กำหนดเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ต้องตั้งในนิคมฯ

11 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 2844 ครั้ง


	กำหนดเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ต้องตั้งในนิคมฯ

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดประเภทขยะอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม โดยผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต้องตั้งโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 หรือนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยพิจารณาภาระการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ (Emission loading) และตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่รายงาน EIA/EHIA ของนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมนั้นกำหนดไว้ (ที่มาภาพประกอบ: pri.org)

11 ก.พ. 2559 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งกำหนดประเภทขยะอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม ตามมติคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ดังนี้

(1)  ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต้องตั้งโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 หรือนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยพิจารณาภาระการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ (Emission loading) และตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่รายงาน EIA/EHIA ของนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมนั้นกำหนดไว้ด้วย

(2)  สามารถนำขยะอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมอื่นหรือจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมเข้ามากำจัดร่วมได้โดยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเก็บรวบรวมและการขนส่งขยะหรือกากอุตสาหกรรมที่มีอยู่

(3)  นิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งโครงการต้องสามารถเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าตามศักยภาพของระบบไฟฟ้า

(4)  สำหรับโครงการที่มีการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายเป็นสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว ต้องได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 12 เดือนนับจากวันตอบรับซื้อ และต้องเปิดเผยข้อมูลและผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

(5)  ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องเสนอรายละเอียดเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโครงการ โดยต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดการขยะอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดและหากมีการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายจะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม

(6)  หลังจากเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ หากมีผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนยื่นเสนอเกินกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ให้พิจารณาคัดเลือกโครงการตามความพร้อมทางด้านการเงิน สถานที่ติดตั้ง ปริมาณขยะ ความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคและสิ่งแวดล้อม และการยอมรับจากชุมชน โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีขอบเขตระยะเวลาในการก่อสร้างของโครงการและขายไฟฟ้าตามกำหนดภายในปี 2562

(7) สำหรับประเภทขยะอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม ได้แก่ ขยะอุตสาหกรรม ตามคำนิยามของ“ขยะหรือกากอุตสาหกรรม" ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายโดยที่การกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ห้ามนำขยะชุมชนเข้ามากำจัดรวมในโครงการยกเว้นของเสียอันตรายจากชุมชน

ทั้งนี้ กบง.มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมกำหนด ไปใช้ประกอบในการออกประกาศรับซื้อและพิจารณาคัดเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต่อไป

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: