กฟผ.เล็ง 2-3 พื้นที่ก่อสร้างคลัง LNG ลอยน้ำขนาด 5 ล้านตัน

10 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2217 ครั้ง


	กฟผ.เล็ง 2-3 พื้นที่ก่อสร้างคลัง LNG ลอยน้ำขนาด 5 ล้านตัน

กฟผ.เล็ง 2-3 พื้นที่ก่อสร้างคลัง LNG ลอยน้ำขนาด 5 ล้านตัน คาดที่ปรึกษาศึกษาแล้วเสร็จพร้อมเสนอ กพช. เดือนก.ย. 2559นี้ พร้อมเดินหน้าสร้างสายส่งไฟฟ้า 7,500 ล้านบาท รองรับโรงไฟฟ้าเครือกัลฟ์ ฯ5,000 เมกะวัตต์ (ที่มาภาพประกอบ: lngworldnews.com)

เว็บไซต์ energynewscenter.com รายงานว่านายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ลอยน้ำ หรือ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)มีมติสั่งให้ กฟผ.ดำเนินการภายใน 3 เดือน โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จต้นเดือน ก.ย. 2559 นี้ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาต่อไป

โดยในเบื้องต้นได้คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างคลัง FSRU แล้ว 2-3 พื้นที่ และกำลังศึกษาเกี่ยวกับเงินลงทุน ขนาดของเรือ และข้อปรับปรุงที่เกี่ยวข้อง โดย กพช. กำหนดให้ กฟผ.ศึกษาและรายงานกลับไปในวันที่  15 ก.ย. 2559 นี้  สำหรับคลัง FSRU สำหรับเก็บ LNG ดังกล่าว กฟผ.จะนำมาใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 3 ล้านตัน และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 2 ล้านตัน

นายกิจจา กล่าวด้วยว่า สำหรับการสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 5,000 เมกะวัตต์ ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด นั้น กระทรวงพลังงานได้สรุปให้ กฟผ.ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้าตามแผนต่อไป แม้กระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูลโรงไฟฟ้าดังกล่าวจากกระทรวงพลังงานจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากโรงไฟฟ้าขนาด 5,000 เมกะวัตต์สามารถเข้าระบบได้ตามแผนปี 2564 โดย โครงการสายส่งไฟฟ้าดังกล่าว อยู่ระหว่างการขอพิจารณาอนุมัติ จากคณะกรรมการ (บอร์ด) กฟผ. และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในปี 2560 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสร้างสายส่งดังกล่าว 7,500 ล้านบาท   

ส่วนแผนการลงทุนสายส่งไฟฟ้าใน 5 ปีนี้ (2559-2563) ของประเทศไทยนั้น กฟผ.จะใช้เงินลงทุน 6 แสนล้านบาท และอีก 10 ปีข้างหน้าจะใช้เงินลงทุนอีก 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงไฟฟ้ากับอาเซียนและรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกจำนวนมาก

สำหรับการลงทุนสายส่ง 6 แสนล้านบาทดังกล่าว กฟผ.จะกำลังพิจารณาทางเลือก 2 ทางคือ 1.การกู้ภายในประเทศ หรือ2. การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยนำโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 มาระดมทุน  หลังจากที่ผ่านมาได้ระดมทุนจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: