เทียบความเหลื่อมล้ำ'ทหารเกณฑ์-รด.' เผชิญอคติ ฝึกหนัก ยศต่ำ ออกรบก่อน

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ : 10 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 12925 ครั้ง

ราวเดือนเมษายนของทุกปี คือช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหารของชายไทย เป้าหมายหลักเพื่อเตรียมกำลังพลสำรองให้พร้อมรับมือต่ออริราชศัตรู  แต่หากไม่นับรวมความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้  กล่าวได้ว่าประเทศไทยพ้นจากสภาวะสงครามครั้งใหญ่ นับแต่ส่งกำลังเข้าร่วมในสงครามเวียดนาม  ทว่าพระราชบัญญัติกำลังพลสำรองที่ผ่านวาระไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558  นำมาสู่คำถามที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกำลังพลทหารมากขนาดนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ปัจจุบัน ประเทศไทยมีทหารกองหนุนอยู่ราว 12 ล้านคน

ความยากลำบากและการละเมิดสิทธิ์ทหารเกณฑ์จากครูฝึกและรุ่นพี่  ที่มีข่าวคราวถึงขั้นเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง กอปรกับความพรั่นพรึงที่จะต้องถูกส่งตัวไปประจำการในพื้นที่เสี่ยง เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ชายไทยจำนวนมากที่ถึงวัยเกณฑ์ทหาร หลีกเลี่ยงการเข้าประจำการด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่ขั้นตอนพื้นฐานที่สุดคือการสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (รด.)ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  หรือจ่ายเงินสินบนให้กับสัสสดีเพื่อให้ออกเอกสารรับรองโรคที่เข้าข่ายโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร  ซึ่ง TCIJ เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่าน ‘ทหารเกณฑ์’ความเหลื่อมล้ำในกองทัพ ชี้ระบบและเงินเอื้อลูกคนรวยรอดทหาร)

รด. VS ทหารเกณฑ์

พิจารณาเฉพาะการเรียน รด. ซึ่งแทบจะกลายเป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เหตุผลหลักของนักเรียนชายที่เข้าเรียน รด. คือ ไม่อยากเสี่ยงจับใบดำใบแดงเมื่อถึงคราวการเกณฑ์ทหาร  รวมถึงเพื่อให้แน่ใจว่าตนจะไม่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบกองทัพ และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ดังเช่นภาพการทำร้ายร่างกายพลทหารจนเสียชีวิต สำหรับนักศึกษาวิชาทหารโดยทั่วไปแล้วมีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าสำเร็จชั้นปีที่ 1 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี 6 เดือน ถ้าสมัคร ก็จะเป็นเพียง 1 ปี สำเร็จชั้นปีที่ 2 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือน ส่วนผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก

ในด้านหนึ่ง  กฎกติกาเหล่านี้เอื้ออำนวยลูกหลานชนชั้นกลางให้ไม่ต้องเป็นทหาร  หรือเป็นในระยะเวลาสั้น มากกว่าจะเอื้อลูกหลานชนชั้นล่าง หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือไม่มีโอกาสเรียนวิชาทหาร   งานวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง’ความเหลื่อมล้ำในการผลิตกำลังพลสำรองของกองทัพ’ เผยแพร่เมื่อปี 2557 โดย ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ยิ่ง ได้ศึกษาเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำในกระบวนการผลิตกำลังสำรองระหว่างนักศึกษาวิชาทหารและพลทหารกองประจำการ พบความเหลื่อมล้ำปรากฎชัดเจนด้วยกัน 3 ด้าน ตั้งแต่

  1. กระบวนการคัดเลือก เอื้อให้ผู้ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาและมีทุนทรัพย์มากพอที่จะเช้าเรียนหลักสูตร รักษาดินแดน  รอดพ้นจากการเป็นทหาร สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรการเรียนรักษาดินแดนประมาณปีละ 600 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกประมาณ 1,200 บาท ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายปลีกย่อย
  2. การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เมื่อเทียบระหว่างนักเรียน รด. และพลทหาร พบว่าการฝึกส่วนใหญ่ นักเรียน รด.จะเน้นการเรียนภาคทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ มีเป้าหมายเพื่อเป็นกองหนุนมากกว่าลงพื้นที่ประจำการหรือเป็นกองหน้า ขณะที่พลทหารกลับเน้นฝึกปฏิบัติกลางแจ้งมากกว่าและมีบทลงโทษทางวินัยที่เคร่งครัด  
  3. ความเหลื่อมล้ำในการบรรจุเป็นกำลังพลสำรอง แม้จุดมุ่งหมายของกระบวนการฝึกกำลังสำรองทั้งสอง ประเภทคือการบรรจุเข้ากองทัพในหน่วยกำลังสำรอง แต่เมื่อปลดประจำการแล้วนักเรียน รด. จะได้รับยศสิบเอก (ซึ่งจัดว่าเป็นนายทหารชั้นประทวน) ขณะที่พลทหารหรือทหารเกณฑ์ จะได้รับเพียงยศพลทหารลูกแถว กล่าวคือ  นักเรียน รด. ฝึกมาเพื่อเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเกณฑ์

 

รด.ได้แค่รอดเกณฑ์ทหาร  ครูฝึกระบุทหารเกณฑ์‘สั่ง’ง่ายกว่า

น้องชัช อาร์ม และเต่า อดีตนักเรียน รด. สะท้อนถึงการเรียนรักษาดินแดนว่า ไม่ได้ความรู้เรื่องวินัยทางทหารมากไปกว่าการฝึกแถว และกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งสามคนให้เหตุผลหลักที่เลือกเรียน รด.ว่า  นอกจากไม่ต้องการเสี่ยงที่จะถูกเกณฑ์ทหาร การเรียนรด. คล้ายกับไปพบเพื่อนต่างโรงเรียนและได้ออกค่าย  เหมือนไปเที่ยวต่างจังหวัด การฝึกปฏิบัติและทำโทษไม่ได้เข้มงวดมากนัก ส่วนใหญ่ครูฝึกจะเน้นขู่ด้วยวาจามากกว่าการลงโทษจริง

สอดคล้องกับความเห็นของครูฝึกนักศึกษาวิชาทหารรายหนึ่ง สะท้อนว่า ตนเคยเป็นอดีตทหารเกณฑ์มาก่อนจึงรู้ว่านักเรียน รด. ฝึกไม่หนักเท่าทหารเกณฑ์ นักเรียนส่วนใหญ่อายุยังน้อย ฝึกพอให้รู้บ้างเท่านั้น และหากจะไปทำสงครามก็จะเลือกพลทหารมากกว่าเพราะสามารถฝึกปฎิบัติออกรบได้จริง  และสั่งการง่ายกว่าพวกที่มีการศึกษาสูงอย่างนักเรียน รด.  ขณะที่ครูฝึกอีกรายกล่าวว่า  พลทหารส่วนใหญ่ที่มาจากการเกณฑ์ทหาร มักมาจากครอบครัวที่การศึกษาน้อยหรือไม่ได้รับการศึกษา  บางรายมีคดีติดตัว หรือเคยติดยาเสพติด ดังนั้นการฝึกทหารจึงเท่ากับเป็นการขัดเกลานิสัยให้กับบุคคลเหล่านี้กลับมาเป็นปกติ หรือ เปลี่ยนให้กลายเป็นคนดี  (อ่านเพิ่มเติมใน 'จับตา': "หลักสูตรการฝึกพลทหารกองประจำการ")

แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าทัศนคติของบุคลากรในกองทัพที่มีต่อทหารเกณฑ์และนักเรียน รด. จะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อรูปแบบการปฏิบัติต่อ รด.และทหารเกณฑ์ที่ต่างกันในการฝึก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพความยาก ลำบากและการฝึกปฏิบัติที่เข้มข้นของทหารเกณฑ์ รวมถึงการลงโทษที่รุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของกองทัพที่มีต่อพลทหารเหล่านี้ว่า จำเป็นต้องได้รับการขัดเกลา ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  ได้รวบรวมข้อมูลมรณะบัตร ย้อนหลัง 5 ปี จากกรมการแพทย์ทหารบก พบว่า  ในฤดูร้อนแต่ละปี จะพบทหารเกณฑ์เสียชีวิตจากโรคลมร้อนไม่ต่ำกว่าสิบนาย และคาดว่ายังเป็นการายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก 

 

นักวิชาการแนะโมเดลทหารอาสา ล้างอคติกองทัพต่อทหารเกณฑ์

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ปัจจุบัน พลทหารจากการเกณฑ์ส่วนใหญ่จะไม่ได้มาจากชนชั้นล่างหรือไม่ได้รับการศึกษาเสียทั้งหมด  หลายคนจบมหาวิทยาลัยสูงถึงระดับปริญญาโท เช่นพลทหารที่เคยบวชพระและถูกซ้อมระหว่างการฝึก แต่ทัศนคติของกองทัพยังมองทหารเกณฑ์เหล่านี้ว่ามาจากชนชั้นที่ด้อยการศึกษา ส่งผลให้การปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มที่จะปฏิบติด้วยความรุนแรง

ศ.ดร.สุรชาติ  วิเคราะห์ต่อว่า แม้ชายไทยส่วนใหญ่จะพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร เพื่อไม่ต้องเผชิญกับความลำบากระหว่างการฝึก แต่ยังมีชายไทยอีกจำนวนมากที่พร้อมเข้าเป็นทหารด้วยหวังว่า เมื่อปลดประจำการ กองทัพจะมอบอาชีพและรายได้ให้กับพวกเขา หรือปูทางให้เข้าสู่ระบบราชการในอนาคต

“ปัจจุบัน เราจะเห็นภาพของชายไทยจำนวนมากแสดงความจำนงค์เข้าเป็นทหารเกณฑ์ โดยเฉพาะที่มาจากครอบครัวชนชั้นล่าง เนื่องจากในด้านหนึ่งกองทัพคือแหล่งทรัพยากรของพวกเขา โดยเฉพาะความหวังว่าเมื่อเข้าประจำการแล้วจะได้รับการฝึกอาชีพ ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมาระลอกใหญ่แล้ว  ในสังคมตะวันตกอย่างสหรัฐฯ  ชนชั้นล่างจำนวนมากตบเท้าเข้าสมัครเป็นทหาร ดังนั้นในแง่ของคุณภาพ กองทัพของประเทศที่ใช้ระบบทหารอาสา  จะได้กำลังพลที่เต็มใจปฏิบัติภารกิจมากกว่า”

แล้วอะไรคือจุดลงตัวของเรื่องนี้  เมื่อกองทัพยังต้องการกำลังผลผ่านระบบเกณฑ์ทหารอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพลเรือจำนวนมากพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเป็นที่ต้องการ ควบคู่ไปกับพลเรือนบางกลุ่มที่ต้องการให้ได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในระบบ  ตามทรรศนะของ ศ.ดร.สุรชาติ มองว่า  ระบบการเกณฑ์ทหารของไทยที่ใช้วิธีจับฉลากนั้นไม่สามารถแก้โจทย์ดังกล่าวได้ การเปลี่ยนไปใช้ระบบกำลังพลอาสาสมัคร (All Volunteer Forces)  เช่นเดียวกับในหลายประเทศและสหรัฐฯ อาจเป็นวิธีการที่เหมาะสม  เพราะไม่เพียงแต่จะได้กำลังพลที่เต็มใจปฏิบัติภารกิจ แต่ยังลดโอกาสนำพลเรือนที่ไม่เต็มใจเข้าสู่ระบบ

กระนั้นก็ตาม  สิ่งที่ยังต้องถกเถียงกันต่อไปคือ ท่ามกลางระบบการเมืองภายใต้อำนาจควบคุมของกองทัพ โอกาสและทางออกดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

อ่าน 'จับตา': “หลักสูตรการฝึกพลทหารกองประจำการ"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6145

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: