ตัวแทนสวนส้มร้อง ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ช่วยเหลือ หลัง ส.ป.ก. สั่งรื้อถอนส้มกว่า 5,000 ไร่ภายวันที่ 18 ต.ค.นี้ อ้างใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต กระทบชาวสวนส้มเป็นวงกว้าง (ที่มาภาพประกอบ: คมชัดลึก)
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ รายงานว่ากลุ่มตัวแทนชาวสวนส้มจาก อ.ฝาง และ อ.แม่อาย เข้าพบ นายปวิณ ชานิประ ศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ เพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จ.เชียงใหม่ ยื่นคำขาดให้รื้อถอนสวนส้มออกจากพื้นที่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่รุกล้ำปลูกสวนส้มในพื้นที่ ส.ป.ก.กว่า 5,000 ไร่ ภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้หากกลุ่มชาวสวนส้มต้องรื้อถอนตามคำสั่งของ ส.ป.ก.เชียงใหม่ ให้ยุติการดำเนินการในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ปักแนวเขตแล้ว จะได้รับความเดือดร้อน และสวนส้มดังกล่าวได้ลงทุนบำรุงรักษาเพื่อที่จะให้ผลผลิตออกมาเต็มกำลัง หากไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่องก็จะได้รับความเสียหายและเกิดผล กระทบชาวสวนส้มเป็นวงกว้าง
นายปวิณ ผวจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตรวจสอบและประกาศแล้วว่าพื้นที่ที่ทำสวนส้มอยู่ในขณะนี้เป็นเขต ส.ป.ก.2540 แล้ว จะมีการหลงลืมและไม่ได้ไปยื่นใช้สิทธิ ส.ป.ก. จึงเข้าข่ายว่าไม่มีการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งข้อเรียกร้องของชาวสวนส้ม คือต้องการสิทธิดูแลสวนส้มที่ได้ลงทุนไปแล้วจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ
ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ทาง ส.ป.ก.เชียงใหม่ จะนำเรื่องเสนอต่อเลขาธิการ ส.ป.ก.ให้รับทราบว่ากรณีของ จ.เชียงใหม่ อาจจะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ โดยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ชาวสวนเข้าไปประกอบอาชีพในที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นเกษตรกรรายเล็กไม่เกิน 50 ไร่ 93 ราย ซึ่งชาวสวนยินดีที่จะทำกฎหมาย หากจะให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะนำประเด็นนี้หารือกับทางเลขาธิการ ส.ป.ก.เพื่อเยียวยาเกษตรกรต่อไป
ด้าน นายไพรน้อย แซ่เตี๋ยว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการปักเขตและแจ้งให้รื้อถอนออกไปมีทั้งหมด 5 แปลง กว่า 5,000 ไร่ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นสวนส้มของบริษัทรายใหญ่ 2 ราย คือ สวนส้มธนาธรกว่า 2,000 ไร่ และสวนส้มทรายทองกว่า 3,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม หลังจากคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ ส.ป.ก.ดำเนินการตามมาตรา 44 ใน 3 ประเด็น คือ 1.ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ที่ไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป 2.ผู้ที่ได้รับที่ดินจาก ส.ป.ก.100 ไร่ขึ้นไป แต่มีการจำหน่าย จ่ายโอน และ 3.ผู้ที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. 500 ไร่ กระบวนการศาลสิ้นสุดแล้ว แต่เจ้าของที่ดินไม่ยอมดำเนินการ ซึ่ง จ.เชียงใหม่ กำลังดำเนินการตาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ในข้อที่ 1
อนึ่ง คมชัดลึก รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่านายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อม นายธนู มีแสงเงิน ผู้ตรวจราชการ กษ. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ม.44 ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่เป้าหมาย 6,000 กว่าไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะตรวจสอบหลักฐาน
นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินการตาม ม.44 ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ขนาดพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยพื้นที่เป้าหมายขนาด 6000 ไร่เศษ เป็นของสวนส้มขนาดใหญ่ 2 ราย ระบุชื่อครอบครองเป็น บริษัท เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด หรือ ที่รู้จักกันในชื่อของสวนส้มทรายทอง กินพื้นที่จำนวน 4 แปลง ในตำบลบ้านหลวง ตำบลสันต้นหมื้อ อำเภอแม่อาย คาบเกี่ยวตำบลเวียง อำเภอฝาง อีกบริษัท ส.ป.ก. ระบุชื่อผู้ครอบครอง คือ บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด หรือสวนส้มธนาธร กินพื้นที่จำนวน 5 แปลง อยู่ในพื้นที่ตำบลเวียง อำเภอฝาง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบหลักฐานจากการขอยื่นคัดค้าน ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 แปลง ได้แก่
1.แปลงที่ นัมเบอร์ 786 ประกอบด้วย 1.บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด เนื้อที่คัดค้าน 759 ไร่ 2.บริษัท เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด (สวนทรายทอง) เนื้อที่คัดค้าน 295.46 ไร่
2.แปลงที่ นัมเบอร์ 787 ประกอบด้วย บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด เนื้อที่คัดค้าน 214.91 ไร่ และ บริษัท เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด (สวนทรายทอง) เนื้อที่คัดค้าน 784.94 ไร่
3.แปลงที่ นัมเบอร์ 788 ประกอบด้วย บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด เนื้อที่คัดค้าน 461 ไร่ และ บริษัท เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด (สวนทรายทอง) เนื้อที่คัดค้าน 2,010.62 ไร่
4.แปลงที่ นัมเบอร์ 789 ประกอบด้วย บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด เนื้อที่คัดค้าน 459 ไร่ และ บริษัท เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด (สวนทรายทอง) เนื้อที่คัดค้าน 203.01 ไร่
5.แปลงที่ นัมเบอร์ 790 ประกอบด้วย บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด เนื้อที่คัดค้าน 246 ไร่
นอกจากนี้มีพื้นที่ซึ่งไม่เข้าข่ายขนาดมากกว่า 500 ไร่อีกบางส่วน โดยกระบวนพิจารณาตรวจสอบหลักฐานจากการขอยื่นคัดค้าน ส.ป.ก.ได้ตรวจสอบด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยคาดว่าจะตรวจหลักฐานแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน 2559 และกระบวนการถัดจากนี้ จะเป็นการปิดป้ายประกาศให้ผู้ครอบครองที่ดินส่งมอบคืนให้แก่สปก. ส่วนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่จะยึดเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ และดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย ส่วนผลอาสิณ (ต้นส้ม) หากผู้ครอบครองที่ดินจะไม่รื้อถอนออกไปและประสงค์จะมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. ก็เป็นกรณีที่ ส.ป.ก. สามารถใช้ดุลพินิจรับไว้ได้ หากเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็จะจัดสรรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ตามในการลงพื้นที่ตรวจสอบวันนี้(4 ก.ย.)ได้มีตัวแทนจากสวนส้ม คือ นายวันจันทร์ ศิวบุณยวงศ์ บ.เชียงใหม่มิตรเกษตร จำกัด ได้มาต้อนรับ พาลงพื้นที่ พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดค้าน ซึ่งในกระบวนการก็ต้องให้ทาง ส.ป.ก. เชียงใหม่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ