ส่องบัลลังก์ศาลทหาร‘สหรัฐฯ-อังกฤษ’ ชี้ชัดเขตอำนาจ-แยกลายพราง-พลเรือน

ทีมข่าว TCIJ : 13 มี.ค. 2559 | อ่านแล้ว 5701 ครั้ง

ประเทศสหรัฐอเมริกา

รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาได้ตรากฎหมายทางอาญาที่ใช้บังคับฝ่ายทหาร ได้แก่ ประมวลกฎหมายยุติธรรมทหาร (Uniform Code of Military Justice - UCMJ) ซึ่งในสาระของประมวลกฎหมายยุติธรรมทหารนี้ ได้บัญญัติกระบวนการยุติธรรมทหารในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจับกุม การควบคุมตัว การดำเนินการทางวินัย การฟ้อง เขตอำนาจศาลทหาร โครงสร้างของศาลทหาร กระบวนการก่อนพิจารณาและทบทวนการพิพากษาของศาลทหาร รวมถึงการอุทธรณ์ และฎีกา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบทบาทที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หรือระเบียบต่าง ๆ ใช้บังคับกับฝ่ายทหาร เช่น ข้อบังคับสำหรับศาลทหาร (Rules for Courts-Martial) กฎหมายลักษณะพยานทหาร (Military Rules of Evidence) ซึ่งข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมอยู่ในคู่มือศาลทหาร (Manual for Court Martial)  ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แบ่งศาลออกเป็น ศาลพลเรือนกับศาลทหาร โดยศาลทหารในสหรัฐอเมริกา มี 3 ชั้น เช่นเดียวกับประเทศไทย และใช้ระบบแยกจากกันโดยเด็ดขาด คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โครงสร้างศาลทหารของสหรัฐอเมริกา มีดังนี้

ศาลทหารชั้นต้น: มี 3 ศาล คือ

  1. Summary Court-Martial ศาลนี้เป็นศาลทหารชั้นต้น ระดับต่ำสุดเทียบเท่าศาลจังหวัดทหารของประเทศไทย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดซึ่งบุคคลที่อยู่ใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย Uniform Code of Military Justice ซึ่งได้กระทำความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งมิใช่โทษประหารชีวิต แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยมียศนายดาบ จ่านายสิบ นักเรียนนายทหาร  ศาลทหาร Summary นี้ ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย 1 นาย ผู้มีอำนาจตั้งศาลทหาร Summary นี้ ได้แก่ผู้บังคับกองพัน (ยศพันโท) ทหารต้องให้ความยินยอมที่จะถูกดำเนินคดี โดยศาลระดับนี้ทหารอาจได้รับการแก้ต่างโดยทนายพลเรือนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง และสิทธิที่จะแก้ต่างโดยทนายจากหน่วยบริการทนาย (Trial Defense Service)  อย่างไรก็ตาม ก่อนพิจารณาคดีทหารจะได้รับโอกาสที่จะได้รับคำปรึกษาจากทนายจากหน่วยบริการทนาย
  2. Special Court-Martial ศาลระดับนี้เป็นศาลทหารชั้นต้นระดับกลางเทียบเท่ามณฑลทหารของประเทศไทย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดซึ่งบุคคลที่อยู่ใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย Uniform Code of Military Justice ซึ่งได้กระทำความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งมิใช่โทษประหารชีวิต ศาล Special นี้ ประกอบด้วยตุลาการทหารซึ่งเป็นนักกฎหมายและสมาชิกศาล (ลูกขุน) ไม่น้อยกว่า 3 คน รวมทั้งทหาร (enlisted soldiers) ถ้าได้รับการร้องขอจากจำเลย ทหารซึ่งเป็นจำเลยอาจร้องขอให้พิจารณาโดยตุลาการทหารเพียงนายเดียว ศาล Special นี้ อาจตัดสินลงโทษจำคุกถึง 6 เดือน ยึดสองในสามของเงินเดือนเป็นเวลาถึงหกเดือน และการลดชั้นเป็นทหารชั้นต่ำสุด ทหารคนใดก็ตามอาจถูกพิจารณาคดีโดยศาลนี้ จำเลยมีสิทธิที่จะมีนายทนายแก้ต่างได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง  และ
  3. Genaral Court-Martial เป็นศาลชั้นต้นระดับสูงสุด เทียบเท่าศาลประจำหน่วยทหารของประเทศไทย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบุคคลที่อยู่ใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย Uniform Code of Military Justice ซึ่งความผิดที่กระทำโดยบุคคลใด ๆ ที่กฎหมายเกี่ยวด้วยสงครามได้กำหนดให้ขึ้นศาลทหาร และความผิดในดินแดนที่ยึดครองไว้จากข้าศึก ในกรณีจำเป็นที่ศาลทหารต้องกระทำหน้าที่แทนศาลพลเรือน ผู้มีอำนาจตั้งศาลนี้คือประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีว่าการทบวงของแต่ละกองทัพ ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับบัญชาทหารตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง และผู้บังคับบัญชาที่มีประธานาธิบดีให้อำนาจไว้ ศาลนี้ประกอบด้วยตุลาการทหารและสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 คน จำเลยอาจร้องขอให้ทหาร (enlisted soldiers) เป็นสมาชิกด้วย จำเลยอาจขอให้พิจารณาคดีโดยตุลาการนายเดียว แทนสมาชิกศาลก็ได้ ทหารซึ่งถูกพิจารณาคดีโดยศาลนี้จะได้รับสิทธิที่จะมีทนายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยไม่คำนึงว่าจะยากจนหรือไม่ จำเลยอาจจ้างทนายพลเรือนโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ศาลทหาร General นี้มีอำนาจลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต ให้นายทหารออกจากราชการ ให้ปลดอย่างไม่มีเกียรติ หรือด้วยเหตุประพฤติชั่วและยึดเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงทั้งหมด

ศาลอุทธรณ์ทหาร (Board of Review): ประมวลกฎหมาย Uniform Code of Military Justice  บัญญัติให้กรมพระธรรมนูญของแต่ละกองทัพมีศาลอุทธรณ์ทหารอย่างน้อย 1 ศาล ศาลนี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษนายทหารที่เป็นนายพลหรือผู้บังคับการเรือ หรือโทษประหารชีวิต โทษไล่ออก ซึ่งผู้ได้รับโทษเป็นนายทหารสัญญาบัตร นักเรียนนายทหาร หรือนายทหารชั้นเรือตรีโทษปลดออกเพราะประพฤติไม่ดี หรือกักขังกำหนด 1 ปี หรือกว่านั้นขึ้นไปต่อศาลอุทธรณ์ทหารเมื่อศาลอุทธรณ์ทหารพิจารณาพิพากษาเสร็จแล้ว เจ้ากรมพระธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้มีอำนาจตั้งศาลดำเนินการตามคำพิพากษานั้น เว้นแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการทบวงในสังกัดกองทัพ หรือศาลฎีกาจะสั่งให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่น

ศาลฎีกาทหาร (Court of Military Appeals): ศาลฎีกาทหารประกอบด้วยตุลาการ 3 นาย แต่งตั้งจากบุคคลโดยประธานาธิบดีด้วยคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยมียศเป็นนายพลหรือผู้บังคับการเรือ คดีที่ศาลอุทธรณ์ทหารได้พิจารณาแล้ว จำเลยยื่นคำร้องฎีกาและมีเหตุผลสมควร ศาลฎีกาทหารอนุมัติให้ฎีกาได้

อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดี: ศาลทหารสหรัฐอเมริกาพิจารณาจากเขตอำนาจศาลทหารทั่วไป เขตอำนาจเหนือบุคคล และเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิด ซึ่งบัญญัติอยู่ในข้อบังคับสำหรับศาลทหาร (Rules for Courts-Martial) เขตอำนาจศาลทหารทั่วไป หมายถึง ศาลทหารสหรัฐอเมริกา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาและวินัยทหารเท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายต่าง ๆ โดยเขตอำนาจเหนือบุคคล หมายถึง บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารสหรัฐอเมริกา ได้แก่ กำลังพลประจำการ ทหารเกณฑ์ นักเรียนทหาร ผู้ปลดเกษียณ บุคคลที่อยู่ในการคุมขัง เชลยศึก บุคคลที่กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสงครามและทหารกองหนุน

เขตอำนาจเหนือการกระทำผิด หมายถึง ศาลทหารสหรัฐอเมริกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายยุติธรรมทหาร (Uniform Code of Military Justice-UCMJ) และกฎหมายว่าด้วยสงครามเว้นแต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา: ศาลทหารสหรัฐอเมริกากำหนดให้อัยการเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา ส่วนประชาชนที่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลทหาร เนื่องจากหลักการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารสหรัฐอเมริกาถือหลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาในศาลทหารได้เลย ซึ่งอำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลทหารสหรัฐอเมริกานั้น หมายถึง อำนาจในการตัดสินใจหรือใช้ดุลยพินิจว่าจะฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องทหารที่กระทำผิด ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำคามผิด ส่วนอำนาจในการเป็นโจทก์และการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลเป็นอำนาจของพนักงานอัยการ ผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำความผิดจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจว่าจะควรสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องทหารที่กระทำความผิด หรือควรใช้ กระบวนการลงโทษที่ไม่ใช่ศาลทหาร (Nonjudicial Punishment Procedures - NIP)

ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษ มีการแบ่งศาลออกเป็นศาลทหารและศาลพลเรือน เช่นเดียวกันกับประเทศไทย แต่ไม่ได้แบ่งแยกอย่างเด็ดขาด เนื่องจากศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเพียงศาลชั้นต้นเท่านั้น แต่ในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยศาลทหารในประเทศอังกฤษ แบ่งออกได้ดังนี้

ศาลชั้นต้น: มี 3 ศาล คือ 

  1. ศาลจังหวัด (District Court-Martial) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะนายทหารชั้นประทวน และพลทหารโดยมีอำนาจลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี 
  2. ศาลมณฑลทหาร (General Court-Martial) มีอำนาจเต็มในการพิจารณาพิพากษาคดี ยกเว้นคดีบางประเภท 
  3. ศาลอาญาศึก (Field General Court-Martial) ตั้งขึ้นเฉพาะกรณีที่ไม่อาจตั้งศาลทหารอื่น ๆ ได้ โดยมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 2 ปี ในศาลทหารชั้นต้นทั้ง 3 ศาลนี้ องค์คณะตุลาการประกับด้วยผู้พิพากษาของศาลพลเรือน และตุลาการที่เป้นทหารทำการพิจารณาพิพากษาร่วมกัน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการศาลทหาร แต่ในทางปฏิบัติทรงมอบอำนาจให้แก่ผู้บังคับบัญชาทหาร

ศาลอุทธรณ์ทหาร (Court-Martial Appeal Court): ได้จัดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของศาลอุทธรณ์อุทธรณ์พลเรือน มีหน้าที่พิจารณาคดีที่อุทธรณ์ไปจากศาลทหารชั้นต้น การอุทธรณ์คดีของศาลอุทธรณ์ทหารในปัญหาข้อกฎหมาย อธิบดีอัยการรับรองกฎกาได้

ศาลทหารสูงสุด (House of Lords): คือศาลฎีกาของพลเรือน (สภาขุนนาง) ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา ทั้งนี้ประเทศอังกฤษ ศาลอุทธรณ์ทหาร และศาลทหารสูงสุดเป็นศาลเดียวกันกับศาลพลเรือน มิใช่คนละศาลดังเช่นระบบศาลทหารในประเทศไทย

ที่มาข้อมูล: วิทยานิพนธ์ 'สิทธิของผู้เสียหายในศาลทหาร: กรณีศึกษาเฉพาะกรณีผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร' โดย เรือโทสายันต์ สุโขพืช วิทยานิพนธ์ระดับนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2547

อ่าน 'จับตา': “โครงสร้าง 'ศาลทหาร' ของประเทศไทย"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6086

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: