คสช. ใช้ ม.44 ควบรวมหน่วยงานดูแลอาชีวเอกชนกับ สอศ.

13 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 1902 ครั้ง


	คสช. ใช้ ม.44 ควบรวมหน่วยงานดูแลอาชีวเอกชนกับ สอศ.

คสช. ใช้ ม.44 โอนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สนง.ปลัดกระทรวง ก.ศึกษาธิการ ให้ไปขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก.ศึกษาธิการ 

13 ก.พ.59 เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่8/2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ระบุว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการเกิดประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการรวมการบริหารจัดการสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความคล่องตัวยิ่งขึ้นเป็นกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านการศึกษา อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช. จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้ 

ข้อ 1 ให้โอนบรรดาอํานาจหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สํานักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ไปเป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แล้วแต่กรณี

ข้อ 2 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการพนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากําลังของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ไปเป็นของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ตามบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกําหนด

ข้อ 3 บรรดาอํานาจหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ในการอนุญาต การมอบหมาย หรือการปฏิบัติการอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ให้โอนไปเป็นอํานาจหน้าที่ของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แล้วแต่กรณี

ในการมอบหมายตามวรรคหนึ่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะมอบหมายให้ผู้ดํารงตําแหน่งอื่นแทนการมอบหมายให้ผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้

ข้อ 4 บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คําสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ หรือข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ให้ถือว่าอ้างถึงสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการหรือข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดังกล่าว แล้วแต่กรณี

ข้อ 5 บรรดาใบอนุญาตที่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษา และได้รับอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา หรือหลักสูตรสามัญศึกษา แล้วแต่กรณีด้วย ให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิดําเนินการต่อไปตามที่ได้รับอนุญาต และให้สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แล้วแต่กรณีดําเนินการออกใบอนุญาตให้ใหม่ตามที่จําเป็นโดยเร็ว

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมากผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 8/2559 ที่ออกมา มีผลทำให้โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนในระบบ จำนวน 460 กว่าแห่ง ที่มีนักเรียน นักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประมาณ 3 แสนกว่าคนมาอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ปัจจุบันกำกับดูแลสถานศึกษาในสังกัด เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยการอาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการโอนกลุ่มงานอาชีวศึกษาเอกชน ที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มารวมกับสอศ.ด้วย ส่วนสาเหตุที่มีการยุบรวมเป็นข้อเสนอของกลุ่มอาชีวศึกษาเอกชนที่ต้องการมาสังกัด สอศ. เพื่อความเป็นเอกภาพและจะเป็นประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การจัดการศึกษาที่จะมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในวันนี้จะนัดประชุมหารือในเรื่องนี้

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: