“อีสานบริโภค” เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน และ เครื่องมือการเกษตร

กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 14 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2813 ครั้ง


ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการเสนอให้เห็นการบริโภคแบบเมืองของชาวบ้านที่อยู่ในเขตที่แล้งที่สุดของภาคอีสานและเป็นพื้นที่ถูกทางราชการจัดกลุ่มให้อยู่ในจังหวัดที่เคยยากจนที่สุดของประเทศไทย คือ หมู่บ้านในอำเภอปรางค์กู่ อำเภอเมือง และ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยของผู้เขียนที่ทำการศึกษาในพ.ศ. 2551 การศึกษาครั้งนั้นใช้ทั้งแบบสอบถามระดับครัวเรือนโดยการสุ่มตัวอย่าง สัมภาษณ์เจาะลึกและสนทนากลุ่มย่อย ทั้งนี้ข้อมูลที่นำเสนอได้แยกกลุ่มชาวบ้านออกเป็นสี่กลุ่มตามฐานะทางเศรษฐกิจที่พิจารณาโดยชาวบ้านเองจากที่จำนวนการถือครองและฐานะด้านอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ในครัวเรือน (Manorom and Hall 2008) [1]

พื้นที่และวิถีการดำรงชีพ

ผู้เขียนศึกษาใน 5 หมู่บ้าน[2]ที่ยากจนที่สุดในแต่ละอำเภอที่ทางราชการและสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มได้ให้ข้อมูลมาว่ามีปัญหาความยากจนและ/หรือขาดแคลนน้ำหรือประสบปัญหากับน้ำท่วมมากที่สุด ซึ่งข้อมูลพื้นฐานของชุมชนขนาดย่อๆตามตารางนี้

เฟอร์นิเจอร์ครัวเรือน

            การย้ายเข้าทำงานในเมือง จังหวัด และต่างจังหวัดรวมทั้งต่างประเทศของคนในชุมชนที่ศึกษาไม่ว่าทำงานภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ รวมทั้งหน่วยงานราชการ ห้างร้าน โรงงาน และ บริษัท เป็นเงื่อนไขสำคัญให้คนชนบทกลุ่มนี้รับวัฒนธรรมการบริโภคแบบเมืองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นั้นคือการจับจ่ายใช้สอยเครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสนใจมิน้อยเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจกับการครอบครองเฟอร์นิเจอร์ประเภทต่างๆ ซึ่งจะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างฐานะกับการเป็นเจ้าของเฟอร์นิเจอร์ได้ค่อนข้างชัดเจน (ดูตารางข้างล่าง) กล่าวคือ คนรวยที่มีรายได้จากการค้าขายสินค้าเกษตรที่มีราคาเช่น หอมแดง และกระเทียม รับจ้างในห้างร้าน บริษัทหรือเป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ มักมีเตียงนอน โซฟา และโต๊ะรับแขกมากกว่าคนฐานะปานกลางและยากจน ดังเช่น มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนรวยมีเตียงนอน มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของคนจนและฐานะปานกลางเท่านั้นที่มีเตียงนอน ซึ่งคนสองกลุ่มนี้ให้ความเห็นว่าเตียงนอนมีราคาแพงและต้องซื้อฟูกและผ้าปูที่นอนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับใช้เสื่อที่หาซื้อได้ในราคาที่ถูก แต่เป็นที่น่าสนใจว่าคนจนบางกลุ่มมีเตียงไว้ในครอบครองเพราะเห็นว่าทำให้สุขภาพดีนอนไม่เจ็บหลังเหมือนนอนบนเสื่อและเป็นความปรารถนาอยากมีเตียงนอน

สำหรับเครื่องเรือนนั้นพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนทุกฐานะมีโทรศัพท์มือถือและทีวี ซึ่งมากกว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนรวยมีสองสิ่งนี้ ส่วนวิทยุและเครื่องเล่นวีดีโอนั้นไม่เป็นที่นิยมมากเหมือนเครื่องใช้สองอย่างแรกในกลุ่มคนทุกฐานะ (ดูตารางข้างล่าง) จากการสัมภาษณ์เจาะลึก พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีพัดลม หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส และตู้เย็น ซึ่งพบว่ามีกันแทบทั้งนั้นเสมือนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นของครัวเรือนสมัยใหม่ไปเสียแล้วเพราะเพิ่มความสะดวกสบายประหยัดเวลารวมทั้งทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเพราะเหมาะกับชีวิตที่มีภารกิจหลากหลายในแต่ละวัน เช่น บางคนเล่าว่าแค่เสียบปลั๊กไฟแล้วก็หุงข้าวเสร็จแล้ว เอาเวลาที่เหลือไปรดผักที่ปลูกไว้ อีกทั้งไม้ฟืนหายากขึ้น หรือการมีเตาแก๊สทำให้ชีวิตสะดวกในการหุงหาและอุ่นอาหารและรวดเร็วขึ้นอีกด้วยและที่สำคัญคือ ราคาเครื่องใช้เหล่านี้ไม่แพงมากนัก ชาวบ้านสามารถซื้อสิ่งเหล่านี้ได้จากตลาดในเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนหรือซื้อบางอย่างมาจากเมืองที่ตนไปทำงาน

เครื่องมือการเกษตรและพาหนะขนส่ง

จากการสนทนากลุ่มย่อยพบว่า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งผลผลิตสู่พ่อค้าและผู้บริโภครวมทั้งการเข้ามาทำงานและเพื่อการศึกษาในเมือง ชาวบ้านนิยมใช้เครื่องทุ่นแรงที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ในการทำการเกษตรไม่ว่าจะเป็นรถไถเดินตาม รถไถใหญ่แบบนั่งขับ หรือเครื่องสูบน้ำ รวมทั้ง ขุดเจาะบาดาล นอกจากนี้ ยังใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือ ยากำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่มฐานะของชาวบ้าน พบว่าการครอบครองทรัพย์สิน เช่น รถเก๋ง รถกระบะ รถไถเดินตาม จักรยาน และมอเตอร์ไซด์มีความแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มคนรวยแลคนจน ชาวบ้านฐานะรวยมีทรัพย์สินเกี่ยวกับการเกษตรและการขนส่งมากกว่าทุกฐานะ กล่าวคือ มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนจนปานกลางมีรถไถเดินตาม แต่คนฐานะปานกลางมีมากที่สุด (มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) กลุ่มคนจนมีรถกระบะและรถไถเดินตามไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของคนรวยมีรถกระบะ มากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของคนฐานะจนปานกลาง ฐานะปานกลางและรวยมีรถมอเตอร์ไซด์ และ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทุกกลุ่มฐานะมีรถจักรยาน

ภาชนะบรรจุน้ำใช้และดื่ม

กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทำงานในเมืองและต่างถิ่นเห็นว่าด้วยความสะดวก เหมาะกับการไม่มีเวลา และเห็นว่าบ่อน้ำตื้นและน้ำฝนไม่สะอาดเหมือนอดีตเพราะคิดว่าอาจปนเปื้อนสารเคมีจากการทำนาทำไร ดังนั้น ไม่ว่าพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเช่นไร พวกเขานิยมดื่มน้ำที่บรรจุขวดและถังมากขึ้น แต่บางคนยังคงดื่มน้ำฝนหรือน้ำบ่อตื้นหรือน้ำบาดาล คนรุ่นใหม่มีทัศนคติว่าน้ำบรรจุขวดมีความสะอาดและปลอดภัยกับสุขภาพมากกว่าและหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน หรือซื้อจากรถขนน้ำขวดและน้ำถังวิ่งเข้ามาขายถึงหมู่บ้าน ขณะเดียวกันรุ่นพ่อแม่ก็ยังมีโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่สำหรับรองรับน้ำฝนกันทุกครัวเรือนเพื่อใช้หุงหาอาหารหรือดื่ม นอกจากใช้น้ำจากน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาด้วยไฟฟ้าแล้วยังใช้น้ำประปาที่คณะกรรมการหมู่บ้านหรืออบต.จัดหาให้

อีสานบริโภค

การบริโภคสินค้าจากเมืองและการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture) สะท้อนอีสานบริโภคได้เป็นอย่างดี คนชนบทรุ่นใหม่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคและการผลิตที่คล้ายๆกับคนเมืองในแทบทุกมิติทั้งการผลิตที่เน้นการสร้างประสิทธิภาพและประหยัดเวลาโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การมีเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ ยานพาหนะ การขนส่ง และเครื่องมือสื่อสารตลอดจนเครื่องใช้ในครัว ซึ่งการปรับวิถีการผลิตและการบริโภคให้เป็นแบบเมือง ยังเห็นได้จากผลการศึกษาของ ทรงชัย ทองปาน (2556) ที่พบว่าสังคมชนบท ณ ปัจจุบัน ในพื้นที่ที่มีการผลิตพืชเงินสดอย่างเข้มข้น  เช่น ชุมชนปลูกยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ ใช้เครื่องมือการเกษตรที่ทันสมัยและมีการบริโภคแบบเมืองอย่างเข้มข้น ชาวบ้านสร้างบ้านทรงสมัยใหม่ ซื้อรถยนต์ และ มีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าจากร้านค้าสะดวกซื้อทั้งในและนอกหมู่บ้านอย่างเห็นได้ชัด  

Rigg (1997) ชี้ว่าการทำความเข้าใจความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสังคมชนบทในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากวิเคราะห์เชิงโครงสร้างเช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโต หรือ การค้าการลงทุน แล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ได้จากมุมมองใหม่ๆได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะมุมมองระดับท้องถิ่น ชุมชน  หรือ ครัวเรือน เช่น กลยุทธ์การดำรงชีพของคนในชนบท ผลกระทบของความทันสมัยต่อความสัมพันธ์ในครัวเรือน ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบท หรือ การสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากฐานทรัพยากรนอกชุมชน เช่น การศึกษาและการรับจ้างนอกภาคเกษตร เป็นต้น และที่สำคัญคือแม้การศึกษาการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นของสังคมชนบท เช่น กรณีภาคอีสาน ก็มิอาจอธิบายจากมุมมองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าความมั่งคั่งของคนชนบทยุคปัจจุบันมีรากฐานมาจากการทำเกษตรกรรมหรือการมีที่ดินเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว หากแต่สามารถวิเคราะห์จากมุมมองอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบท เช่น ความต้องการแรงงานจากภาคชนบทของเมืองที่เป็นแรงจูงใจให้คนหนุ่มสาวจากชนบทย้ายเข้าไปทำงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว หรือ การสร้างกลยุทธ์การดำรงชีพที่หลากหลายของครอบครัวบนฐานทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มิใช่ฐานทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ หรือ ป่าไม้ เท่านั้น ดังนั้น ความมั่งคั่งของคนชนบทในยุคสมัยใหม่จึงเกิดขึ้นจากการพึ่งพาทรัพยากรใหม่ๆอีกด้วย เช่น การทำงานนอกภาคเกษตร ซึ่งมิใช่มาจากทรัพยากรที่ดินเพียงอย่างเดียวดังในอดีตที่ผ่านมา  

ต่อมา Rigg et al., (2012) ในบทความ เรื่อง“Joining the dots of agrarian change in Asia: A 25 year view from Thailand” (ที่มาจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรภาคอีสาน ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา) เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตชาวบ้านอีสานส่วนสำคัญส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากการบริโภคแบบเมืองอันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน การเข้ามาค้าขายกับคนเมือง หรือคนเมืองเข้าไปค้าขายในชนบท ทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ซึมซับความเป็นคนเมืองและมีทัศนคติและชื่นชอบความเป็นเมืองทั้งเรื่องความสะดวกสบาย การศึกษาสมัยใหม่ การดำเนินชีวิตแบบเมือง และคนหนุ่มสาวรับเอาค่านิยมและความทะเยอทะยานการบริโภคแบบเมืองมาผนวกเป็นอัตลักษณ์ของหนุ่มสาวชนบทรุ่นใหม่ ดังนั้นเมื่อนำข้อเสนอของ Rigg (1997) และ Rigg et al., (2012) มาวิเคราะห์การบริโภคในห้าชุมชนที่เสนอมา ทำให้เห็นความเป็นอีสานบริโภคอย่างชัดเจน

 

อ้างอิง

Rigg, Jonathan. (1997) Southeast Asia: The human landscape of modernization and
development. London and New York, Routledge.

Rigg, Jonathan, Salamanca, Albert, and Parnweel, Michael. (2012) Joining the Dots of Agrarian Change in Asia: A 25   Year View from Thailand. World Development, (10): 1469-1481.

Manorom, Kanokwan and David Hall. (2008) Water Poverty and Livelihoods Si Sa Ket
Province, Northeastern Thailand Stockholm Environment Institute. Bangkok.

ทรงชัย ทองปาน. (2556) ข้อถกเถียงต่อข้อเสนอของโจนาทานริกส์ว่าด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านของภาคเกษตร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กรณีศึกษาการทำสวนยาง ของชาวนาลุ่มน้ำห้วยคอง. วารสารสังคมลุ่มนํ้าโขง. 9 (3): 77-100. 


[1] งานวิจัยเรื่อง Water Poverty and Livelihoods Si Sa Ket Province, Northeastern Thailand  งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสต๊อกโฮล์ม

[2] ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อสมมุติทั้งหมด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: