สถิติชี้ตำรวจไทยมีอัตรา 'ฆ่าตัวตาย' สูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่า-ดัน สตช.เร่งแก้ไข

ทีมข่าว TCIJ : 12 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 6880 ครั้ง

ระหว่างปี 51-59 มีตำรวจฆ่าตัวตาย 279 นาย เฉลี่ยฆ่าตัวตายปีละกว่า 32 คน ยศดาบตำรวจ-สายป้องกันปราบปรามฆ่าตัวตายมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป ตำรวจมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ถึง 2 เท่า

หากคุณมีอาชีพตำรวจ อายุระหว่าง 41- 50 ปี ทำงานในสายงานป้องกันและปราบปราม มียศดาบตำรวจ และสังกัดตำรวจภูธรภาค 5 โปรดระวัง เพราะจากการเก็บตัวเลขสถิติที่ผ่านมา คุณจัดอยู่ใน ‘แบบแผน’ ของกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง  ที่ จะฆ่าตัวตายมากที่สุดในประเทศไทย!

‘ตำรวจ’ อาชีพที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุด

อาชีพตำรวจถือว่าเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูง ทั้งความกดดันในหน้าที่การงานและปัญหาส่วนตัว (อ่านเพิ่มเติมจากรายงานเก่าของ TCIJ 'ปมตร.สอบสวนเครียด-นายกด-งานหนัก จี้ปฏิรูป 3 แนว ยุบ-ย้าย-แยกกองใหม่') ประกอบกับการคลุกคลีอยู่กับเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่เสมอๆ รวมทั้งปัจจัยสำคัญ นั่นก็คือตำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายที่สุด บ่อยครั้งเราจึงได้ยินข่าวคราวว่า ตำรวจมักจะเลือกจบชีวิตเพื่อหนีปัญหาต่าง ๆ ด้วยการฆ่าตัวตาย

วงการตำรวจเอง ก็เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นการฆ่าตัวตายในวิชาชีพตนเองเป็นวาระสำคัญ มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีการศึกษาถึงปัญหานี้อย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยในปี 2556 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่ง ตร. ที่ 328/2556 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความประพฤติของข้าราชการตำรวจและพัฒนากำลังพล ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.) สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สกพ.) โรงเรียนนายร้อยตํารวจ และโรงพยาบาลตำรวจ ศึกษาสาเหตุการฆ่าตัวตายของตำรวจ รวมทั้งยังมีการให้จัดตั้งโทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 1599 ขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยให้มีนักจิตวิทยาปฏิบัติหน้าที่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีปัญหาความเครียด

ข้อมูลจากการศึกษาสาเหตุการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่าระหว่างปี 2551-2559 มีตำรวจฆ่าตัวตายรวม 279 คน (ปี 2559 ข้อมูลถึง ณ เดือน  พ.ค.) และเมื่อพิจารณาสถิติระหว่างปี 2551 ถึงสิ้นปี 2558 มีตำรวจฆ่าตัวตาย 260 คน เฉลี่ยแล้ว 8 ปีที่ผ่านมาตำรวจฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 32.5 คน ซึ่งเมื่อเทียบเป็นสัดส่วน พบว่าตำรวจไทยฆ่าตัวตาย 13.6 นายต่อตำรวจแสนนาย ส่วนค่าเฉลี่ยเมื่อปี 2557 ของคนไทยโดยรวมนั้นฆ่าตัวตายเพียง 6.08 คนต่อประชากรแสนคนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าตำรวจไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนไทยปกติถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

‘สถิติ-แบบแผน’ การฆ่าตัวตายของตำรวจ

จากการจัดเก็บข้อมูลแบบแผนการฆ่าตัวตายของตำรวจในช่วงระยะเวลา 7 ปี (ระหว่างปี 2551-2557) ที่มีจำนวนตำรวจฆ่าตัวตายรวม 228 คน พบว่าช่วงอายุของตำรวจที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคืออายุระหว่าง 41-50 ปี จำนวน 107 คน คิดเป็นร้อยละ 46.9 รองลงมาคือช่วงอายุระหว่าง 31-40 ปี จำนวน 61 คน คิดเป็นร้อยละ 26.8 ลำดับต่อมาคือช่วงอายุระหว่าง 51-60 ปี จำนวน 45 คน คิดเป็นร้อยละ 19.7 และช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายต่ำที่สุดคือช่วงอายุ 21-30 ปี จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 6.6

หากจำแนกการฆ่าตัวตายของตำรวจตามสายงานแล้ว พบว่าสายงานป้องกันปราบปรามฆ่าตัวตายสูงสุด 170 คน คิดเป็นร้อยละ 74.57 สายงานอำนวยการและสนับสนุน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 7.46 สายสืบสวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 6.14 สายสอบสวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 5.71 สายจราจร 9 คน คิดเป็นร้อยละ 3.95 สายงานบริหาร 3 คน คิดเป็นร้อยละ 1.32 และสายงานเทคนิค 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.88

ในด้านสาเหตุการฆ่าตัวตาย พบว่าปัญหาครอบครัว เช่น การทะเลาะวิวาท ในครอบครัวหรือ ญาติพี่น้อง ชู้สาว ฯลฯ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตำรวจฆ่าตัวตาย 67 นาย คิดเป็นร้อยละ 29.39 ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ 60 นาย คิดเป็นร้อยละ 26.32 ปัญหาส่วนตัว เช่น การหนีคดี ฯลฯ 39 นาย คิดเป็นร้อยละ 17.1 ปัญหาหนี้สิน 23 นาย คิดเป็นร้อยละ 10.09 ปัญหาด้านหน้าที่การงาน เช่น สำนวนค้างมาก งานมากไป งานไม่ถนัด ถูกตำหนิเรื่องงาน ฯลฯ 17 นาย คิดเป็นร้อยละ 7.46 และไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนอีก 22 นาย คิดเป็นร้อยละ 12.79

เมื่อจำแนกตามชั้นยศแล้วพบว่าตำรวจชั้นประทวนมีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุด โดยยศดาบตำรวจ (ด.ต.) ฆ่าตัวตายสูงสุด 121 คน ยศจ่าสิบตรี (จ.ส.ต.) 27 คน ร้อยตำรวจตรี (ร.ต.ต.) 20 คน พันตำรวจโท (พ.ต.ท.) 13 คน สิบตำรวจเอก 13 คน (ส.ต.อ.) 13 คน ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) 8 คน ร้อยตำรวจโท (ร.ต.ท.) 8 คน สิบตำรวจโท (ส.ต.ท.) 6 คน สิบตำรวจตรี (ส.ต.ต.) 6 คน พันตำรวจเอก (พ.ต.อ.) 4 คน และพันตำรวจตรี (พ.ต.ต.) 2 คน

เมื่อพิจารณาตามหน่วยงานที่มีตำรวจฆ่าตัวตาย พบว่าตำรวจภูธรภาค 5 (ภ.5) ฆ่าตัวตายมากที่สุด 29 คน  กองบัญชา การตำรวจนครบาล (บช.น.) 24 คน ตำรวจภูธรภาค 3 (ภ.3) 22 คน ตำรวจภูธรภาค 6 (ภ.6) 21 คน ตำรวจภูธรภาค 4 (ภ.4) 20 คน ตำรวจภูธรภาค 8 (ภ.8) 20 คน ตำรวจภูธรภาค 9 (ภ.9) 18 คน ตำรวจภูธรภาค 1 (ภ.1) 14 คน ตำรวจภูธรภาค 2 (ภ.2) 14 คน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) 13 คน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สชต.) 11 คน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บชก.) 8 คน ตำรวจภูธรภาค 7 (ภ.7) 7 คน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) 2 คน สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร) 2 คน กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) 1 คน สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.) 1 คน และสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กมค.) 1 คน

ทั้งนี้จากการประเมินของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่าตำรวจมีแนวโน้มที่อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นไปอีก โดยปัจจัยที่สำคัญคือตำรวจที่มีความเครียดส่วนใหญ่ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะกลัวเสียประวัติถึงผู้บังคับบัญชา ซึ่งอาจจะกระทบถึงความมั่นคงและความก้าวหน้าในอาชีพ

คดีตำรวจฆ่าตัวตายสะเทือนขวัญหลังรัฐประหาร 2557 ใช้วิธีการ ‘แขวนคอ’

จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของตำรวจ พบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ปืนยิงตัวตาย โดยมีอัตราเฉลี่ยสูงเกือบร้อยละ 80 ส่วนวิธีการแขวนคอตายมีเพียงประมาณร้อยละ 13  เท่านั้น แต่การฆ่าตัวตายของตำรวจที่สะเทือนขวัญที่สุด 2 กรณีหลังการรัฐประหาร 2557 ที่ผ่านมา กลับเลือกใช้วิธีแขวนคอตาย นั่นก็คือกรณีของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์  ซึ่งยังเป็นข้อกังขาของสังคมต่อปมปัญหาที่แท้จริง

(ที่มาภาพ: tnews.co.th)

พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องขังในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ปรากฎเป็นข่าวว่าแขวนคอตายในเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2558

(ที่มาภาพ: js100.com)

พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ เลขาสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ผู้ชำนาญการพิเศษสถานีตำรวจนครบาลเทียนทะเล แขวนคอตายที่บ้านพัก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งก่อนหน้านั้น พ.ต.ท.จันทร์ มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวให้มีการทบทวนเรื่องปรับโครงสร้างพนักงานสอบสวน และเคยได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนมาตรา 44 เรื่องการปรับโครงสร้างพนักงานสอบสวนมาแล้วด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: