กรมทรัพยากรน้ำระบุสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ 928 อำเภอทั่วประเทศ ขาดแคลนน้ำทั้งสิ้น 548 อำเภอ คิดเป็น 59% จะขาดแคลนน้ำจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาจะเน้นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และจะมีการกำหนดมาตรการระบายน้ำ ขณะเดียวกันต้องมีการเจาะน้ำบาดาลและมีการทอยน้ำเพิ่มเติม (ที่มาภาพ: prd.go.th)
13 ม.ค. 2559 สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมได้มีการสรุปถึงน้ำต้นทุนในขณะนี้ รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อน-นอกเขื่อน และในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด รวมทั้งมีการจัดทำแผนที่น้ำใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นและสร้างการรับรู้ได้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือในการใช้น้ำจากทุกภาคส่วนทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมรวมถึงประชาชน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำให้มากที่สุด เพราะเรื่องนี้คงไม่สามารถเข้าไปบังคับสั่งการได้ แต่ต้องอยู่ที่จิตสำนึกของทุกคนว่าจะใช้น้ำอย่างไรเมื่อปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคเกษตรก็ยังมีความจำเป็นในการใช้น้ำไม่น้อยไปกว่ากัน
ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กนช.ได้มีการหารือผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์น้ำและการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ โดยในจำนวน 928 อำเภอทั่วประเทศ มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำทั้งสิ้น 548 อำเภอ คิดเป็น 59% ของทั้งหมด และขาดแคลนน้ำนับตั้งแต่วันนี้-สิ้นเดือนพ.ค. ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาจะเน้นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และจะมีการกำหนดมาตรการระบายน้ำ ขณะเดียวกันต้องมีการเจาะน้ำบาดาลและมีการทอยน้ำเพิ่มเติม
ส่วนในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำในเขื่อนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยผันน้ำจากทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนเขื่อนภูมิพลยังมีพื้นที่ว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 4 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งที่ประชุมได้มีการอนุมัติหลักการแล้ว จากนี้จะต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการใช้น้ำในลุ่มน้ำห้วยหลวงซึ่งติดกับแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีการก่อสร้างประตูน้ำในการผันน้ำในส่วนนี้ไว้แล้ว คาดว่าเฟสแรกจะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้ถึง 3 แสนไร่ และสามารถดำเนินการได้เลย โดยใช้เวลาภายในปี 59-60 ซึ่งหากเป็นการใช้น้ำช่วงฤดูฝนสามารถใช้ได้ แต่น้ำฤดูแล้งต้องมีข้อตกลงกันระหว่างประเทศ วันนี้ที่ประชุมจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันหารือในส่วนนี้ เนื่องจากการใช้น้ำจากลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายประเทศทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และไทย
นายสุพจน์ กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีการใช้น้ำในปริมาณที่มาก ซึ่งการประปานครหลวงใช้น้ำมากถึง 6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แบ่งเป็น การใช้น้ำของส่วนราชการ 19% ภาคอุตสาหกรรม 32% และครัวเรือน 49% ดังนั้นหากภาคครัวเรือนสามารถช่วยกันประหยัดน้ำส่วนนี้ได้ก็สามารถลดการใช้น้ำได้ จึงขอเชิญชวนประชาชนลดการใช้และประหยัดน้ำตามมาตรการที่รัฐบาลจะประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องต่อไป
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมของประเทศมีพื้นที่ 321 ล้านไร่ คิดเป็น 518,000 ตร.ม. มีปริมาณฝน 1,426 ม.ม./ปี คิดเป็น 730,000 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำซึมลงดินปริมาณ 520,000 ล้านลบ.ม. จึงมีน้ำผิวดินปริมาณ 210,000 ล้านลบ.ม แต่การกักเก็บน้ำมีเพียง 2 หมื่นล้าน ลบ.ม. ทั้งที่ความจุเก็บกักจริงหากเต็มพื้นที่สามารถบรรจุได้ 7.9 หมื่นล้านลบ.ม.
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งและสามารถป้องกันความเสี่ยงในข่วงรอยต่อจากฤดูแล้งไปฤดูฝนในปี 2559 ได้ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยยังมีความเป็นห่วงค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาค่าความเค็มค่อนข้างสูง ซึ่งกรมชลประทานยืนยันค่าความเค็มของคลองสำแลอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และคาดว่าตลอดฤดูแล้งสามารถควบคุมได้
ด้านปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2559 มีปริมาณน้ำรวม 3,726 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 1,078 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 1,829 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 333 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 486 ล้านลบ.ม. โดยมีการระบายน้ำ 1.7 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ส่วนแม่น้ำแม่กลองมีปริมาณน้ำ 4,600 กว่าล้านลบ.ม. ซึ่งสามารถส่งน้ำสนับสนุนเพื่อทำพืชฤดูแล้งได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรัง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ