ข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการทำประมงตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

ทีมข่าว TCIJ : 9 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2879 ครั้ง


ในงานศึกษา 'การสร้างความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้าแรงงานทาสบนเรือประมง' ของ พฤฒ เอมมานูเอล ใบระหมาน ภาคนิพนธ์ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552 ได้สรุป 'ข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการทำประมงขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ [C188 - Work in Fishing Convention, 2007 (No. 188)]' ไว้ดังนี้

ข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการทำประมงได้รับการเห็นชอบระหว่างประเทศสมาชิก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2550 โดยมีจุดประสงค์เพื่อประกันสิทธิ และผลประโยชน์ที่ผู้ใช้แรงงานควรจะได้รับ เช่น สภาพการทำงานที่เหมาะสม การบริการ อาหาร ที่พัก ตลอดจนการคุ้มครองความปลอดภัย และประกันสุขภาพระหว่างการทำงาน รวมทั้งสิทธิในการรับการรักษาพยาบาล และสวัสดิการสังคม ทั้งนี้ขอบเขตของข้อตกลงดังกล่าว ครอบคลุมสิทธิ และผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานทุกคน และบังคับใช้กับเรือประมงเพื่อการพานิชย์ทุกประเภท ทั้งนี้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถขยายขอบเขตของการคุ้มครองแรงงานได้ในกรณีของเรือประมงที่มีความยาวตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไป (ข้อ 2) ข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับการทำประมงได้กำหนดไว้ว่า ผู้ใช้แรงงานต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ทว่าผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย (Competent authority) สามารถอนุญาตให้ผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทำงานบนเรือประมงได้ ในกรณีที่ผู้เยาว์คนดังกล่าวไม่ต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับอีกต่อไป หรืออยู่ในระยะเวลาของการฝึกงานในสาขาการประมง นอกจากนี้ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายสามารถอนุญาตให้ผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปซึ่งอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนทำงานบนเรือประมงได้ แต่ต้องมีการระบุประเภทของงาน เงื่อนไขของการทำงาน ตลอดจน ช่วงเวลาพักผ่อนไว้อย่างชัดเจน อนึ่งในกรณีของงานที่อาจจะกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย จิตใจและความรู้สึก ผู้ใช้แรงงานจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ห้ามมิให้ผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานบนเรือประมงในช่วงเวลากลางคืน (ข้อ 9) ระหว่างการทำงาน ผู้ใช้แรงงานจะต้องได้รับโอกาสพักผ่อนที่เพียงพอ และสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยและเพื่อสุขภาพ [ข้อ 13 (b)] โดยเรือประมงที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไปต้องมีจำนวนผู้ใช้แรงงานที่เพียงพอ ในกรณีที่เรือประมงออกทะเลนานกว่า 3 วัน ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับโอกาสในการพักผ่อนตามเวลาที่กำหนดไว้ดังนี้ 10 ชั่วโมงต่อวัน และ 77 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ [ข้อ 14 (a) และ (b)] ทั้งนี้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องทำสัญญาจ้างซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้ใช้แรงงาน โดยมีการระบุเงื่อนไขของการทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตที่เหมาะสมเอาไว้ล่วงหน้า ตลอดระยะเวลาที่ผู้ใช้แรงงานต้องใช้ชีวิตอยู่บนเรือประมง (ข้อ 20) ในส่วนของการรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงานประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องดูแลควบคุมให้มีการนำตัวผู้ใช้แรงงานกลับมายังภูมิลำเนา เช่น กรณีที่สัญญาจ้างซึ่งผู้ใช้แรงงานได้ทำไว้กับผู้ประกอบการเรือประมงสิ้นสุดลง ระหว่างระยะเวลาที่ผู้ใช้แรงงานคนดังกล่าวยังคงอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำตัวผู้ใช้แรงงานกลับมายังภูมิลำเนา ยกเว้นในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานได้กระทำผิดสัญญาจ้างเสียเองหากผู้ประกอบการเรือประมงปฏิเสธที่จะนำตัวผู้ใช้แรงงานกลับมายังภูมิลำเนา ประเทศเจ้าของสัญชาติของเรือประมงลำนั้น ๆ ต้องทำหน้าที่แทน หลังจากนั้นมีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายคืนจากผู้ประกอบการเรือประมง (ข้อ 21)

สำหรับค่าจ้าง ประเทศสมาชิกต้องออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างที่สม่ำเสมอให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เช่น การจ่ายเป็นรายเดือน เป็นต้น (ข้อ 23) นอกจากนี้ภายในกฎ ระเบียบ ต้องมีการระบุถึงคุณภาพ และขนาดที่พักภายในเรือประมง รวมทั้งมีการควบคุมให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม และสอดคล้องกับระยะเวลาของการทำงานบนเรือประมง โดยรายละเอียดภายในกฎระเบียบต้องระบุประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ (ข้อ 26) 1. ควบคุมการต่อเรือประมง หรือการแก้ไขดัดแปลง โดยต้องมีการสร้างที่พักบนเรือลำดังกล่าวด้วยเช่นกัน 2. ควบคุมที่พัก และห้องครัวให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยต่อสุขภาพ 3. ควบคุมให้มีการสร้างช่องระบายอากาศ เครื่องทำความร้อน เครื่องทำความเย็น ตลอดจนแสงสว่างที่เพียงพอภายในเรือประมง 4. ควบคุมระดับของเสียง และอัตราการสั่นสะเทือนไม่ให้อยู่ในระดับที่มากเกินไป 5. ควบคุมขนาด รูปร่าง ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งต่าง ๆ ภายในห้องโดยสาร ห้องอาหาร และในพื้นที่อื่น ๆ ของห้องพัก และ 6. ควบคุมให้มีการติดตั้ง ห้องส้วม ห้องน้ำ เครื่องทำน้ำร้อน และเครื่องทำน้ำเย็นในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานบนเรือประมง ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องดำเนินการควบคุมให้มีการกักตุนอาหาร และน้ำดื่มในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงควบคุมคุณภาพของอาหารและน้ำดื่มด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการเรือประมงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหาอาหารและน้ำดื่ม หรืออาจมีการคำนวณค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมกับเงินค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องมีการระบุเป็นเงื่อนไขในสัญญาจ้างอย่างชัดเจน (ข้อ 27)

เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องออกกฎ ระเบียบขึ้นมาควบคุมให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือเพื่อการรักษาพยาบาลในปริมาณที่เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้แรงงานบนเรือประมงแต่ละลำ รวมถึงบนเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไปด้วยเช่นกัน โดยอุปกรณ์ และเครื่องมือในการรักษาพยาบาลดังกล่าวต้องเพียงพอกับระยะเวลาของการใช้ชีวิตอยู่บนเรือประมง ทั้งนี้ต้องมีคำชี้แจงวิธีใช้อุปกรณ์และเครื่องมือดังกล่าวเป็นภาษาที่เอื้ออำนวยต่อการรับรู้ ตลอดจนสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ใช้แรงงานนอกจากนี้เรือประมงแต่ละลำต้องติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร เช่น วิทยุ ดาวเทียม เป็นต้น เพื่อใช้ติดต่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล จากผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่บนฝั่ง ในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยอย่างแสนสาหัส มีสิทธิขอรับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมบนฝั่งได้ (ข้อ 29 และข้อ 30) ถึงแม้ว่ากำลังอยู่ในอาณาเขตของต่างประเทศก็ตาม ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปในการรักษาพยาบาลแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในทะเล หรือบนฝั่งของต่างประเทศ โดยการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นดังกล่าว (ซึ่งรวมถึงค่าอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาล และค่านำตัวผู้ใช้แรงงานที่เจ็บป่วยกลับภูมิลำเนา) ต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเรือประมง (ข้อ 38 และข้อ 39) อนึ่งประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องจัดให้เรือประมงที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไป และออกไปทำงานนอกน่านน้ำ ไกลเกินกว่า 200 ไมล์ทะเล (โดยวัดจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต) เป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 วัน ต้องมีเอกสารซึ่งออกให้โดยผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย โดยเอกสารดังกล่าวมีอายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี (ข้อ 41) ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่าเรือประมงลำใดมีสภาพที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนไม่ก่อให้เกิดความปลอดภัยระหว่างการทำงานประเทศเจ้าของสัญชาติของเรือประมงลำดังกล่าวต้องดำเนินการตรวจสอบทันที โดยผู้ที่สามารถยื่นคำร้องต่อประเทศเจ้าของสัญชาติของเรือประมงได้ ได้แก่ ประเทศเจ้าของน่านน้ำที่เรือลำดังกล่าวได้เข้าไป ผู้ใช้แรงงาน สมาพันธ์แรงงาน และองค์การต่าง ๆ เป็นต้น (ข้อ 43)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: