพต่าง ๆ ให้เป็นนายหน้า เช่น อดีตลูกเรือประมงด้วยกันเอง คนในหมู่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีหลากหลายเทคนิควิธีการ เช่น การรับปากด้านรายได้เกินจริง หรือทำทีเข้ามาสนทนาเพื่อตีสนิท ล่อลวงผู้เสียหายด้วยการใส่ยาสลบในอาหารและน้ำดื่ม หรือใช้อาวุธข่มขู่ เป็นต้น จากนั้นก็จะนำตัวไปกักขังเพื่อรอการขายต่อให้ผู้ประกอบการเรือประมง โดยค่าตอบแทนที่นายหน้าจะได้รับแต่ละครั้ง คือหลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อผู้ใช้แรงงานหนึ่งคน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการก็มักจะหักค่านายหน้านี้จากค่าแรงของแรงงานประมงเหล่านั้น หรือบางครั้งไม่มีการจ่ายค่าแรงให้กับคนงานที่ถูกหลอกมาเลย การใช้แรงงานจากการค้ามนุษย์บนเรือประมงนี้ส่วนใหญ่ จะนำออกไปจับสัตว์น้ำในน่านน้ำต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือไกลกว่านั้น เป็นระยะเวลาหลายปี นอกจากนี้ยังพบผู้เสียหายบางคนถูกขายต่อให้กับเรือประมงลำอื่น หรือบางคนก็ถูกทิ้งไว้ตามเกาะต่าง ๆ ด้วย

ประสบการณ์ที่ยากจะลืมของอดีตแรงงานบนเรือประมง

งานบนเรือประมง ถือว่าเป็นงานที่เสี่ยงที่สุดอาชีพหนึ่ง (ที่มาภาพ: huffingtonpost.com)

Michael Largo นักเขียนผู้รวบรวมสถิติการตายของคนอเมริกัน ระบุว่าเรือประมงมีอัตราการตายสูงกว่ากิจกรรมทางน้ำอื่น ๆ คร่าชีวิตคนอย่างน้อยวันละ 70 คนในสหรัฐฯ ทั้งนี้ชาวประมงเสียชีวิตมากกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ 20-25 เท่าตัว ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมประมงนั้นมีความอันตรายมากเพียงใด เพราะแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำประมงสูงสุดประเทศหนึ่ง ก็ยังมีความสูญเสียมากกว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

สำหรับประเทศไทยนั้น ในเดือน พ.ค. 2559 ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่น สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยข้อมูลที่ทำการรวบรวมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สำรวจข้อมูลสถานการณ์แรงงานภาคประมงทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติ ตามตัวชี้วัดด้านแรงงานบังคับของ ILO โดยสำรวจแรงงานทั้งหมด 596 คนในจังหวัดสมุทรสาคร สงขลา ระนอง และระยอง พบว่าแรงงานร้อยละ 66.9 ต้องทำงานติดต่อกันนานกว่า 17-24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลาและการชดเชยวันหยุด อีกทั้งยังพบการถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากไม่มีเอกสารประจำตัว หรือถูกยึดเอกสารโดยนายจ้าง และนายจ้างไม่พาไปจดทะเบียน ร้อยละ 72.1 พบสภาพการทำงานและความเป็นอยู่เลวร้าย น้ำดื่มและอาหารไม่เพียงพอ ร้อยละ 31.6 ค้างจ่ายค่าจ้างร้อยละ 27.6

สภาพแรงงานประมงและที่คุมขังตามเกาะต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย (ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Thapanee Ietsrichai)

นอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค. 2558  ก็มีกรณีพบคุกกักขังแรงงานและหลุมฝังศพจำนวนมาก บนเกาะต่าง ๆ ตามหมู่บ้านประมงในเขตท่าเรือของเมืองอัมบน, ตวล, เบนจิน่า และเมอร์รูเก้ ในแถบหมู่เกาะโมลุกกะ ในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย (อ่านเพิ่มเติม: เปิดโปงขุมนรกแดนอิเหนา ฝันร้ายของลูกเรือประมงไทย ติดคุก-โดนซ้อม-ตาย, สำนักข่าวชายขอบ) ที่เป็นข่าวใหญ่กระตุ้นให้มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเคยมีโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานบนเรือประมง ‘ประภาสนาวี’ ที่เสียชีวิตรวมจำนวนทั้งสิ้น 34 คนขณะปฏิบัติงานนอกน่านน้ำไทย เมื่อปี 2549 อีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม: ฤาชีวิตคนแค่ผักปลา ... การเสียชีวิตของลูกเรือประมงนอกน่านน้ำทะเลไทย, สำนักข่าวประชาไท)

 

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจบนเรือประมง

อุปกรณ์ทำโทษ ‘แส้หางกระเบน’ ยาวประมาณ 2 เมตร ที่ไต้ก๋งเอาไว้ควบคุมแรงงานประมงด้วยการเฆี่ยนตี

อดีตแรงงานประมงที่ให้ข้อมูล TCIJ  ทำให้เห็นภาพการใช้อำนาจ ตำแหน่ง หน้าที่ รายได้กำกับลูกเรือประมงไว้ดังนี้ (ตัวเลขรายได้เป็นการประเมินค่าแรงก่อนการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อปี 2554) เรือประมงขนาดกลางลูกเรือรวมไต้ก๋ง 27 คน  จะมีไต้ก๋ง 1 คน (ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป) ไต้ก๋งมีรายได้มากกว่า 50,000  บาทต่อเดือน รวมทั้งได้เปอร์เซ็นต์จากการหาปลาแต่ละเที่ยว / นายท้าย 1 คน รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ผู้ช่วยนายท้าย 2 คน รายได้คนละ 6,000-9,000 บาท / เอ็นจิเนียร์ 1 คน รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ผู้ช่วยเอ็นจิเนียร์ 2  คน รายได้คนละ 6,000-9,000 บาท / หัวหน้าคนอวน 1 คน รายได้ 25,000 บาทต่อเดือน โดยได้เปอร์เซ็นต์จากการหาปลาแต่ละเที่ยวประมาณ 2-3% / คนทำครัว 1 คน รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน / แรงงานประมง 18 คน รายได้  5,000 บาทต่อเดือน มีการสัญญาก่อนจ้างว่าจะให้เปอร์เซ็นต์จากการหาปลาแต่ละเที่ยวประมาณ 1% แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีใครได้รับรายได้ส่วนนี้

ทั้งนี้ ไต้ก๋งจะเป็นผู้ที่มีอำนาจที่สุดบนเรือ สั่งลงโทษและชี้เป็นชี้ตายคนบนเรือ เนื่องจากสามารถควบคุมเรือได้ และ พบว่าตำแหน่งนายท้าย หากสั่งสมประสบการณ์มากพอก็สามารถที่จะเลื่อนระดับตนเองไปเป็นไต้ก๋งได้ ลูกเรือที่เป็นแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ มักม่ค่อยทะเลาะเบาะแว้งกันมากนัก การทำร้ายร่างกายใด ๆ บน เรือนอกจากไต้ก๋งแล้ว พบว่าบริษัทต้นสังกัดเรือประมงยังมีการจ้าง‘อันธพาลมืออาชีพ’ เอาไว้โดยเฉพาะ สำหรับการซ้อมตีลูกเรือประมงที่ไม่เชื่อฟัง และมีการควบคุมตัวไปกักขังตามเกาะต่าง ๆ โดยไต้ก๋งจะเป็นผู้วิทยุเรียกอันธพาลเหล่านี้มายังเรือ หากต้องการแสดงอำนาจควบคุมคนงานบนเรืออีกขั้นตอนหนึ่ง

 

การใช้แรงงานทาสบนเรือประมง แรงงานมักถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและถูกบังคับใช้แรงงานหนัก โดยเฉพาะบนเรือประมงที่หาปลาในน่านน้ำนอกประเทศ ผู้ที่ต่อต้านหรือป่วยจนไม่อาจทำงาน จะถูกไต้ก๋งเรือกระทำทารุณ ทั้งใช้แส้หางกระเบนเฆี่ยนตี รวมถึงถูกซ้อมและถูกช็อตด้วยไฟฟ้า โดยแรงงานบางส่วนถูกจับขังหรือต้องหลบหนีไปซ่อนตัวในป่าตามบนเกาะ

ธนพล ธรรมรักษา อดีตลูกเรือประมงเหยื่อการค้ามนุษย์แรงงานทาส ระบุกับ TCIJ ว่าการควบคุมบนเรือประมงที่เขาเคยพบเห็นมานั้น พบว่ามีการทำอย่างเป็นระบบ การทำร้ายร่างกายนอกจากไต้ก๋งเรือแล้ว บริษัทฯ ยังจ้างอันธพาลไว้โดยเฉพาะสำหรับการทำร้ายลูกเรือประมงที่ไม่เชื่อฟังและการควบคุมตัวไปกักขังตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย

การใช้แรงงานทาสบนเรือประมง แรงงานมักถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและถูกบังคับใช้แรงงานหนัก โดยเฉพาะบนเรือประมงที่หาปลาในน่านน้ำนอกประเทศ ผู้ที่ต่อต้านหรือป่วยจนไม่อาจทำงาน จะถูกไต้ก๋งเรือกระทำทารุณ ทั้งใช้แส้หางกระเบนเฆี่ยนตี รวมถึงถูกซ้อมและถูกช็อตด้วยไฟฟ้า โดยแรงงานบางส่วนถูกจับขังหรือต้องหลบหนีไปซ่อนตัวในป่าตามบนเกาะ

อดีตลูกเรือประมงชาวพม่า เหยื่อการค้ามนุษย์ สูญเสียอวัยวะจากการทำงาน

Tun Lin  อีกหนึ่งอดีตลูกเรือประมงเหยื่อการค้ามนุษย์และแรงงานทาสชาวพม่า มีร่างกายทุพลภาพจากการทำงาน ระบุว่างานบนเรือประมงเป็นงานที่หนักและเสี่ยงอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบนเรือประมงมักจะไม่มีอุปกรณ์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปฐมพยาบาลอยู่เลย เมื่อประสบอุบัติเหตุ บ่อยครั้งที่แรงงานต้องรักษากันเองตามมีตามเกิด รวมทั้งถูกทิ้งไว้ตามเกาะต่าง ๆ หากทำงานไม่ได้ แทนที่จะนำไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล

ปัจจุบัน ธนพล และ Tun Lin เป็นแกนนำของสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ (Thai and Migrant Fishers Union Group -TMFG) ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและยกระดับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานทาสบนเรือประมง ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาแรงงานบนเรือประมงนั้น นอกเหนือจากกระบวนการการนำแรงงานขึ้นเรือประมงต้องไม่มีการหลอกหลวงและธุรกิจการค้ามนุษย์มาเกี่ยวข้องแล้ว เรือประมงต้องมีมาตรฐานบุคลากรและอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลที่ดีให้กับลูกเรืออย่างพียงพอ ในด้านรายได้ กผ้จะต้องมีการประกันรายได้ขั้นต่ำรวมทั้งทำสัญญาและปฏิบัติตามสัญญานั้นอย่างเคร่งครัด โดยระยะเวลาในการทำงานแต่ละครั้งจะต้องเหมาะสมด้วย

ด้าน สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ระบุว่าการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงและแรงงานเรือประมง นอกจากการดูแลให้มีการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนายหน้า และดูแลในเรื่องเงื่อนไขสภาพการจ้างงาน และมีสัญญาจ้างรวมทั้งมีหลักฐานการจ่ายค่าจ้างที่ชัดเจนในส่วนของแรงงานเรือประมง ให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างในตำแหน่งงานต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานที่ดี เชื่อว่าทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติก็คงจะยินดีทำงาน 

อดีตลูกเรือประมงที่ถูกกักขังที่เกาะ ในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันได้รวมตัวกันเป็นสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ Thai and Migrant Fishers Union Group (TMFG) ร่วมงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 และได้พูดคุยสนทนากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่ง TMFG ได้ร่วมลงนาม MOU ต่อต้านการค้ามนุษย์กับรัฐบาลด้วย (ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Thapanee Ietsrichai)

ไม่ใช่แค่ปัญหาไทย แต่เป็นปัญหาระดับอาเซียน

การ์ตูนรณรงค์ปัญหาการค้ามนุษย์บนเรือประมง จากประสบการณ์แรงงานกัมพูชาถูกหลอกไปลงเรือประมงยังประเทศมาเลเซีย (ที่มา: Radio Free Asia)

ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่าภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตสัตว์น้ำและสินค้าประมงหลักของโลก ในปี พ.ศ. 2555 อาเซียนมีผลผลิตจากภาคประมงมากถึงกว่า 39.6 ล้านตัน โดยคิดเป็นการจับสัตว์น้ำ 18.4 ล้านตัน และจากการเพาะเลี้ยง 21.2 ล้านตัน ยอดการผลิตสินค้าประมงของ 10 ประเทศอาเซียนรวมกัน คิดเป็นกว่าร้อยละ 21.7% ของการผลิตสินค้าประมงทั้งโลก หรือเป็นมูลค่ากว่า 45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมประเทศเวียดนามและกัมพูชา) ซึ่งการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงในภูมิภาคนี้พบว่า ส่วนใหญ่มีการจ้างงานค่าแรงต่ำและมีสภาพการทำงานที่เลวร้าย

แม้การเข้มงวดและการควบคุมด้านแรงงานประมงในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังคงพบแรงงานจากไทย กัมพูชา และพม่า ยังเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เพื่อทำประมงอวนลากและหาปลาในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียไปจนถึงทะเลจีนใต้ และแรงงานเหล่านี้มักไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพแรงงาน ใช้พาสปอร์ตในฐานะนักท่องเที่ยวลักลอบเข้าเมืองไปแทน ซึ่งบ่อยครั้งยังพบปัญหาการไม่จ่ายค่าแรง การลอยแพ รวมทั้งถูกทางการของทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียจับกุม

ทั้งนี้  TCIJ ได้สัมมภาษณ์ผู้ประกอบการเรือประมงรายหนึ่งที่เป็นสมาชิกของหอการค้า จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาระบุว่า การเข้มงวดของรัฐบาลไทยอันเนื่องจากแรงกดดันจากต่างประเทศ (อ่านเพิ่มเติม: ไทยเร่งทำแต้มสู้ ‘Tier3+ใบเหลืองEU’ จับค้ามนุษย์-ประมงอ่วม-แรงงานหาย) ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงหลายรายเลือกที่จะหยุดออกเรือ ซึ่งธุรกิจห้องเย็นและโรงงานแปรรูปของไทยในปัจจุบันนั้น พบว่าเริ่มมีการสั่งผลผลิตประมง เช่น ปลาทูน่า ปลาทู ฯจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว ทั้งนี้ธุรกิจประมงต่างมองว่าปัจจุบันการนำคนขึ้นเรือ (แรงงานประมง) นั้นมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากหากทำอย่างถูกกฎหมายทุกขั้นตอน ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงใน จ.สมุทรสาคร เริ่มออกไปประกอบธุรกิจยังประเทศพม่าและกัมพูชาแทนแล้ว เพราะสามารถใช้แรงงานพื้นถิ่นได้โดยตรง ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง และแน่นอนว่ากฎหมายแรงงานและด้านการประมงของทั้ง 2 ประเทศนี้ ก็ยังไม่เข้มงวดเท่ากับประเทศไทยในห้วงนี้

 

อ่าน 'จับตา': “ข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการทำประมงตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ"

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: