ถอดรื้อมุมมองอุบัติเหตุบนท้องถนน  ไม่ใช่แค่‘เมา-หลับ-ซิ่ง-ซวย-ถนนลื่น’

ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ : TCIJ School รุ่นที่ 3 : 11 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 5902 ครั้ง

คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็มักจะคิดถึงสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมหรือป้องกัน  และเมื่อผล กระทบเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะปล่อยให้เป็นเพียงแค่ความสะเทือนใจและเรื่องของโชคชะตาคราวเคราะห์ โดยลืมตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมสถานการณ์เหล่านี้จึงเลวร้ายลงในประเทศไทย และทำไมการจัดการปัญหาเหล่านี้ในประเทศไทยจึงยังมองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพียง‘ความประมาทของผู้ขับขี่’ หรือ ‘เคราะห์ร้ายของเหยื่อ’ ที่ไม่สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของปัญหา ที่นำไปสู่การจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ  แทนที่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือออกมาตรการหรือจำกัดพฤติกรรมของผู้คนในการใช้รถใช้ถนน

จาก ผลสำรวจขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศลิเบีย  และประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอันตรายสูงที่สุดในโลกสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยข้อมูลในรายงานดังกล่าวชี้ว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อยกว่าสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศที่รองลงมาคือ เวียดนาม มาเลย์เซีย เมียนมาร์ กัมพูชา ติมอร์ อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ ตามลำดับ

มายาคติอุบัติเหตุ “โค้งร้อยศพ อาถรรพ์ คราวเคราะห์” สะท้อนอะไรในสังคมไทย

‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศไทย1,293 คน ระหว่าง 20-25 มิ.ย.2559  ชี้ว่า ความสะเทือนใจของคนไทย ณ วันนี้ 10 อันดับแรก เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน อยู่อันดับที่ 3 รองจากเรื่องอาชญากรรมและการเมือง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.17 เหตุผลที่คนไทยให้ความสนใจเพราะเหตุการณ์อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงทำให้เกิดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ฯลฯ ความสนใจเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการนำเสนอข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ ที่มีมุมมองการนำเสนอข่าวเพียงเรื่องของการกล่าวโทษผู้กระทำหรือเหยื่อ ซึ่งเนื้อหาที่เสนอส่วนใหญ่นั้นเป็นประเด็น ‘คนขับขี่ซิ่ง เมา ดับ แหกโค้ง หลับ ถนนลื่น’

ตัวอย่างการนำเสนอของสื่อมวลชน

 

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2558

 

อ้างอิงจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 เมษายน 2559

 

นักวิชาการชี้ ‘สื่อผลิตซ้ำมายาคติ มองปัญหาแค่จิตสำนึก ไม่มีข้อมูลเชิงลึก’

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) เมื่อวันที่28 มิ.ย.2559 ในประเด็น ‘มายาคติเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนในสังคมไทย’  สรุปได้ว่าการนำเสนอเรื่องอุบัติเหตุของสื่อในปัจจุบันมีเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร โดยขาดความเข้าใจถึงสาเหตุที่ลึกลงไป  นอกจากภาพความรุนแรงของเหยื่อที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นภาพเหตุการณ์ปกติในสังคมไทย สิ่งที่สังคมไม่ค่อยได้กล่าวถึงอย่างรอบด้าน คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

ผลสำรวจจากงานวิจัยของประเทศออสเตรเลีย (AUSTROADS,2002) ระบุว่าสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากคนร้อยละ 95 เกิดจากถนนและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 28 และเกิดจากรถ ร้อยละ 8 ซึ่งหากมองภาพรวมแล้วสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขก็คือ ‘คน’  อย่างสังคมไทยนั้นก็จะเน้นเรื่องการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกเพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กินเหล้า=อาชญากรรม, ง่วงไม่ขับ เมาไม่ขับกลับปลอดภัย ฯลฯ  คือเน้นให้คนมีจิตสำนึกและเห็นความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมุ่งไปที่การออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ แต่กลับใช้ไม่ได้ผลมากนัก เพราะอัตราการตายเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยยังมีจำนวนสูงมาก ติดอันดับที่ 2 ของโลก

“ร้อยละ 24 ของคนไทยหรือ 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นป้องกันไม่ได้ อุบัติเหตุเป็นเคราะห์ร้าย โชคชะตา อาถรรพ์  สื่อก็พยายามผลิตซ้ำ Blaming the victims ตอกย้ำว่าเป็นความประมาท ผิดพลาดของเหยื่อ โดยขาดข้อมูลเชิงสาเหตุและรากปัญหา สื่อชี้นำและชวนสรุปเพียงว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และยังวนเวียนอยู่เพียง ต้องแก้ จิตสำนึกของคน” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

นพ.ธนะพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คนทั่วไปหรือสื่อมักมองข้ามคือปัจจัยที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้และเห็นผล  ได้แก่ ถนนและสิ่งแวดล้อม หรือ จุดเสี่ยง ในประเด็นนี้สื่อตั้งคำถามน้อยมาก เช่น รถชนต้นไม้ ชนป้าย เขตก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งที่มีกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นเกือบทุกวัน  สมมติว่ามีกรณีที่เกิดขึ้นในถนนเส้นเดียวกัน รถคันหนึ่งเลนขวาขับด้วยความเร็วเกิน180 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลุดโค้งแต่ไม่ตาย แต่อีกกรณีขับด้วยความเร็วต่ำกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง  แต่ขับเลนซ้ายปรากฏว่าตายหมดทั้งคัน สื่อจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร จะสรุปว่าเป็นเพียงเรื่องพฤติกรรมการขับขี่หรือเหตุเคราะห์ร้าย และจบด้วยพาดข่าวว่าโค้งร้อยศพหรือไม่ เพราะจากภาพความเป็นจริงกรณีที่ยกมานั้น ถนนด้านซ้ายมีต้นไม้ริมถนน ถ้ารถขับมาแม้ไม่แรงมากแต่หลุดโค้งออกก็ต้องชนกับต้นไม้ริมถนน ส่วนทางข้างขวาถ้าหลุดโค้งก็เพียงหลุดออกจากถนนเพราะไม่มีสิ่งกีดขวาง ความเสี่ยงจึงน้อยกว่าแม้ขับรถด้วยความเร็วมากกว่า เพราะฉะนั้นจากกรณีตัวอย่าง ปัญหาอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องซับซ้อนที่ไม่ควรมองแค่ คน แต่ยังมีเรื่อง ถนน รถ ที่เกี่ยวข้องกับอีกหลายส่วน เช่น วิศวกรรม เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม

ไม่ใช่แค่ป้องกันอุบัติเหตุบนถนน ‘ต้องทำอย่างไรให้คนไม่ตาย’

กระบวนทัศน์หรือวิธีการมองปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในสังคมไทย ไม่ได้มีความเชื่อพื้นฐานว่า ‘มนุษย์นั้นมีข้อจำกัด’ทุกคนนั้นมีสิทธิที่จะกระทำความผิดพลาด และสังคมจะทำอย่างไรให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่สร้างผลกระทบรุนแรง ซึ่งในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น  การแก้ปัญหาควรคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้คนเสียชีวิตเมื่อเกิดสถานการณ์ที่พลาดด้วยเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพรถ สภาพถนน การสร้างบรรทัดฐานของสังคมในการป้องกันอุบัติเหตุ ฯลฯ โดยไม่ใช่เพียงแค่ประณามหรือสงสารเหยื่อจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเท่านั้น

การเปลี่ยนความคิดเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุบนถนน หรือการเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของผู้คนในสังคม  (Changing Fundamental Perceptions)(WHO,2004) จำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองหรือกระบวนทัศน์ใหม่  โดยองค์การอนามัยโลก เสนอว่า 1.อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นป้องกันได้ไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม ต้องอาศัยหลายภาคส่วนเข้ามารับผิดชอบ Road Traffic Injury (RTI) 2.ความผิดพลาดโดยปกติ ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า จะต้องไม่นำไปสู่การตาย (system that accommodate human error) ดังนั้นควรออกแบบระบบที่คำนึงถึงความหลากหลาย และข้อจำกัดของมนุษย์ (system that account for the vulnerability of the human body) 3.ความปลอดภัยทางถนน เป็นเรื่องเชิงสังคมและสิทธิไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมของบุคคล (Road Safety as a social equity issue)

“โดยหลักการ ถ้าเราออกแบบถนนได้ดี ต่อให้คนขับรถหลับใน มีหมาตัดหน้า ยางระเบิดคนขับก็ไม่ตาย ปัญหาอันดับแรกเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นคือ ตัวถนนไม่ได้ออกแบบมารองรับความผิดพลาดของคน” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

นพ.ธนะพงษ์ ชี้ว่า ‘คนมีข้อผิดพลาดได้ แต่ผิดพลาดแล้วทำไมต้องตาย’ โดยอธิบายจากผลการสำรวจจากกรมทางหลวงพบว่า 43% ของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนไม่มีคู่กรณี แต่มีการ เสียชีวิตถึง 34% เท่ากับว่า 1 ใน 3 ของ การเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากคู่กรณี แต่เกิดจากวัตถุอันตรายข้างทาง อย่างต้นไม้ เสาไฟฟ้า หิน หรือกายภาพของท้องถนน 

จากข้อมูล Thai Roads Foundation ตีพิมพ์ใน จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับที่ 138 เม.ย.2556 ชี้ว่า อุบัติเหตุอันตรายข้างทาง หรือ Roadside Crash เกิดขึ้นเมื่อรถเสียหลัก หลุดออกนอกถนนแล้วพลิกคว่ำ หรือพุ่งชนเข้ากับวัตถุอันตรายข้างทาง อุบัติเหตุประเภทนี้มักมีความรุนแรงสูงทำ ให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารมีโอกาสเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสได้ โดยอุบัติเหตุประเภทนี้คิดเป็น 41% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงทั้งหมด ประเภทของวัตถุอันตรายข้างทางที่รถยนต์มักพุ่งชนหลังจากเสียหลักออกนอกถนน ได้แก่ ต้นไม้ หลักกิโลเมตร เสาไฟฟ้า และเสาป้ายต่างๆ  ระยะเขตปลอดภัยของทางหลวงประเทศไทย ควรมีวัตถุอันตรายที่กีดขวางระยะห่างอย่างน้อย 5-7 เมตร วัดจากขอบทาง แต่กลับพบว่าระยะห่างโดยเฉลี่ยที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อยู่ที่เพียงประมาณ 3-4 เมตรเท่านั้นเอง

“ถนนในประเทศไทยนั้นเป็นปัญหาใหญ่ มีลักษณะหลายฟังชั่นปนกัน ถนนที่ดีควรแบ่งเป็น road hierarchy คือ ถนนที่ออกแบบเพื่อมารองรับผู้คนหลายกลุ่ม เช่น ถนนสายหลัก motor way ออกแบบเพื่อขับได้เร็ว แต่ถ้าถนนสายรองหรือบริเวณท้องถิ่นต้องออกแบบให้รถวิ่งช้าและคนสามารถเดินได้ เพราะฉะนั้นเราต้องการถนนที่มีฟังชั่นชัดเจน  ซึ่งถนนในบ้านเรานั้นเชื่อมโยงได้ตลอดไม่มีระดับชั้น ถนนหมู่บ้านออกไปติดกับถนนหลัก พอมันเชื่อมทางได้ตลอดรถที่วิ่งด้วยความเร็วจากทางหลัก ก็มาชนคนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน หรือชนรถที่ขับในทางสายรองที่ขับช้ากว่า ถนนที่ดีและปลอดภัยจึงต้องไม่เชื่อมกัน ทั้งหมดแล้วตัวสำคัญที่กำหนดความเร็วคือ road hierarchy และการควบคุม ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่มองแค่เรื่องมาตรการบังคับใช้กฎหมาย กับคน แต่ต้องมองเรื่องวิศวกรรมที่รองรับความผิดพลาดของคนด้วย”    นพ.ธนะพงษ์ ชี้แจง

รากเหง้าอุบัติเหตุบนท้องถนน ‘ทุกคนคือเหยื่อของโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์’

“บ้านเรามองอุบัติเหตุตื้นๆ แค่เรื่องคน ถนนยังไม่มองเลย รถไม่ต้องพูดถึง ที่ขาดไปเลยคือรากของปัญหาที่ต้องมองเป็นปัญหาเชิงระบบ อย่างข่าวอุบัติเหตุรถตู้เกิดขึ้นรายสัปดาห์และสร้างผลกระทบจำนวนมาก เราก็จะพูดเพียงว่าคนขับมีพฤติกรรมไม่ดี ขับรถเร็ว บรรทุกคนเกินมาตรฐาน ปรับเปลี่ยนรถ แต่รากปัญหาที่แท้จริงนั้นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคม ทำไมคนขับถึงขับรถเร็วหรือหลับใน เพราะรถตู้ต้องทำรอบ เขาอยู่ในสถานการณ์ต้องบีบให้เร่งรีบ แข่งขัน และไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ดังนั้น การตรวจจับความเร็วรถจึงเป็นปลายทางของการแก้ปัญหา โดยที่รากของปัญหายังไม่เคยถูกนำมาแก้ไข” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

นพ.ธนะพงษ์ ยกกรณีศึกษาที่มองให้เห็นรากของปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยยกกรณีข่าว ‘รถตู้นักเรียนเมืองกาญจน์ พุ่งชนเก๋งยับ เจ็บระนาว 22 ’ จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งโครงการขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจบุตรหลาน  เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน วันที่ 21 ส.ค.2558 ที่ โรงแรมราชศุภมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยสะท้อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  รากปัญหาเกิดจาก 4 ด้าน คือ 1) ผู้ปกครอง ไม่มีทางเลือก รายได้จำกัดต้องลงขันจ่ายค่ารถ  2) ระบบขนส่ง รถประจำทางในพื้นที่แน่น ไม่เพียงพอ เที่ยววิ่งจำกัด  3) คนขับรถรับจ้าง ใช้รถส่วนบุคคลซึ่งไม่ต้องตรวจสภาพ มีสภาพเก่า ตัดแปลงสภาพ และบรรทุกจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอค่าใช้จ่าย  4) ระบบกำกับดูแล ไม่ได้ใช้กลไกกำกับที่เข้มงวด ไม่มีเจ้าหน้าที่มากำกับดูแล มีแค่เรื่องรณรงค์และอบรม แต่ไม่มีการติดตามผล จากการวิเคราะห์นี้จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไม่ใช่ความรับผิดชอบแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น

กฎหมายอุบัติเหตุในสังคมไทย‘ขับรถอันตราย=ขับรถประมาท’

ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในสังคมไทย เรื่องสำคัญที่ควรตระหนักถึงคือกฎหมายในการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  เช่น ตำรวจ ทนายความ ศาล ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนในกลไกการแก้ปัญหาที่นอกเหนือ จากการรณรงค์ อบรมวินัย หรือมาตรการสังคมต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องแค่ปัจเจกบุคคลหรือแค่สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ยังไม่ได้ปรับใช้ให้มีเสถียรภาพ เพราะการออกกฎหมายที่เข้าใจประชาชน และบังคับใช้กฎหมายอย่างสมเหตุสมผลนั้นย่อมสะท้อนถึงสังคมที่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาต่างๆอย่างเชื่อมโยงกัน  การออกกฎหมายที่ทันสมัย มีการฝึกทักษะ  มีข้อมูลและอุปกรณ์ที่เพียงพอ ย่อมทำให้คนในสังคมอยากที่จะปฏิบัติตามและกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม  เปรียบเหมือนโครงสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะออกแบบผู้คนให้อยู่ร่วมในสังคมอย่างสงบ และสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยบนท้องถนนได้

“คนไทยที่เราว่าไม่มีจิตสำนึก ไม่มีวินัย แต่ทำไมเวลาไปเที่ยวต่างประเทศกลับทำตามกฎระเบียบได้ เพราะกฎหมายประเทศนั้นแรง ผู้คนในสังคมปฏิบัติได้ใช่หรือไม่  ซึ่งในทางกลับกันเรามักจะคาดหวังว่าฝรั่งมีจิตสำนึกมากกว่า แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทยสักพักฝรั่งกลับไม่ใส่หมวกกันน็อค ทำไมเขามีจิตสำนึกเขาถึงไม่ใส่หมวกป้องกันภัย มันสะท้อนเรื่องของบรรทัดฐานสังคม (social norm) เพราะสังคมนี้ไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ตำรวจก็ไม่จับ ไม่เอากฎหมายมาบังคับใช้อย่างมีมาตรฐาน  สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มันกำกับพฤติกรรมผู้คน”

นพ.ธนะพงษ์ ยกตัวอย่างที่ดีของกฎหมายจราจร ประเทศญี่ปุ่น (ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 11 ต.ค.2557) กรณีเมาแล้วขับชนคนตาย เคยถูกพิจารณาว่าเป็นเรื่องประมาท (Professional Negligence Resulting in Death) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 5 แสนเยน จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1999 เกิดกรณีคนเมาขับรถบรรทุก (แอลกอฮอล์ในเลือด 126 mg%) ชนรถเก๋งบนทางด่วนโทลล์เวย์ ทำให้รถเกิดไฟลุกไหม้ ส่งผลให้ลูกสาววัย 1 ขวบและ 3 ขวบเสียชีวิต ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ฐานขับรถโดยประมาท และในช่วงติดๆกันนั้น เดือนเมษายน ค.ศ.2000 คนเมาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ชนนักศึกษาบนทางเท้าเสียชีวิต 2 คน ศาลตัดสินจำคุก 5 ปีครึ่งฐานขับรถโดยประมาทและไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จากทั้ง 2เหตุการณ์ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องของสังคมให้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษโดยครอบครัวของเหยื่อยื่นเรื่องต่อรัฐสภา ขอให้มีการแก้ไขกฎหมายและพิจารณาว่า “ไม่ใช่เรื่องประมาท”

“เวลาทำคดีจราจรทั้งหมดในประเทศไทย มันเป็นเรื่องของการขับรถประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แล้วคดีเหล่านี้เมื่อขึ้นศาลก็เป็นข้อหาประมาท แม้ว่าคุณจะขับ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่มีใบขับขี่ ในต่างประเทศ บทลงโทษของคนกลุ่มนี้เวลาส่งดำเนินคดีจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่การขับรถประมาท แต่เป็นการขับรถอันตราย ประเทศญี่ปุ่นบทลงโทษคดีขับรถประมาทนั้นไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าหากขับรถอันตราย บทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี”  นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

ในปี ค.ศ.2001 กระบวนการยุติธรรมและศาล จึงใช้กฎหมายใหม่ในการพิจารณาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ว่าเป็น เรื่อง ‘ประมาท’ หรือ ‘เจตนา’ (negligent or crime of intent) เพราะถ้ายังเป็นความประมาท  บทลงโทษยังคงเดิม คือ จำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนเยนแต่ถ้าศาลพิจารณาว่ามีเจตนาขับรถอันตราย (Dangerous Driving Resulting in Deaths and Injuries) หรือที่เรียกกันว่า crime of intent ศาลสั่งจำคุกไม่เกิน 15 ปี และสั่งจำคุก 20 ปี ในกรณีที่มีการ เสียชีวิต

นิยามของคำว่า ‘เจตนา’ ขับรถอันตราย (Dangerous Driving Resulting in Deaths and Injuries) ในการพิจารณาของ ศาลจะคำนึงถึงเรื่อง 1) การขับขี่ที่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์และยา 2) การขับขี่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความเร็ว สูง  3) ไม่มีทักษะการขับขี่  4) แซงอย่างน่ากลัว หรือขับรถจี้กดดันคันหน้า  5) การขับรถฝ่าไฟแดง

จากกรณีตัวอย่าง กฎหมายเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อมามองย้อนสถานการณ์ในสังคมไทยจะ เห็นว่ามีหลายกรณีที่เป็นข่าวดังที่สร้างความวิตกแก่สังคม หลายคนสงสัยว่าทำไมเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ผู้ขับขี่กระทำความรุนแรงจนเกิดผลกระทบถึงขั้นสูญเสียชีวิต ผู้ที่กระทำผิดกลับได้รับข้อหาจากเจ้าหน้าที่เพียงเรื่อง ‘ประมาท’  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสาเหตุแล้ว  จะเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความทันสมัยที่จะนำมาตรการ กระบวนการแก้ไขใหม่ๆให้คนในสังคมปฏิบัติใช้อย่างเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน  ความสับสนของมาตรฐานกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิดผู้กระทะทำผิดที่ไม่เพียงแต่ไม่ลดจำนวนลง แต่กลับมีการเพิ่มขึ้นของเหยื่อ และความสูญเสีย

อ่าน 'จับตา': “คดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เป็นข่าวดัง"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6352

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: