“จริงนะ” วิคตอเรียถามผมด้วยเสียงสูง แววตาเธอเบิกกว้างด้วยความดีใจ แต่ยังเจือด้วยความไม่แน่ใจ
ผมพยักหน้า
“สัญญาแล้ว ไม่หลอกนะ” วิคตอเรียถามย้ำ รอยยิ้มบนใบหน้าของเธอเบิกกว้างขึ้นกว่าเมื่อครู่
“สัญญา” ผมตอบให้เธอมั่นใจ
“พรุ่งนี้ กี่โมง” วิคตอเรีย ถามเวลาให้แน่ใจ
“แปดโมง แล้วกัน รอน้าที่ซีแมน[1]” ผมระบุสถานที่เพื่อความชัดเจน
“พรุ่งนี้ น้าจะพาหนูเข้าสนามเด็กเล่นนะ น้าจ่ายค่าเข้าสิบเปโซนะ แปดโมงเช้า หนูจะรอ”
“ตามนั้นแหละ” ผมตอบ
“พ่อ...น้าบุน สัญญาแล้ว พรุ่งนี้เช้า จะพาหนูเข้าสวนสนุก”
วิคตอเรียหันไปพูดกับพ่อของเธอ นัยว่า ช่วยเป็นพยานให้เธอด้วย พ่อของเธอพยักหน้าและยิ้มมุมปาก ให้กับอารามดีใจของลูกสาว
วันนั้นผมกับวิคตอเรียนั่งคุยกันตอนบ่ายของวันอาทิตย์หน้าโบสถ์ปาโกะ ที่ผมเป็นอาสาสมัครช่วยทำอาหารแจกคนไร้บ้าน คนไร้บ้านหลายคนที่เพิ่งกินมื้อเที่ยงเสร็จจากที่นี่เดินไปร่วมฟิดดิ้งโปรแกรม (feeding program) อีกที่ชื่อที่หน้าที่ว่าการเมืองมะนิลา เพื่อจะได้แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นน้อยเป็นอาหารองท้องตอนเย็น ก่อนจะไปกินมื้อค่ำของจริงที่หน้าโบสถ์ซิกข์ หรือที่คนไร้บ้านเรียกว่าบุมไบย์ แต่วันนี้แดดแรงเหลือเกิน อีกทั้งผมเป็นอาสาสมัครทำอาหารที่ปาโกะ นอกจากจะได้อาหารแจกเหมือนคนไร้บ้านคนอื่นๆ แล้ว ผมยังได้ข้าวและกับอีกหลายถุง ผมจึงไม่ร่วมขบวนเดินเท้าฝ่าแดดตอนบ่ายไปหน้าที่ว่าการเมืองมะนิลาเหมือนคนอื่น กับข้าวที่ได้มามากเกินนี้ ผมแบ่งให้วิคตอเรียกับพ่อ ที่อาศัยนอนอยู่ข้างถนนมาร่วมปี ตาตาย[2]วิคเตอร์รับถุงข้าวจากผม แล้วก็บอกขอบใจว่า ดีเหมือนกัน เย็นนี้จะได้ไม่ต้องไปรอข้าวมื้อค่ำที่บุมไบย์เพราะทุกคืนวันอาทิตย์ บุมไบย์แจกข้าวช้า อาจจะถึงสามทุ่มกว่าสี่ทุ่ม
******
วันแรกที่ผมเจอพ่อลูกคู่นี้ได้ อันที่จริง ตอนนั้น มีด้วยกันสองพี่น้อง แต่ตอนนี้ น้องสาวคนเล็ก-วิเวียน นั้นไปอยู่บ้านพักสำหรับเด็กข้างถนนแล้ว วิคตอเรียก็เคยไปอยู่ แต่อยู่ได้ไม่ถึงเดือน ก็ปีนรั้วหนีกลับมาอยู่กับพ่อที่ข้างถนนเหมือนเดิม ผมจำพ่อลูกคู่นี้ได้ ตั้งแต่วันแรกที่เจอที่โครงการแจกอาหารที่ปาโกะแห่งนี้ เพราะพ่อของวิคตอเรีย คือ ตาตายวิคเตอร์ นั้นต้องใช้ไม้ค้ำยันขาที่หักข้างหนึ่ง มีคนไร้บ้านบอกผมว่า เขาถูกรถชนมาแล้วหนี ภาพตาตาย ที่ต้องเหยียดเท้านั่งซักผ้า เวลาแกต้องการขยับตัวไปรองน้ำ แกใช้ใช้มือยันพื้นค่อยเยื้อนตัวไปที่ก็อกน้ำ เป็นภาพที่ยังติดตาผมจนทุกวันนี้
ในวันแรกนั้น เมื่อเสร็จจากการแจกอาหาร ผมจึงแบ่งข้าวและกับที่ผมได้มาหลายถุงให้ตาตายวิคเตอร์ เพื่อแกจะได้ไม่ต้องโขยกเขยกเดินไปกินข้าวที่อื่นๆ ตอนนั้นเรายังเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน แกกล่าวขอบคุณเรียบๆ ส่วนผมพยายามคุยกับเด็กน้อย ถามว่า มาจากไหน เด็กน้อยตอบว่า เพิ่งมาจากต่างจังหวัด แล้วผมยังพลั้งปากถามคำถามโง่ๆ กับ วิคเตอเรียว่า แม่อยู่ไหน วิคเตอเรีย ตอบเสียงอ่อยๆ ว่า ไม่มีแม่
หลายเดือนผ่านไป ผมกับวิคตอเรีย ค่อยๆสนิทกัน เพราะต่างเจอหน้ากันตามหน้าฟีดดิ้งโปรแกรม ในเมืองมะนิลา เราจะเห็นครอบครัวคนไร้บ้าน ตามหัวมุมถนน ครอบครัวเหล่านี้อาจขายของ เก็บของเก่า เพื่อหาเงินเลี้ยงตัว แต่ครอบครัวคนไร้บ้านที่พาลูกเล็กไปกินข้าวตามโครงการแจกอาหารนั้น ที่ผมเห็นประจำ มีไม่เกินสิบครอบครัว ดังนั้น วิคตอเรีย จึงเป็นเด็กที่ คนไร้บ้านที่ตระเวนไปกินอาหารตามโบสถ์ต่างๆ คุ้นหน้าค้นตา และได้รับการหยอกล้อจากคนอื่น รวมทั้งผมด้วยเสมอๆ
ที่ผมสนิทกับวิคตอเรียไม่ใช่มีแต่ผมเท่านั้นที่แบ่งข้าวที่ได้จากปาโกะให้ตาตายวิคเตอร์กับวิคตอเรียเท่านั้น เด็กน้อยอย่างวิคตอเรีย มักแบ่งข้าวแบ่งขนมให้ผมเช่นกัน เนื่องจากที่ฟีดดิ้งโปรแกรมหลายแห่ง เช่นที่บุมไบย์จะให้เด็กและผู้หญิงได้รับแจกอาหารก่อนผู้ชาย ด้วยเหตุที่แถวผู้หญิงและเด็กที่ไม่ยาว ทำให้วิคตอเรีย ได้ข้าวก่อนและง่าย ส่วนผมอยู่ท้ายๆ ของแถวผู้ชาย บางครั้งได้ข้าวเพียงเล็กน้อย บ่อยครั้งวิคตอเรีย จึงเป็นคนแบ่งข้าวให้ผม โดยเฉพาะขนมหวานจากบุมไบย์เป็นลูกกลมๆ ที่เรียกว่า ลัดดู (laddu) ทำจาก แป้งเบซัน (besan) ถั่วอบ และน้ำมันเนยอินเดีย นานๆ จะมีแจกสักครั้งและก็แจกไม่ทั่วถึง บ่อยครั้งที่ขนมหวานหมดก่อนที่จะถึงคิวผม ในวันโชคร้ายของผมนี้ วิคตอเรีย มักจะแบ่งขนมให้ผมกิน
ผมสนิทกับวิคตอเรีย จนธอมักจะโผกอดผมบ่อยๆ เวลาที่เจอกันที่หน้าฟีดดิ้งโปรแกรม เธอไปไหนมาไหนกับพ่อ ส่วนผมก็ไปไหนมาไหนกับเพื่อนกลุ่มผม บ่ายวันนั้นขณะที่ผมกึ่งนั่งกึ่งนอนให้วิคตอเรียถอนผมขาว ส่วนตาตายวิคเตอร์ ก็เอนตัวลงนอนบนม้านั่งข้างโบสถ์ใกล้ๆ กัน วิคตอเรียพูดขึ้นว่า เธออยากไปเล่นในสนามเด็กเล่น ใน Rizal Park ที่เธอและพ่อ เดินผ่านแทบทุกวัน แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าไป เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าผ่านประตู สนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่น ประเภท กระดานหก ชิงช้าและสไลเดอร์นั้นดูเหมือนจะหาได้ไม่ง่ายในมะนิลา และไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปเล่นได้ ตัวอย่างเช่น สนามเด็กเล่นในสวนริซัลปาร์ค เป็นสนามเด็กเล่นที่เก็บค่าผ่านประตู ผมไม่แน่ใจว่าสนามเด็กเล่นที่เปิดกว้างสำหรับสาธารณะนั้น หายากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ หายากว่า สนามบาสเกตบอลที่แม้แต่ตามชุมชนแออัด ก็จะมีที่ว่างทำเป็นสนามบาสเกตบอลง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมักเห็นพ่อแม่พาเด็กๆ นั่งรถมาเล่นเครื่องเล่นภายในสวนริซัล
เด็กวัยสิบสองขวบอย่างวิคตอเรีย ย่อมไม่ต่างกับเด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ ที่อยากเล่นเครื่องเล่นเหล่านี้ แต่ไม่มีค่าผ่านประตู พ่อของวิคตอเรียอายุย่างเข้าหกสิบปีแล้ว เขาเพิ่งถูกรถชนเมื่อต้นปี เดินไม่ได้อยู่หลายเดือน แม้ตอนนี้จะแข็งแรงเดินไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน แต่ไหนเลยจะทำงานได้ จึงใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับการเข้าร่วมสวดมนต์ร้องเพลงกับโบสถ์ เพื่อจะได้อาหารยังชีพในแต่ละวัน การจะมีเงินสิบยี่สิบเปโซติดกระเป๋า ไม่ใช่เรื่องง่าย เงินนั้น ต้องเก็บไว้ซื้อสบู่ซักผ้าในวันอาทิตย์ วิคตอเรียจึงรู้ดีว่า เป็นเรื่องเกินตัวที่จะขอเงินสิบเปโซจากพ่อ เป็นค่าเข้าสนามเด็กเล่น ด้วยเหตุนี้เมื่อเธอบอกว่า อยากจะไปเข้าสนามเด็กเล่นผมจึงอาสาออกเงินเป็นค่าผ่านประตูให้
พอถึงวันรุ่งขึ้น ผมเจอตาตายที่สวนสาธารณะ ใกล้ๆ สนามเด็กเล่น ก่อนเวลาแปดโมงเสียอีก เป็นเรื่องธรรมดา ที่คนไร้บ้านจะมีเวลาว่างมากตอนเช้า เพราะพวกเขาตื่นแต่เช้าไปกินอาหารเช้าที่หน้าโบสถ์ซางตาครูสที่แจกอาหารตอนเจ็ดโมงเช้า ใช้เวลากินข้าวสักสิบนาที จากนั้นก็ว่าง ตาตายวิคเตอร์จัดการเอาน้ำที่กรอกใส่ขวดตั้งแต่เมื่อคืนใช้ล้างหน้าวิคตอเรียให้หายมอมแมม แล้วยังเตรียมเสื้อชุดกระโปรงที่เพิ่งซักสะอาดจากปาโกะ เปลี่ยนให้วิคตอเรียดูสดใสขึ้นอีกด้วย
วิคตอเรียตื่นเต้นอยากเข้าสวนสาธารณะ ตั้งแต่ก่อนเวลาแปดโมงที่คนขายตั๋วยังไม่มา เราสองคนไปชะเง้อมองอยู่หน้าช่องขายตั๋ว อันที่จริงประตูทางเข้าก็ไม่ได้หนาแน่นแต่อย่างใด สักพักหนึ่งเสียง ปี๊ดๆ ก็ดังขึ้น รปภ. คนหนึ่งขี่จักรยานปรี่เข้าหาเราสองคน พร้อมถามว่า “มีบัตรรึยัง” ในความคิดของเขา เราสองคนคงกำลังหาทางเข้าไปแบบไม่เสียบัตร ผมไม่ใส่ใจกับท่าทีไม่เป็นมิตรของเจ้าหน้าที่ระดับล่างเช่นนี้ วิคตอเรียตอบไปว่า
“จะมีได้ยังไง คนขายตั๋วยังไม่มา” รปภ. ก็ถามกลับว่า “แล้วมีค่าเข้าหรือ” เขาคงเคยเห็นวิคตอเรียและผมเป็นคนไร้บ้านเกร่อยู่ในสวน คงไม่คิดว่าเรากำลังจะเตรียมตัวจ่ายเงินค่าเข้า วิคเตอเรีย ตอบกลับไปเสียงดัง “มีสิ”
สักพักหนึ่งคนขายตั๋วก็มาถึง เธอดูเป็นมิตรกว่า รปภ. เมื่อผมหยิบเงินยี่สิบเปโซออกมา สำหรับค่าตั๋วของเราสองคน เธอทักทายวิคตอเรีย และถามแกมหยอกว่า ผมเป็นใคร วิคตอเรีย ก็บอกว่า ผมเป็น นักศึกษา และเป็นแดดดี้ ของเธอ เช้าวันนั้น วิคตอเรีย เล่นเครื่องเล่นอย่างสนุกสนาน เธอปีนขึ้นไปบนสไลเดอร์สูงราวตึกสองชั้นและไถลลงมาอย่างสนุกสนาน แล้วต่อด้วยปีนป่ายรูปไดโนเสาร์คอยาวอย่างสนุกสนาน แต่ที่ทำให้ผมสังเกตก็คือ เวลาที่ผมหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายรูปเธอ ซึ่งโดยปกติ ผมไม่ได้พกกล้องถ่ายรูป แต่วันนี้ ผมเตรียมการเพื่อถ่ายรูปวิคตอเรียโดยเฉพาะ แอคชั่นถ่ายรูปของวิคตอเรียเหมือนเธอไม่ใช่เด็กที่โตมาจากข้างถนน ที่มักจะยื้อแย่งกล้องถ่ายรูป หรือ เข้ามาประชิดกล้องถ่ายรูป เพราะกลัวว่าตัวเองจะไม่ถูกถ่ายภาพ แต่วิคตอเรียโพสต์ท่าถ่ายรูปกับตัวการ์ตูนในสนามเด็กเล่นอย่างเป็นงาน เธอยังชวนผม ถ่ายรูป selfie ด้วยกันกับเธอ ท่าทางในการจับกล้องถ่ายรูปของเธอ ทะมัดทะแมง ไม่เหมือนเด็กที่โตมากับข้างถนน ผมมีความรู้สึกอย่างนั้น
ตาตายวิคเตอร์
เช่นเดียวกับวิคเตอเรีย ผมค่อยๆ สนิทกับตาตายวิคเตอร์ตามลำดับ จนพอจะถามไถ่คุยเรื่องราวชีวิตของแกได้ ถึงกระนั้น ประสบการณ์ที่คลุกคลีกับคนไร้บ้านมานานสอนผมว่า อย่าคาดหวังว่าคนไร้บ้านจะเปลือยชีวิตของพวกเขาให้เราได้รับรู้ การสัมภาษณ์ชีวิตคนไร้บ้านนั้นซับซ้อนกว่าที่ตำราว่าด้วยระเบียบวิธีวิจัยจะคาดถึง ตาตายวิคเตอร์ก็เช่นกัน แกรับรู้ทั้งจากคนไร้บ้านพูดถึงผมและที่ผมแนะนำตัวเองว่า ผมเป็นนักศึกษามาคลุกคลีกินนอนข้างถนนเพื่อศึกษาชีวิตของคนไร้บ้าน ผมเคยนั่งลงสัมภาษณ์แกอย่างเป็นทางการ ตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนดว่า จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาให้ “ผู้ให้ข้อมูล” เข้าใจอย่างชัดแจ้ง รวมถึง แจ้งสิทธิต่างๆ เช่น แกสามารถปฏิเสธไม่ตอบคำถามใดก็ได้ จนแกรำคาญ และตัดบทว่า พอได้แล้วจะถามอะไรก็ถามได้เลย
ตาตายเล่าเรื่องชีวิตของแกให้ฟังพอสังเขปว่า แกโตมากับครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ไม่จนไม่รวย พ่อทำงานโรงงานเบียร์ยี่ห้อดัง มีเงินเดือนและสวัสดิการเป็นข้าวสาร ทำให้ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์แร้นแค้นในวัยเด็ก แต่พ่อแกตายตั้งแต่แกยังเป็นหนุ่ม แม่กับพี่น้อง จึงใช้เงินเก็บที่พ่อมีก่อนตาย กลับไปซื้อที่ดินที่ต่างจังหวัดที่จังหวัดเลเต้ (Leyte) บ้านของแม่ ส่วนตัวแกเองก็ทำงานหาเลี้ยงชีพในมะนิลา และไปๆ มาๆ กลับบ้านที่จังหวัด ตามประสาคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในมะนิลา ด้วยแกเรียนไม่จบแม้แต่มัธยม งานที่ได้ทำส่วนใหญ่ จึงเป็นงานก่อสร้าง เป็นลูกจ้างบริษัทที่ได้รับเหมาวางระบบประปา ทำงานขุดดินวางท่อ ที่พักอาศัยของแกเมื่อครั้งทำงานก่อสร้างก็คือนอนตามแคมป์ที่ทำงาน หากช่วงที่มีเมียก็หาห้องเช่าอยู่กับเมีย อาทิตย์หนึ่งก็ออกจากแคมป์คนงานมานอนกับเมีย กระทั่งสักสิบสองปีที่แล้วแกได้เมียจนเกิดวิคตอเรีย จึงได้หอบหิ้วพากันกลับไปตั้งรกราก ที่เลเต้ บ้านของแก แล้ววิเวียนน้องของวิคตอเรียก็เกิดตามมา โดยแกปั่นสามล้อถีบรับจ้างเลี้ยงครอบครัว ปลูกบ้านง่ายๆ ในที่ดินของครอบครัวพี่น้อง จากนั้นแกเกิดเบื่อ เลยกลับมามะนิลา
ผมถามตาตายว่า “อยู่ที่ต่างจังหวัด ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเข้ามา มะนิลา”
“แน่นอน มีเหตุผล แต่เป็นความลับ” ตาตายวิคเตอร์ ตอบกลั้วเสียงหัวเราะ กลับความลับที่แกไม่อยากบอก และผมก็ไม่ควรที่จะซักไซ้
ผมข้ามเรื่องนั้นไป แต่มาถามแก เรื่องที่แกเข้ามาที่มะนิลา แกบอกว่า แกมีน้องชายอยู่ใน อินตรามูโรส ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าของมะนิลา ตั้งแต่สมัยสเปน แต่ปัจจุบันพื้นที่หลายส่วนในอิตรามูโรสถูกแปลงเป็นย่านที่อยู่ของคนจน แกจึงหอบหิ้วลูกสาวสองคนมาขอพักกับน้องชาย แต่อยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็ย้ายออกมา โดยแกเล่าให้ฟังว่า
“โอ๊ย วุ่นวาย น้องชายลุงก็มีลูก ลุงก็มีลูก พอเด็กๆ มันเล่นกัน เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวก็แย่งของเล่นกัน วุ่นวาย ปวดหัว เราเป็นคนพาลูกมาอยู่กับเขา ก็เลยเหมือนกับว่า เรามาสร้างเรื่องวุ่นวาย อีกอย่างน้องชายก็ขี้เหนียวอย่างกับอะไร ลุงพักอยู่กับมัน มีห้องเล็กๆ ใต้หลังคา หน้าต่างก็ไม่มี ร้อนก็ร้อน เราจะเปิดไฟ เปิดพัดลม มันก็ไม่ให้เปิด บอกว่า เปลืองไฟ” สุดท้ายแกจึงตัดสินใจหอบหิ้วลูกออกมานอนที่สวนสาธารณะโลวโต้นใกล้ๆ กับอินตรามูโรส
แกบอกว่า พอออกมานอนข้างนอก ไม่รู้สึกว่าน่ากลัวอะไร แถมลมเย็นดีกว่านอนอยู่ในบ้านน้องชายอีก หลังจากนั้นอยู่ข้างถนนได้แค่สองคืน ก็มีนายหน้าหาคนงานไปทำงานในฟาร์มเลี้ยงหมู แกบอกว่า แกอยากจะไปทำแม้เงินเดือนไม่เยอะ แค่สองพันเปโซ (ราว 1,500 บาท) แต่มีที่กินที่นอน และสามารถหอบหิ้วลูกไปอยู่ด้วยได้ ผิดกับงานอื่นๆ ที่นายจ้างไม่อยากรับคนงานที่มีลูกติด
ถึงเช้าวันที่นายหน้านัด จะพาคนงานไปทำงาน เป็นวันโชคร้ายของตาตายวิคเตอร์ แกบอกว่า เป็นช่วงหัวรุ่ง ก่อนถึงเวลานัดหกโมงเช้าที่นายหน้าจะมารับ แกรู้สึกปวดอยากเข้าห้องน้ำ แต่ไม่มีห้องน้ำที่ไหนเปิดในเวลาหัวรุ่งเช่นนั้น แกจึงทำเช่นเดียวกับคนไร้บ้านคนอื่นๆ คือ ข้ามถนนจากฝั่งโลวโต้นไปหาที่ถ่ายตามมุมมืดริมกำแพงอินตรามูโรส เมื่อจัดการธุระตัวเองเสร็จ แกวิ่งข้ามถนนกลับมา ก็ถูกรถจิปนี่ที่วิ่งมาด้วยความเร็วชนเข้าอย่างจัง แล้วก็ขับรถหนีไป คนขับรถสามล้อถีบ ที่อยู่แถวนั้นสงสาร จึงช่วยถีบสามล้อพาแกไปส่งโรงพยาบาลรัฐ ที่ใกล้ที่สุดก็คือ โรงพยาบาลมะนิลา ผลการเอกซเรย์ บอกให้รู้ว่า กระดูกหน้าแข้งแกหัก ต้องเข้าเฝือก หมอจัดการเข้าเฝือกให้แก แล้วก็ส่งแกออกจากโรงพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายยาใดๆ ให้แก แกได้คนช่วยเหลือ หาท่อนไม้ให้แกเดินโขยกเขยกออกจากโรงพยาบาล
จากโรงพยาบาล แกกระโผลกกระเผลกกลับมาหาลูกน้อยสองคนที่โลวโต้น ซึ่งกำลังกระวนกระวายไม่รู้ว่าพ่อไปอยู่ที่ไหน จากนั้น ชีวิตสามพ่อลูกข้างถนน ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างยากลำบาก เมื่อพ่อทำงานหาเลี้ยงไม่ได้ จึงกลายเป็นลูกสาวสองคนที่แกบอกว่า เด็กไม่ได้ขอ เพียงแต่ไม่นั่งอยู่แถวริมทางเท้า คนเดินผ่านไปผ่าน สงสารก็ให้เงินเด็ก จึงมีเงินซื้อข้าวกิน ทำนองเดียวกัน ตัวแกเองนั้น ขาหัก เดินไปไหนมาไหน ไม่สะดวก จึงได้แค่นั่งอยู่ริมทางเท้า แถว Mabini ที่เป็นย่านสำนักงานไม่ไกลจากสวนริซัล เมื่อคนเห็นคนแก่อย่างแก เข้าเฝือกเดินไม่ได้ นั่งอยู่ข้างทางเดินก็มักจะมีคนให้เงินหรือาหาร โดยที่แกไม่ได้ขอ “แม้แต่ไม้เท้าที่ลุงใช้อยู่ ลุงจะมีเงินที่ไหนซื้อ แต่ตรงที่ลุงนั่งมันใกล้กับคลีนิค หมอที่เขาเดินผ่าน เห็นขาลุงใส่เฝือก แต่ใช้แค่ไม่ไผ่ค้ำเดิน ก็เลยเอาไม้เท้ามาให้”
หลายเดือนผ่านไป ผมสนิทกับตาตายวิคเตอร์มากขึ้น กลายเป็นแกที่ชวนผมคุย วันหนึ่งขณะที่เรากำลังนั่งรอเพื่อลงชื่อร่วมกิจกรรมเรียนไบเบิลเพื่อจะได้รับแจกอาหาร แกถามผมว่า ปีนี้อายุเท่าไหร่แล้ว พอผมตอบว่า สี่สิบ แกก็บอกว่า “สี่สิบ แล้วยังเรียนหนังสือไม่จบอีกเหรอนี่ ตอนลุงอายุสี่สิบ มีเมียไปไม่รู้กี่คนแล้ว”
ว่าแล้วแกก็เล่าชีวิตวัยหนุ่มให้ผมฟังอย่างมีสีสัน จะเรียกว่าเป็นชีวิตที่โลดโผนผจญภัยพเนจร หรือ เรียกว่า ชีวิตที่เปราะบางขาดความมั่นคง ก็มีเพียงเส้นแบ่งบางๆ เท่านั้นที่กั้นอยู่ แกบอกว่า สวนริซัล ซึ่งเป็นชื่อที่รัฐตั้งหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าลูเนต้า คนรุ่นแกเมื่อครั้งหนุ่มๆ ไม่มีใครไม่รู้จัก ถ้ามาจากต่างจังหวัด ไม่มีญาติพี่น้องก็มาหานอนแถวนี้ก่อนจะไปออกหางานทำที่อื่น ครั้นทำงานแล้ว วันเงินออก อยากจะมาหาสาว ก็แวะมาลูเนต้าอีก ฟังแล้วผมคิดว่า ลูเนต้า ทำหน้าที่ไม่ต่างกับสนามหลวงบ้านเราเมื่อครั้งอดีต ตาตายวิคเตอร์ เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อราวสิบปีที่แล้ว แกมาเที่ยวลูเนต้าพบผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าพูดตรงๆ ก็คือหญิงขายบริการ หรือเรียกว่า โป๊กโป๊ก (pogpog) ที่เป็นแสลงในภาษาตากาล็อก แกพาหญิงคนนี้ ไปอยู่ด้วยกัน โดยเช่าห้องงไว้ ส่วนแกไปตั้งแต่วันจันทร์กระทั่งเย็นวันเสาร์จึงกลับมาหาเมียครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเมียแกท้องเกิดวิคเตอเรีย แต่ปัญหาก็คือ แม้จะมีลูกแล้ว แม่ของวิคตอเรีย ยังกลับมาที่ลูเนต้า อยู่เนืองๆ ไม่ใช่แค่กลับมาหาเงิน แต่กลับมาขลุกอยู่กับเพื่อนดมกาว จนแกคิดว่า เมียคงไม่สามารถตัดขาดกับลูเนต้าได้ หากยังอยู่มะนิลา จึงตัดสินใจหอบลูกเมียกลับไปต่างจังหวัด ไปเริ่มชีวิตใหม่และเกิดลูกน้อยด้วยกันอีกคน คือวิเวียน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับแม่ของวิคตอเรียได้ เธอแยกกลับมามะนิลาคนเดียว เมื่อห้าปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นยังอุ้มท้องอยู่ เป็นลูกที่ตาตายวิคเตอร์ไม่เคยเห็นหน้า
ผมได้จังหวะ จึงถามแกถึงความลับที่แกไม่ยอมบอกผมก่อนหน้านี้ว่า อยู่ที่ต่างจังหวัดดีอยู่แล้ว ทำไมถึงเข้ามามะนิลา คราวนี้ แกยอมเล่าเรื่องราวให้ผมฟังว่า ที่จำเป็นต้องมาที่นี่ เพราะลูกสาวแกคนเล็ก ถูกตำรวจบ้าน (Baranggay tanod) จับว่า ขโมยของในสำนักงานของบารังกัย (barangay) แกจำเป็นต้องช่วยลูกแก ก็เลย ใช้มีดขู่ บารังกัยกัปตันซึ่งเป็นผู้หญิง ให้ปล่อยลูกแก ไม่เช่นนั้น แกจะทำร้ายผัวของบารังกัยกัปตัน สุดท้าย บารังกัยกัปตัน จึงยอมปล่อยลูกแก
แต่แกรู้ดีว่า แกไม่สามารถอยู่ในพื้นที่นั้นได้แล้ว จึงต้องรีบหนีออกจากพื้นที่ทันที ด้วยการปั่นสามล้อหนีไปอีกเมืองหนึ่ง ขณะเล่าถึงตอนนี้ แกก็ทำท่าปั่นรถสามล้ออย่างเร่งรีบให้ผมดู แกเล่าว่า แกใช้เวลาปั่นสามล้อถีบร่วมสามชั่วโมง จึงพ้นจากเมืองที่แกอยู่ แล้วโทรศัพท์กัไปบอกพี่น้องที่บ้านว่า ตัวแกจะหนีไปมะนิลา ทั้งๆ ที่จริงแล้ว แกยังไม่ได้เข้ามะนิลา แกยังคงถีบสามล้อาหากินอยู่ที่เมืองเบลิน แต่แกโทรกลับไปหลอก เพื่อไม่ให้คนของบารังกัยกัปตัน ออกตามหาตัวแก ตาตายวิคเตอร์ รับจ้างปั่นสามล้อถีบที่เบลินอยู่สองเดือนก็พบว่า ทำมาหากินได้ไม่ดี จึงตัดสินใจ ขายรถสามล้อถีบ เป็นค่ารถมามะนิลา ตั้งใจจะมาพักกับน้องชาย และหางานทำ แต่สุดท้าย มาจบลงที่การเป็นคนไร้บ้าน
******
ช่วงสองอาทิตย์สุดท้ายก่อนผมจะกลับจากมะนิลา ผมเริ่มร่ำลาคนไร้บ้านที่ผมคลุกคลีด้วย รวมถึงตาตายวิคเตอร์และวิคตอเรีย ผมเริ่มคุยถึงชีวิตของวิคตอเรียและสนับสนุนให้เธอกลับไปอยู่กับบ้านเด็กข้างถนนเช่นเดียวกับวิเวียน ผมเคยไปเยี่ยมวิเวียนกับตาตายวิคเตอร์และวิคตอเรียมาแล้ว พบว่าวิเวียนเปลี่ยนไปอย่างน่าประทับใจ เธอไม่ก้าวร้าวเหมือนเมื่อก่อน วิเวียนทักทายพ่อและผมอย่างน่ารัก ด้วยการเอาหลังมือผมแตะหน้าผากเธอ ซึ่งเป็นวิธีการที่เด็กทำความเคารพผู้ใหญ่ และโผเข้ากอดพี่สาวทันทีที่สองพี่น้องได้พบกัน ครูที่โรงเรียนบอกผมว่า วิคตอเรีย ถูกชักชวนโดยเด็กอีกคนให้หนีออกจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่วิคตอเรียก็ปรับตัวอยู่ในบ้านนั้นได้ดีแล้ว ไม่น่าจะเชื่อคำชักจูงปีนโรงเรียนหนีออกไป
ผมชักแม่น้ำ บอกวิคตอเรียว่า ให้ไปอยู่บ้านเด็กเหมือนที่วิเวียนอยู่ เพื่อจะได้เข้าโรงเรียน ดีกว่าใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน ไม่ได้เรียนหนังสือ ต่อไปจะหางานยาก ซึ่งตาตายวิคเตอร์ก็เห็นด้วย วิคตอเรียทำท่าคล้อยตาม และถามผมว่า ถ้าเธอไปอยู่บ้านเด็กแล้ว ผมจะไปเยี่ยมเธอหรือไม่ ผมบอกว่า ผมอยากไปเยี่ยม แต่ผมกำลังจะกลับเมืองไทยแล้ว
ถึงตอนนี้วิคตอเรียถามผมเสียงอ๋อย “น้าบุนจะออกเดินทางเมื่อไหร่” อันที่จริง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอถามผม
“วันที่ 14 มีนา” ผมตอบวิคตอเรีย
“แน่นอนแล้วเหรอ” เธอถามเสียงสูง
“แน่นอนสิ น้าซื้อตั๋วแล้ว” ตอนที่พูดออกไป ผมรู้สึกได้ว่า เสียงผม ไม่ดีใจเหมือนคนที่กำลังจะกลับบ้าน
“แล้วเมื่อไหร่จะกลับมาอีก เมื่อไหร่จะกลับมาเยี่ยมหนูอีก” เป็นคำถามง่ายๆ ซื่อๆ แต่บาดใจที่สุด เท่าที่ผมเคยได้ยิน
“น้ายังไม่รู้เลย”
ผมไม่กล้าสัญญา ผมรู้ดีกว่า คำสัญญานั้นมีความหมายเพียงใด สำหรับเด็กอย่างวิคตอเรีย อีกทั้งผมไม่กล้าให้ความหวัง ผมไม่อยากให้ใครรู้สึกว่า กำลังรอคอยการกลับมาของผม ผมรู้ดีว่า ผมไม่ใช่คนสำคัญ แต่ผมก็รู้ตัว การใช้ชีวิตของผมอยู่ข้างถนนก่อให้เกิดความผูกพันที่มีความหมายสำหรับคนหลายคน รวมทั้งตัวผมเอง เมื่อถึงห้วงยามที่ต้องจากจร มันจึงเกิดความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย
ผมเอามือลูบหัววิคตอเรียแทนคำพูด ขณะที่เธอเบียดตัวมาซบอยู่ที่หน้าตักผม.
[1] ซีแมน ในที่นี้ หมายถึง Seaman ทางเท้าด้านข้างของสวนสาธารณะริซัล ในมะนิลา ที่จะมีคนฟิลิปปินส์ ที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ มาหาสมัครงานผ่าน เอเยนต์ที่จะมาตั้งบูทรับสมัครคนงาน เหตุที่เรียกว่าซีแมน เพราะแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในต่างประเทศรุ่นแรกตั้งแต่ช่วงปี .... เป็นแรงงานที่ทำงานในเรือขนส่งระหว่างประเทศ หรือ seaman คำว่า seaman จึงมักใช้เรียกแรงงานชายที่ไปทำงานต่างประเทศ แม้ว่า โดยข้อเท็จจริง แรงงานเหล่านี้จะไม่ได้ทำงานในเรือเดินทะเลก็ตาม
[2] ตาตาย (Tatay) แปลว่าพ่อ ในภาษาตากาล็อก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ