คกก.ศึกษาโรงไฟฟ้ากระบี่ ชี้พลังงานทดแทนไม่เพียงพอต่อการใช้ในพื้นที่

13 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2166 ครั้ง


	คกก.ศึกษาโรงไฟฟ้ากระบี่ ชี้พลังงานทดแทนไม่เพียงพอต่อการใช้ในพื้นที่

คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ มีมติว่าให้ทาง กฟผ. จัดส่งข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนครบถ้วน เพื่อจะดำเนินการพิจาณาอีกครั้ง และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาพลังงานทดแทน ในเบื้องต้นหากมีการนำพลังงานทดแทนในจังหวัดกระบี่มาผลิตกระแสไฟฟ้า จะได้พลังงานโดยประมาณ 177 เมกกะวัตต์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานในพื้นที่ (ที่มาภาพ: industry.go.th)

13 พ.ค. 2559 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่ รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 ที่ห้องประชุมพนมเบญจา ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ภายหลังจากที่กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้มีหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าฯ เนื่องจากเกรงว่า จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนชาวประมงในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยได้มีการเสนอการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยขอเวลา 3 ปี พร้อมทั้งเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้ยกเลิกการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ หยุดการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อพิจาณาข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ โดยมีนายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ร่วมรับรับฟังจำนวนกว่า 500 คน

พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงผลการดำเนินการศึกษาของคณะอนุกรรมฯ ซึ่งประกอบด้วยกรมพลังงาน นักวิชาการ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจน้ำมันปาล์มและภาคประชาชน ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯได้มีมติว่าให้ทาง กฟผ. จัดส่งข้อมูลที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนครบถ้วน เพื่อจะดำเนินการพิจาณาอีกครั้ง และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาพลังงานทดแทน ในเบื้องต้นหากมีการนำพลังงานทดแทนในจังหวัดกระบี่มาผลิตกระแสไฟฟ้า จะได้พลังงานโดยประมาณ 177 เมกกะวัตต์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงาน และจะนำผลการวิเคราะดังกล่าว วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 25 พฤษภาคม นี้ ส่วนในเรื่องของการดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่และกลั่นกรองความคิดเห็นของประชาชน และเรื่องผลกระทบด้านต่างๆ จะต้องรอผลการดำเนินการาของคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และลงพื้นที่โครงการ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งข้อชี้แจงจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: