หวั่นอิทธิพลเอเยนต์ออนไลน์ข้ามชาติผูกขาดตลาดโรงแรมไทย

10 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 1889 ครั้ง


	หวั่นอิทธิพลเอเยนต์ออนไลน์ข้ามชาติผูกขาดตลาดโรงแรมไทย

เอกชนหวั่นอิทธิพลเอเยนต์ทัวร์ออนไลน์ข้ามชาติผูกขาดตลาดโรงแรมไทย โอดถูกบีบลงสมรภูมิแข่งตัดราคาเดือด ถูกเรียกคอมมิสชันเพิ่มเบ็ดเสร็จถึง 30% ต่อบุ๊กกิ้ง แลกการดันอันดับโรงแรมขึ้นหน้าแรกเว็บเพื่อสร้างโอกาสการขายจี้รัฐสร้างกลไกการแข่งขัน [ที่มาภาพประกอบ: geralt (CC0 Public Domain)]

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าแหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการโรงแรมไทย เปิดเผยว่าขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมไทย กำลังหวั่นวิตกถึงปัญหาการแข่งตัดราคาห้องพักที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการถูกบีบให้ต้องจ่ายค่าคอมมิสชันเพิ่ม กรณีขายห้องพักผ่านออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ หรือโอทีเอ จนอาจกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรม จากผลตอบแทนอัตราค่าที่พักที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากโรงแรมใดมีการบริหารจัดการไม่ดี อาจมีปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจได้ เป็นการซ้ำเติมปัญหาโรงแรมที่ปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงอยู่แล้ว จากมาตรการการปราบปราบขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาล

ทั้งนี้ การขายห้องพักผ่านโอทีเอนั้น โรงแรมจะต้องเสนอค่าห้องพักที่ลดแล้ว หรือราคา Best Available Rate ให้แก่โอทีเอ นำไปขายต่อผ่านเว็บไซด์ของโอทีเอนั้นๆ โดยหักเป็นค่าคอมมิสชันให้โอทีเอ เฉลี่ย 20 % ต่อ 1 บุ๊กกิ้ง หรือบางราย รวมไปถึงทราเวล เอเยนต์ ที่ดำเนินธุรกิจระดับโลก หรือแบบโกลบัล ดิสทริบิวชัน ซิสเต็มส์ -จีดีเอส เช่น โฮเทลเบด ดอท คอม ก็จะนำราคาที่โรงแรม โควตราคาขายให้เป็นพิเศษไปชาร์จเพิ่มอีก 20% เพื่อเสนอขายแก่ลูกค้า

แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ กรณีที่โอทีเอ 2 รายใหญ่ในตลาด คือ อโกด้าและบุ๊กกิ้ง ดอทคอม เปิดทางเลือกให้โรงแรมสามารถยกอันดับก้าวขึ้นสู่หน้าแรกหรือหน้า 2 (การทำ Ranking) ในเว็บไซต์ของโอทีเอนั้น ๆ ได้ โดยโรงแรมต้องจ่ายค่าคอมมิสชันเพิ่มอีก 5-10% ต่อบุ๊กกิ้ง ซึ่งหากโรงแรมใดใช้บริการ เบ็ดเสร็จต้องเสียค่าคอมมิสชันไม่ต่ำกว่า 25-30% ซึ่งถือว่าเป็นการคิดค่าคอมมิสชันที่สูงมากประกอบกับการขายห้องพักในระบบของโอทีเอ โรงแรมทุกแห่งจะเห็นการให้ราคาห้องพักของโรงแรมคู่แข่งในระบบ ขณะเดียวกันด้วยการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะโรงแรมต่าง ๆได้รับผลกระทบจากยอดจองห้องพักที่น้อยลง จากมาตรการการปราบปรามขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาล ก็ทำให้โรงแรมแข่งตัดราคากันเองผ่านระบบโอทีเอเพื่อแย่งลูกค้า ทำให้ราคาห้องพักของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ และยากต่อการควบคุม

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการขายห้องพักผ่านระบบโอทีเอข้ามชาติเหล่านี้ เป็นช่องทางหลักสำหรับธุรกิจโรงแรมไทย เนื่องจากโอทีเอ มีจุดเด่นและประสิทธิภาพในเรื่องของเทคโนโลยี ที่เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายทั่วโลก ยอดขายผ่านโอทีเอคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50 % หากเทียบกับการขายผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น ทราเวล เอเยนต์ หรือโฮลเซล ที่มีแนวโน้มลดจำนวนลงต่อเนื่อง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำธุรกิจผ่านโอทีเอ

“เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่โอทีเอเข้ามาทำตลาดกับโรงแรมในไทย เขาวิ่งหาโรงแรม คิดค่าคอมมิสชันตอนนั้นอยู่ที่ 10% ต่อบุ๊กกิ้ง แต่ตอนนี้โรงแรมต้องเป็นฝ่ายวิ่งหาโอทีเอ เพื่อให้นำโรงแรมเข้าไปขายผ่านโอทีเอได้จึงจะอยู่รอด เพราะคนนิยมจองผ่านโอทีเอ จากระบบการจองที่สะดวก และการันตรีกับลูกค้าได้ว่า จะได้ราคาที่ถูกและส่วนลดที่มากกว่าที่อื่น โดยวันนี้ค่าคอมมิสชันก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นเกือบ 25-30 % หากเลือกใช้ลูกเล่นต่าง ๆ ในการขายของโอทีเอที่เพิ่มขึ้นมา”

นอกจากนี้ต่อโอทีเอหนึ่งรายมีแบรนด์หลากหลาย อย่าง เอ็กซ์พีเดีย ก็มีแบรนด์ในมืออย่างโฮเทล ดอทคอม หรือแม้แต่แอร์เอเชีย โก ที่ขายห้องพักรวมตั๋วเครื่องบิน หรือการเข้าไปซื้อโอทีเอในหลายประเทศเข้ามารวมอยู่ในมือ ขณะที่การขายผ่านทราเวล เอเยนต์ทั่วไป หรือโฮลเซล ก็ได้ราคาไม่ดีเหมือนในอดีต เพราะทราเวล เอเยนต์ ก็เห็นราคาที่โรงแรมเสนอขายผ่านระบบโอทีเอต่าง ๆ ก็มาบีบให้โรงแรมขายห้องพักในราคาใกล้เคียงกัน

สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงแรมวิตกคือ โอทีเอรายใหญ่จับมือกันแล้วเรียกปรับเพิ่มค่าคอมมิสชันกับโรงแรมต่าง ๆ ขึ้นไปอีกก็จะแย่ เพราะวันนี้ก็จ่ายสูงอยู่แล้ว และการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น ยิ่งโอทีเอ ได้ค่าคอมมิสชันมาก เงินก็ไหลออกนอกประเทศมากตามไปด้วย ทั้งข้องใจว่ารัฐสามารถได้จัดเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ รัฐจึงควรเข้ามาดูปัญหานี้อย่างจริงจัง และควรสร้างกลไกให้โอทีเอแข่งขันกันเอง เพื่อลดค่าคอมมิสชันหรืออื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อโรงแรม ขณะเดียวกันก็ควรสร้างความร่วมมือ หรือกำหนดหลักการร่วมกันในองค์กรธุรกิจโรงแรม อาทิ การวางราคาขาย การจ่ายค่าคอมมิสชัน และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำกับโอทีเอ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือหากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 สั่งให้โอทีเอลดค่าคอมมิสชันลงมา แต่ด้วยความที่เป็นการค้าเสรี และมีการคิดค่าคอมมิสชันแบบนี้ทั้งโลก ก็ไม่แน่ใจจะทำได้

นางพิมพ์ปวีณ์ นพกิจกำจร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด เอ็กซ์พีเดีย ประเทศไทย กล่าวว่า การที่โรงแรมต่าง ๆ แสดงความสนใจที่จะใช้บริการเอ็กซ์พีเดีย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นเพราะโรงแรมต่าง ๆ ทราบดีโรงแรมสามารถขายห้องพักได้เข้าถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง ในหน้าร้านออนไลน์ที่เอ็กซ์พีเดียมีอยู่ โดยที่โรงแรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปทำการขาย และในการเสนอขายโรงแรม เอ็กซ์พีเดียมีระบบที่โรงแรมสามารถกำหนดราคาขายได้เอง โดยเราจะเข้าไปแนะนำการขายให้โรงแรมต่าง ๆ เพื่อให้ขายได้มากขึ้น เช่น การทำหน้าเว็บไซด์ให้ดูดี ซึ่งเอ็กซ์พีเดีย จะนำราคาที่โรงแรมเสนอขายให้เรา ไปปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 20% เพื่อเสนอขายลูกค้า ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งก็จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขายให้โรงแรม ภาระค่าใช้จ่ายของโรงแรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะหากโรงแรมอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน และเอ็กซ์พีเดีย ก็ไม่ได้เปิดให้โรงแรมทำ Ranking เหมือนโอทีเอบางราย เนื่องจากมองว่าเป็นการปิดเบือนตลาด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: