สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ แล้ว 189 เสียงงดออก 2 เสียงพร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คนเพื่อพิจารณาต่อ ระบุแก้กฎหมานเดิมที่ใช้มากว่า 50 ปี ให้ทันสมัยสอดคล้องกติกาสากล (ที่มาภาพประกอบ: prd.go.th)
12 ก.พ. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ...ซึ่ง ครม.เป็นผู้เสนอ โดยนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์ ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายว่า ร่างพ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางรังสีและนิวเคลียร์ จึงจำเป็นที่จะต้องการกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และรังสี และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชน และสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากลที่เกี่ยวกับพลังงานนิเคลียร์
โดยร่างพ.ร.บ.ฯ มีสาระสำคัญ คือกำหนดขอบเขตการใช้บังคับเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ และไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร กำหนดให้มีคณะกรรมการโดยมีนายกฯเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล การใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์กำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสี ร่าง พ.ร.บ.นี้เน้นควบคุมและกำกับการใช้ประโยชน์วัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี วัสดุนิวเคลียร์ สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุม
จากนั้นสมาชิก สนช. ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองและป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มั่นคง และปลอดภัย โดยคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้จัดตั้งภายใต้สหประชาชาติ โดยประเทศไทยได้ลงนามเป็นสมาชิกองค์การนี้ในปี 2500 และปี 2501 ได้มีการจัดซื้อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่ได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับนิวเคลียร์ และในปี 2505 ก็เริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู มีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์มานานแล้วและส่งคนไปเรียนมีความรู้ ที่เป็นรู้จักคือ นายสิปนนท์ เกตุทัต สำเร็จการศึกษาด้านนิวเคลียร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด จากนั้นก็มีการส่งคนไปเรียนสืบมาต่อเนื่อง ซึ่งวิทยาการด้านนิวเคลียร์เป็นพื้นฐานของวิทยาการอื่นๆจำนวนมาก เป็นศาสตร์ทางด้านฟิซิกซ์อนุภาค เกี่ยวกับพลังงานระดับสูง
คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามอะไรที่มีประโยชน์มาก ก็อาจจะมีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน ที่กลัวกันคือเมื่อเกิดเหตุแล้วก็จะมีความรุนแรงมาก จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายและองค์กรระหว่างประเทศ ควบคุมอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาที่จะมีสารกัมมันตรังสีในประเทศไทยก็จะอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามกติกาสากล ทั้งนี้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญมีไว้เพื่อการป้องกัน เพื่อที่จะให้ประชาชนปลอดภัย ที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เพราะกฎหมายเดิมเก่ามากแล้วผ่านมา 50 ปี ก็ต้องแก้ไข ให้เป็นไปตามกติกาสากล ซึ่งมีความเข้มงวดอย่างมาก ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้เขียนหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะควบคุมกำกับดูแลทุกด้าน ค่อนข้างชัดเจน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม หลายคนกลัวว่าจะเป็นกฎหมายที่จะหมกเม็ดสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ เท่าที่ดูมาตรา 51 กำหนดไว้มากว่าต้องรับฟังความเห็นของประชาชน ศึกษาผลกระทบ ถ้าจะสร้างก็ต้องผ่านด่านสำคัญมากมาย ด่านสำคัญที่สุดคือความเข้าใจของประชาชน วันนี้ประเทศไทยเราใช้นิวเคลียร์รังสีมากกว่าพลังงาน จึงขอเสนอให้เพิ่มอำนาจหน้าของคณะกรรมการในเรื่องการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคคลากรต้องมีมาตรฐานสูง และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และออกกฎหมายลูกให้ครบถ้วนโดยเร็ว
ด้านนายภิรมย์ กมลรัตนกุล สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะจะเกิดประโยชน์โดยเฉพาะการควบคุมป้องกันอันตรายต่อสังคมและชุมชนโดยส่วนรวม แต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ3ประการคือ1.คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต และเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา29และ41ได้บัญญัติถึงคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต ว่าต้องมีอายุไม่ตำว่า20ปีบริบูรณ์ตนมีความเห็นว่า ควรกำหนดอายุให้มากกว่านี้เพื่อให้มีวุฒิภาวะมากขึ้น เนื่องจากอายุ20ปียังไม่จบปริญญาตรี ซึ่งผู้รับใบอนุญาตต้องมีความรับผิดชอบที่สูงมากหากเกิดปัญหาขึ้น ส่วนคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสีเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางเทคนิคนิวเคลียร์และจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตามมาตรา95กำหนดแค่เป็น ผู้บรรลุนิติภาวะ ตนเห็นว่าควรมีการกำหนดคุณวุฒิทางการศึกษาไว้ด้วย เช่น จบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากต้องทำหน้าที่ดูแลการใช้งานที่ถูกต้อง ปลอดภัย สามารถระงับเหตุเบื้องต้นได้หากมีอะไรผิดปกติ และต้องมีความรับผิดชอบค่อนข้างสูงควรวุฒิสภาวะพอสมควร
นายภิรมย์ กล่าวอีกว่า 2.ข้อยกเว้นวัตถุกัมมันตรังสี ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ในมาตราที่ 20 กำหนดวัตถุกัมมันตรังสีที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเนื่องจากแต่ชุดจะมีกัมมันตรังภาพต่ำมาก เช่น เครื่องตรวจวัดควัน แต่หากมีการใช้งานนานก็จะมีสารจำนวนมากในอนาคตอันใกล้ ก็อาจส่งผลกระทบได้ นอกจากการกำหนดการครอบครองหรือการใช้วัตถุกัมมันตรังสีต่อเลขาธิการแล้ว ควรกำหนดเพิ่มเติมต้องแจ้งเมื่อเลิกการใช้งานด้วย และต้องส่งเรื่องเพื่อกำจัดการกัมมันตรังสีอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย และ3.ขอบเขตความรับผิดรับผิดต่ออุบัติภัยหรือเหตุอื่นๆอันเกิดจากพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้ยังขาดความรับผิดไม่ว่าระดับใด และผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการรับมือหากเกิดอุบัติภัยเกิดขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนจัดการหากมีการเกิดอุบัติภัยต่างๆเหล่านี้ด้วย
หลังจากสมาชิกได้อภิปรายให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพ.ร.บ.ในวาระแรกด้วยคะแนน 189 งดออกเสียง 2 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คนเพื่อพิจารณาต่อไป
ดาวน์โหลด: ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ