คนไทย 70% เข้าไม่ถึงน้ำสะอาด เหตุประปาหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐาน 

12 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 8812 ครั้ง


	คนไทย 70% เข้าไม่ถึงน้ำสะอาด เหตุประปาหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐาน 

พบครัวเรือนไทยเข้าถึงน้ำสะอาดเพียง 30% ขณะที่อีก 70% พึ่งประปาหมู่บ้าน เกินครึ่งไม่ได้มาตรฐาน เหตุหลักจากท้องถิ่นไม่มีความรู้และงบประมาณ หวังเชื่อมสมัชชาชาติฯ แก้ปัญหาร่วม [ที่มาภาพประกอบ: PIX1861 (CC0 Public Domain)]

12 ธ.ค. 2559 ปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีประชากรเพียงร้อยละ 30 ที่เข้าถึงน้ำดื่มสะอาดปลอดภัยและได้มาตรฐาน ขณะที่อีกร้อยละ 70 ยังประสบกับปัญหาน้ำดื่มนำใช้ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้ดื่มน้ำผ่านระบบประปาหมู่บ้าน โดยจังหวัดชัยนาท เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบกับปัญาน้ำดื่มอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะความสะอาดของน้ำ หลายหมู่บ้านใช้น้ำจากใต้ดินโดยไม่ผ่านการกรองโดยตรง หรือปัญหาน้ำไม่ไหลหรือไหลช้าโดยเฉพาะหลังวิกฤติภัยแล้งปี 2557 หลายหมู่บ้านน้ำแห้งขอดจนตกตะกอน ร้อนถึงผู้นำชุมชนระดมลูกบ้านร่วมหาหรือเพื่อยุติปัญหาที่เกิดเรื่องรังมานาน โดยสะท้อนผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ในส่วนของเวทีสมัชชาเฉพาะพื้นที่ จังหวัดชัยนาท จัดขึ้น ณ 111  รีสอร์ทแอนสปา  อำเภอสรรคบุรี  จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา 

นายวรพล แย้มเกลี้ยง รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลนางลือ จังหวัดชัยนาท ย้อนถึงที่มาของปัญหาตรงหน้าว่าเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐถ่ายโอนอำนาจให้กับท้องถิ่นเมื่อปี 2546 ผลที่ตามมาคือ ระบบประปาหมู่บ้าน ที่เดิมนั้นอยู่ในความดูแลของกรมทรัพยากรน้ำ ผ่านการตรวจคุณภาพโดยหน่วยงานสาธารณสุข เช่น กรมอนามัย ย้ายมาอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตั้งแต่ดูแลระบบ จัดหาน้ำดื่ม และบริหารงบประมาณค่าน้ำรวมถึงค่าบำรุงรักษาที่มาจากการเด็บเงินค่าประปารายเดือนจากชาวบ้าน  ซึ่งไม่ใช่ทุกท้องถิ่นจะมีศักยภาพในการดูแลโดยเฉพาะเรื่ององค์ความรู้และงบประมาณ โดยเฉพาะท้องถิ่นในต่างจังหวัด 

“ท้องถิ่นไม่ทีทั้งงบประมาณและความรู้ เราไม่รู้ว่าเราจะดูแลให้ชุมชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างไรโดยไม่เบียดเบียนรายได้เขามาก  การเก็บเงินชาวบ้านในหลักสิบบาทกลายเป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านที่มีเงินติดบัญชีหลักร้อย และหน่วยงานท้องถิ่นเองก็ไม่มีงบประมาณพอที่จะดูแลหรือช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องนี้”

ปัญหาเริ่มบานปลายมากขึ้นเมื่อการเมืองท้องถิ่นเข้ามามีอิทธิพลต่อน้ำกินน้ำใช้ ความรู้และงบประมาณขึ้นอยู่กับวาระของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งนอกจากการทำงานจะไม่ต่อเนื่องแล้วชุมชนยังขาดความรู้และความเข้าใจต่อระบบการจัดการน้ำที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง

จากต้นตอของปัญหาทีสะสมมายาวนานกว่าเกือบทศวรรษกลายเป็นพลังผลักดันให้ชุมชนนางลือ หันหน้าเข้าหากันโดยการริเริ่มของผู้นำชุมชน ร่วมกับชาวบ้านระดมความคิดร่วมกันนจนตกผลึกเป็นแนวทางแก้ปัญหา โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆในหมู่บ้านถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ จากนั้นจึงกำหนดแนวทางร่วมกัน สำหรับที่นางลือ นายวรพลกล่าวว่าจุดสำคัญคือต้องสร้างความรู้ให้กับชาวบ้าน จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงผู้นำตามวาระ เมื่อชาวบ้านทุกคนมีความรู้เท่ากันย่อมเป็นพื้นฐานที่ดีในการต่อยอดการแก้ปัญหา

“ในประเด็นนำดื่มปลอดภัย เริ่มจากการอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำที่ใช้กินดิื่มจากระบบประปาหมู่บ้านนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำ ต่อมาเราอธิบายถึงสาเหตุหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรื่องนโยบาย งบประมาณ และความรู้ในการบริหารจัดการ จนถึงเรื่องสำคัญที่สุดที่กระทบกับชีวิตของพวกเขา คือ เรื่องการเก็บค่าน้ำรายเดือน ซึ่งเราต้องแจกแจงรายละเอียดให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ค่าน้ำที่เก็บแต่ละเดือนนั้นประกอบด้วยต้นทุนใดบ้าง ถ้าอยากได้น้ำคุณภาพดีเราก็ต้องจ่ายราคเพิ่มขึ้น ราคาที่เพิ่มมาเป็นค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำ เช่น ค่าคลอรีน (chlorine) สุดท้ายจึงหาราคกลางของค่าน้ำประปาร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายพอใจ”

รองนายกเทศมนตรีนางลืออธิบายเพิ่มว่า ณ ตอนนี้เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการแก้ปัญา เพราะศักยภาพของชุมชนยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณบริหารจัดการประปาหมู่บ้าน หากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานจากส่วนกลางเข้ามาสนับสนุนในส่วนดังกล่าว ซึ่งครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ปัญหาของจังหวัดชัยนาทเป็นหนึ่งในประเด็นขับเคลื่อนของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ในวาระเรื่อง น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนและหวังว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นวันนี้ จะเป็นสะพานเชื่อมปัญหาที่เพียงพลังชุมชนไม่สามารถส่งผ่านปัญหาได้ถึงระดับนโยบายโดยมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือหลัก

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: