'ภัยแล้ง-ร้อนจัด' ทำหมูแพงเหตุโตช้าปริมาณออกสู่ตลาดน้อย

11 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2091 ครั้ง


	'ภัยแล้ง-ร้อนจัด' ทำหมูแพงเหตุโตช้าปริมาณออกสู่ตลาดน้อย

สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยเผยสภาพอากาศร้อนทำให้สุกรขุนโตช้าโดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงแบบโรงเรือนเปิด รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันต่ำทำให้ลูกสุกรและสุกรขุนเสียหายมากกว่า 20% สุกรขุนที่ส่งเข้าตลาดจึงลดน้อยลงมีปริมาณออกสู่ตลาดลดลงทั่วประเทศ (ที่มาภาพ: wsj.com)

11 พ.ค. 2559 นายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยกับ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ว่าสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่เพียงยาวนานกว่าปกติ ยังเกิดภาวะขาดแคลนน้ำด้วย ทำให้สุกรขุนโตช้า โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงแบบโรงเรือนเปิด สุกรจะเครียดง่ายเพราะทนต่อความร้อนไม่ไหว มีอาการหอบ และอาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น มีอัตราเสียหายสูงขึ้น การกินอาหารลดลงจากมาตรฐาน ทำให้การเจริญเติบโตต่ำ ประกอบกับภาวะร้อนแล้งเป็นช่วงที่สุกรมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำมาก ส่งผลให้มีโรค PRRS และ PED ที่เกิดเฉพาะในสุกรไม่มีการติดต่อถึงคน เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทำให้ลูกสุกรและสุกรขุนเสียหายมากกว่า 20% ในช่วงเวลานี้สุกรขุนที่ส่งเข้าตลาดจึงลดน้อยลงและมีปริมาณออกสู่ตลาดลดลงทั่วประเทศ

"คาดว่าภาวะสุกรหายไปจาก ระบบอันเนื่องมาจากอากาศร้อนที่เกิดขึ้น จะเป็นเช่นนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน จึงเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งวัฏจักรสุกรเป็นแบบนี้ทุกปี แต่ปีนี้ภาวะรุนแรงขึ้นจากภัยแล้งที่เกิดยาวนานกว่าที่คาดการณ์ และเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม กัมพูชา และลาว" น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว

ปัญหาวิกฤติภัยแล้งรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินแห้งแล้งทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ซึ่ง เป็นแหล่งเลี้ยงสุกรมากที่สุดในประเทศต่างประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะไม่มีน้ำสำหรับให้สุกรกินและใช้ภายในฟาร์มโดยเฉพาะน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงระบบความเย็นในโรงเรือนปิดแบบปรับอากาศได้ หรือโรงเรือนระบบอีแวป เกษตรกรจำเป็นต้องซื้อน้ำมาใช้กลายเป็นต้นทุนที่ แบกรับสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว ขณะเดียวกัน สุกรที่โตช้ากว่าปกติ ทำให้ต้องยืดอายุการเลี้ยงออกไป 2-4 สัปดาห์ จึงต้องเสียค่าอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

"เมื่ออุปสงค์กับอุปทานของตลาด ไม่สมดุลกัน ราคาสุกรขุนจึงปรับขึ้นตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถปรับเปลี่ยนแหล่งของโปรตีนได้ อาจชะลอการบริโภคสุกรไปก่อน แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนั้นมีเพียงอาชีพเดียวที่เลี้ยงตนเองและครอบครัว เชื่อว่า ภาวะราคาคงเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า" น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: