คนไทยรู้ยัง : บริษัทจดทะเบียนไทยยอมรับว่าตกเป็นเหยื่อการทุจริต 39%

ทีมข่าว TCIJ : 12 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2130 ครั้ง

โดยผลสำรวจพบว่า 39% ของบริษัทจดทะเบียนไทย (Listed companies) ยอมรับว่ามีการตรวจพบการทุจริตในปีนี้ ขณะที่มีบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียน (Private companies) เพียง 16%  ที่มีการตรวจพบทุจริต เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 41% และ 30% ตามลำดับ  สำหรับปัญหาอาชญากรรมเศรษฐกิจของไทยนั้น มีสัญญาณดีขึ้น โดยอัตราการทุจริต (Fraud rate) อยู่ที่ 26% ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 37%  เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวร่วมกันป้องกัน ตรวจสอบ และปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ยังมีหลายองค์กรเช่นกันที่ไม่มั่นใจว่า ระบบการป้องกันของตนมีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจจับการกระทำความผิดจนอาจเป็นที่มาของอัตราทุจริตที่ลดต่ำลงในปีนี้

จากผลสำรวจยังพบว่าประเภทของการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุด 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) ที่ 78% ตามด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) ที่ 24% และ การรับสินบนและคอรัปชั่น (Bribery and corruption) ที่ 19% โดยการยักยอกสินทรัพย์ยังคงเป็นประเภทของการทุจริตที่พบมากที่สุดในไทย โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 10% ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลในเรื่องนี้อย่างมาก ขณะที่ผู้ที่กระทำการทุจริตส่วนใหญ่เกือบ 80% ล้วนเป็นพนักงานในองค์กรทั้งสิ้น โดยในปีนี้เราพบว่าพนักงานระดับล่างประกอบทุจริตมากที่สุดต่างจากปีก่อนที่ตรวจพบมากในหมู่พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป

ทั้งนี้ภาคเอกชนไทยต้องตระหนักถึงการจัดหามาตรการและระบบการป้องกันการทุจริตที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร และการสร้างค่านิยมภายในองค์กรว่า การทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ซึ่งพนักงานถือเป็นตัวแปรสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านการทุจริต เพราะนอกจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและภาคการเงินแล้ว ยังส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ความเชื่อมั่นของพนักงาน และความสัมพันธ์กับหน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบอีกด้วย

 

ที่มาข้อมูล: บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)
ที่มาภาพประกอบ: 
gprn2.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: