บริษัทในเครือ ปตท. หวังนำ 'ปาล์ม' รุกอีสาน ผุด 1 ล้านไร่ใน 10 ปี 

12 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 13471 ครั้ง


	บริษัทในเครือ ปตท. หวังนำ 'ปาล์ม' รุกอีสาน ผุด 1 ล้านไร่ใน 10 ปี 

GGC บริษัทในเครือของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) จับมือบริษัทอีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มและบริษัทโฮมปาล์ม พลิกพื้นที่อีสานตอนบนเป็นแหล่งปลูกปาล์มครบวงจร 1 ล้านไร่ใน 10 ปี โดยสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาการเพาะปลูกตามมาตรฐานปาล์มยุโรป RSPO ช่วยดันราคาขายสูงกว่าปาล์มทั่วไป 20 สตางค์ต่อกิโลกรัม ยืนยันผลผลิตปาล์มภาคอีสานคุณภาพใกล้เคียงภาคใต้ และไม่ทำลายวิถีปลูกข้าวและพืชเกษตรอื่น ๆ (ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center)

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่านายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือ GGC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า GGC ได้ร่วมมือกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด และบริษัท โฮมปาล์ม จำกัด จัดตั้งกลุ่มกรีนอีสานปาล์มขึ้น เพื่อผลักดันให้เกษตรกรภาคอีสานตอนบนหันมาปลูกปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืนและครบวงจร โดยเฉพาะเกษตรกรในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ หนองบัวลำภู และนครพนม เป็นต้น ซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีสภาพดินและความชื้นเหมาะแก่การปลูกปาล์มได้

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสานตอนบนให้ได้ 1 ล้านไร่ ภายในปี 10 ปีจากนี้ โดยปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้วกว่าแสนไร่ แต่กลุ่มกรีนอีสานปาล์มต้องการจะผลักดันให้เกษตรกรพัฒนาไปสู่การเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นมาตรฐานกลุ่มผู้ค้าปาล์มของยุโรป เนื่องจากปาล์มที่ผลิตออกมาจะมีมาตรฐานที่ดีแล้วยังผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน RSPO ยังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศและทำให้เกษตรกรจำหน่ายปาล์มน้ำมันได้ราคาเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งสูงกว่าราคาทั่วไป 10-20 สตางค์ต่อกิโลกรัม 

RSPO หรือ Roundtable on Sustainable Palm Oil เป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อชุมชน ซึ่งอุตสาหกรรมปาล์มให้ความสำคัญกับมาตรฐานดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป

ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกปาล์มที่ได้มาตรฐาน RSPO แล้วกว่า 8,000 ไร่ และคาดว่าปลายปี 2559 นี้จะครบ 1 หมื่นไร่ และตั้งเป้าหมายในปี 2560 จะขยายไปถึง 4 หมื่นไร่ 

"การเลือกพื้นที่ภาคอีสานปลูกปาล์ม เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการปาล์มอีกมาก รวมทั้งต้องการเข้ามาบูรณาการการปลูกปาล์มที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน ซึ่งภาคอีสานเพิ่งเริ่มต้นจึงสามารถเอาระบบมาบริหารจัดการได้ แต่ภาคใต้มีการเพาะปลูกมานาน การเข้าไปสร้างระบบอาจเกิดความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้อื่นได้ ซึ่งยืนยันว่าภาคอีสานสามารถปลูกปาล์มได้แน่นอน และทำให้มีคุณภาพดีเท่ากับภาคใต้ได้" นายจิรวัฒน์ กล่าว 

สำหรับปาล์มน้ำมันที่ผลิตจากภาคอีสานที่ได้รับการส่งเสริมจากกลุ่มกรีนอีสานปาล์มทั้งหมดนั้น ทางโรงสกัดของบริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด จะรับซื้อไว้ทั้งหมดทั้งที่ได้และไม่ได้มาตรฐาน RSPO แต่จะให้ราคาที่แตกต่างกัน 

ขณะที่ GGC ซึ่งเป็นผู้ใช้ปาล์มน้ำมันในกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ยังมีความต้องการปาล์มน้ำมันอีกมาก ประมาณ 2 แสนตันต่อปี หรือ 10% ของน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ทั้งประเทศ และต้องการเมล็ดปาล์มน้ำมันจำนวน 1.2 แสนตันต่อปี เพื่อมาเป็นวัตถุดิบแฟตตี้แอลกอฮอล์ หรือทำสารลดแรงตึงผิวในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก เป็นต้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยผลิตได้เพียง 1.4 แสนตันต่อปี และยังเกิดการนำไปส่งออกขายต่างประเทศจนทำให้ขาดแคลนและต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 2-3 หมื่นตันต่อปี 

นอกจากนี้ GGC ยังมีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันในผลิตภัณฑ์ผลิตไบโอดีเซลB100 จำนวน 3 แสนตันต่อปี, ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ 1 แสนตันต่อปี และกลีเซอรีน ที่เป็นส่วนผสมใช้ทำโลชั่น และยาน้ำมันเชื่อม เป็นต้น จำนวน 31,000 ตันต่อปี ดังนั้นจึงต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรภาคอีสานปลูกปาล์มน้ำมัน โดยยืนยันว่ามีตลาดรองรับอย่างแน่นอน 

"ปัจจุบันตลาดต่างประเทศต้องการผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ควบคุมเรื่องการเพาะปลูกโดยไม่บุกรุกป่าสงวน หรือ ปลูกในพื้นที่ที่มีโฉนดชัดเจน มีการจัดทำบัญชีผลผลิตการซื้อขายปาล์มน้ำมันของเกษตรกรอย่างชัดเจน โดยต่างประเทศจะให้ราคาที่สูงและต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ RSPO ประมาณ 70 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ดังนั้น GGC จึงต้องการผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าว โดยให้งบสนับสนุนการเข้าสู่ระบบ RSPO สำหรับเกษตรกรรายย่อย ผ่านทางกลุ่มกรีนอีสานปาล์มจำนวน 2 ล้านบาทต่อปี" นายจิรวัฒน์​ กล่าว

นายบรม เอ่งฉ้วน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เข้ามาตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มและเริ่มผลิตเมื่อ 22 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ที่อ.วานรนิวาส จ. สกลนคร และเปิดรับซื้อผลปาล์มกับเกษตรกรอีสาน ทั้งจากจังหวัดชัยภูมิ เลย บึงกาฬ นครพนม เป็นต้น เพื่อให้เกษตรมั่นใจว่ามีจุดขายปาล์มได้แน่นอน รองรับผลผลิตปาล์มได้สูงสุด 6-8 หมื่นตันต่อปี และในอนาคตจะขยายโรงสกัดเพิ่มอีก 1 แห่งในจ.สกลนคร เพื่อรองรับการเติบโตของผลผลิตปาล์มที่จะเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน 

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท โฮมปาล์มฯ เข้ามาอบรมให้ความรู้เกษตรกรภาคอีสาน รวมถึงสอนการเพาะปลูกที่ถูกต้อง และการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน RSPO พร้อมทั้งจำหน่ายต้นกล้าปาล์มในราคาถูก 99 บาทต่อต้น เพื่อให้การเพาะปลูกได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นทางก่อนส่งมาจำหน่ายที่โรงสกัด โดยจะมีการจัดทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้เกษตรกรเพื่อแสดงให้เห็นประวัติการซื้อขาย ปริมาณผลผลิต สำหรับนำมาเป็นข้อมูลช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุดต่อไป 

นายประเสริฐ บุญมาแย้ม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมปาล์ม จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตปาล์มที่ปลูกในภาคอีสานตอนบนไม่ได้แตกต่างกับภาคใต้ เพราะภาคอีสานตอนบนมีสภาพดินที่ชื้น แต่หัวใจสำคัญคือ การเลือกพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสำหรับปลูกในภาคอีสานเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเสริมพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับภาคอีสานโดยตรง คือ พันธุ์ลูกผสมโฮมฟาร์ม โดยสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่น้ำน้อย ทนแล้งได้ ให้ผลผลิตน้ำมันสูง นอกจากนี้โฮมปาล์มยังให้ความรู้เกษตรกรทุกขั้นตอนทั้งเรื่องการให้ปุ๋ย กระบวนการปลูกการดูแลที่ถูกต้อง ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรมากว่า 4 ปีแล้ว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: