สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 5 - 11 ก.ย. 2559

11 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2087 ครั้ง


	สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 5 - 11 ก.ย. 2559

กัมพูชา

สหภาพแรงงานกัมพูชาตั้งเป้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอุตสาหกรรมเสื้อผ้า $180 ต่อเดือนปีหน้า / การประชุมเรื่องค่าแรงประจำปีระหว่างสหภาพแรงงาน ตัวแทนรัฐบาล และผู้ว่าจ้างจะถูกจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2017 ทางสหภาพแรงงานจึงจัดทำจดหมายร่วมแสดงความประสงค์เกี่ยวกับเป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อใช้ในการเจรจาค่าแรงขั้นต่ำของปีหน้า ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากค่าแรงปัจจุบัน 140 ดอลลาร์สหรัฐ สหภาพแรงงาน 17 แห่งร่วมลงนามในจดหมายฉบับนี้ รวมถึง National Union Alliance Chamber of Cambodia (NACC) The Cambodian Confederation of Unions และ The Coalition of Cambodian Apparel Workers Democratic Union ด้านนาย Far Saly ประธานกลุ่ม National Trade Union Coalition เผยว่าอยากให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องยอมรับจำนวนค่าแรงขั้นต่ำที่ได้นำเสนอไป เพราะผ่านการพิจารณาเกี่ยวกับค่าใช้ค่าครองชีพของแรงงานที่ต้องใช้ในการใช้จ่ายในครัวเรือนอย่างละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาก็ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 177 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังผ่านการประชุมเจรจา สุดท้ายแล้วสหภาพก็ต้องยอมรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐ ลิงค์ข่าว

ฟิลิปปินส์

สงครามกวาดล้างยาเสพติดฟิลิปปินส์วิสามัญแล้วกว่า 1,000 คน / ตำรวจฟิลิปปินส์เปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญฆาตกรรมไปแล้ว 1,019 คนในการทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ผู้นำฟิลิปปินส์ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านการที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยระหว่างการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้คำมั่นที่จะกวาดล้างยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากประเทศภายใน 6 เดือน และกำลังยกระดับการต่อสู้กับนายหน้าค้ายาเสพติด อย่างไรก็ตามตำรวจเปิดเผยว่ามีคนถูกจับกุมแล้วเกือบ 15,000 คนและราว 700,000 คนได้มอบตัวในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ด้านสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มกำลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยระบุว่าสงครามกวาดล้างยาเสพติดของรัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยฝีมือรัฐ ลิงค์ข่าว

เวียดนาม

ประมงเวียดนามทรุดหนัก พิษสารปนเปื้อน-ผู้ปกครองไม่มีเงินส่งลูกเรียน / ชุมชนชาวประมงในเมือง Ha Tinh ภาคกลางของเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการปนเปื้อนสารพิษที่มีบริษัท Formosa ของไต้หวันเป็นต้นเหตุ ส่งผลให้ผู้ปกครองหลายคนไม่สามารถหาเงินเพื่อส่งลูกไปโรงเรียนได้ ทำให้นักเรียนหลายคนตั้งแต่ระดับอนุบาลถือมัธยมต้นต้องหยุดไปโรงเรียน นาง Nguyen Thi Houng แม่ของเด็กในพื้นที่เผยว่าเขาทิ้งนาเกลือและเรือไปแล้ว เพราะมีแต่ปลาตายเป็นพันตัวบริเวณดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกไม่กล้าบริโภคอาหารทะเล เป็นเหตุให้ทำมาหากินไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลละเว้นค่าเทอมให้ ก็จะส่งลูกกลับไปเรียนตามปกติ อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษการปนเปื้อนครั้งนี้ถือเป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีผู้คนกว่า 210,000 ได้รับผลกระทบ โดยขณะนี้ทางการเวียดนามแถลงแล้วว่าจะปรับลดค่าเทอมให้นักเรียนจากครอบครัวที่ได้ผลกระทบจำนวนหนึ่งในสามของค่าเทอมปกติ ลิงค์ข่าว

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียยืนยันโรฮิงญา 99 คน ยังอยู่ในอาเจะห์จากเดิม 409 คน / สมาชิกสภานิติบัญญัติเมืองอาเจะห์เผยมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายคนหลบหนีออกจากค่ายผู้ โดยบางคนหนีโดยวิธีการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำหลังค่าย ในขณะที่บางคนหนีออกจากค่ายโดยการเดินเท้า นอกจากนี้เขาแสดงความกังวลว่า ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีออกจากค่าย อาจกลายเป็นเหยือในขบวนการการค้ามนุษย์ พร้อมกันนี้ได้เร่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และ International Organization for Migration (IOM) เพื่อกำหนดปลายทางที่แน่นอนเพื่อจะส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไป หลังจากใช้ระยะเวลานานมากในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ประเทศอินโดนีเซียไม่ใช่ประเทศที่ยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยสภานภาพผู้ลี้ภัย 1951 แต่อินโดนีเซียอาสาที่จะเป็นประเทศทางผ่าน ยอมรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเข้าประเทศ ก่อนที่จะได้รับการส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ลิงค์ข่าว

มาเลเซีย

ผู้แทนศรีลังกาถูกทำร้ายในKL คาดเชื่อมโยงกลุ่ม LTTE / ชายชาวมาลเซียสองคนถูกสอบสวนในศาลมาเลเซียความผิดข้อหาก่อความวุ่นวายและทำร้ายร่างกาย หลังถูกจับกุมในขณะที่เข้าทำร้ายร่างกายผู้แทนทางการฑูตของศรีลังกาประจำมาเลเซียในสนามบิน Kuala Lumpur International Airport (KLIA) โดยผู้ต้องหา A. Kalaimughilan อายุ 26 และ V. Balamurugan อายุ 32 ปี มาจากเมือง Sungai Siput ในรัฐ Perak เบื้องต้นตำรวจเชื่อว่าแรงจูงใจในการทำร้ายร่างกายเกิดจากการที่ผู้แทนทางการฑูตไม่บอกตำแหน่งที่อยู่ของอดีตประธานาธิบดี Mahinda Rajapaksa ของศรีลังกาที่เพิ่งเข้ามาพักผ่อนในประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตามทางการมาเลเซียตั้งข้อสังเกตว่าชาวมาเลเซียทั้งสองคนอาจเชื่อมโยงกับกลุ่ม Liberation Tigers of Tamil Eelam (LTTE) ที่ไม่พอในการทำงานของ Mahinda อดีตผู้นำศรีลังกาและมองว่าเป็นอาชญากรสงคราม โดยศาลตัดสินให้มีการลงโทษภายใต้มาตรา 147 ของกฏหมายอาญา ให้มีการจำคุกสูงสุดสองปีหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ขณะมีความพยายามที่จะให้ทนายความขอเข้าประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 20,000 ริงกิต ลิงค์ข่าว

พม่า

ตัวแทนกองทัพจีนเข้าพบนางออง ซาน ซูจีที่ย่างกุ้ง / นาย Xu Qiliang รองประธานคณะกรรมการการทหารกลางจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนพม่า ได้พบกับนางออง ซาน ซูจี ที่เมืองย่างกุ้ง โดย นาย Xu Qiliang เผยว่าก่อนหน้านี้ไม่นาน นางออง ซาน ซูจี ได้ไปเยือนประเทศจีนและมีฉันทามติกับผู้นำจีนเกี่ยวกับการกระชับยุทธศาสตร์หุ้นส่วนความร่วมมือทุกด้านระหว่างสองประเทศ โดยจีนยินดีช่วยหนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในพม่า และต้องการร่วมกับพม่าในการรักษาเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนจีน-พม่า ขณะที่นางออง ซาน ซูจี เผยว่าพม่าชื่นชมประธานาธิบดีและรัฐบาลจีนที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมมิตรภาพและความสัมพันธ์สองประเทศ โดยหวังว่าความร่วมมือฉันมิตรของพม่าและจีนจะประสบผลคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ลิงค์ข่าว

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: