ฟังนักข่าวหญิง-ถูกติดป้ายข่าวบันเทิง เสี่ยงถูกล่วงละเมิด-แช่แข็งในสายงาน

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด : 14 ก.พ. 2559 | อ่านแล้ว 4346 ครั้ง

พบนักข่าวหญิง ภาพลักษณ์ยังถูกผูกติดกับข่าวบันเทิง เสี่ยงถูกละเมิดทางเพศทั้งจากเพื่อนร่วมงานและแหล่งข่าว ไร้กลไกดูแล ขณะที่โอกาสก้าวหน้าในอาชีพยังเป็นรองนักข่าวชาย

กว่าสองทศวรรษ นับจากปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศถูกบัญญัติขึ้นในปี 2538 ความเสมอภาคทางเพศของสตรีในงานสื่อมวลชน คือหนึ่งในความห่วงใยที่ถูกระบุในปฏิญญา อย่างไรก็ตาม จากรายงานของยูเอ็นวีแมน  เรื่อง “เบื้องหลังข่าว – ความท้าทายและแรงบันดาลใจของนักข่าวผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก”  สำรวจการทำงานของนักข่าวทั้งชายและหญิงราว 700 คนในภูมิภาคอาเซียนที่มีประสบการณ์ทำงานกว่า 10 ปี เผยแพร่เมื่อปี 2558 พบว่า 1 ใน 5 ของนักข่าวหญิงมักถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยเฉพาะจากบุคลากรที่มีตำแหน่งสูงกว่า  อีกทั้งความก้าวหน้าในอาชีพยังเป็นรองนักข่าวชาย  รวมทั้งภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ของนักข่าวหญิงก็มักผูกอยู่คู่กับข่าวบันเทิง

นักข่าวหญิง ถูกผูกติดข่าวบันเทิง โอกาสก้าวหน้าน้อยกว่าชาย

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์  ที่ปรึกษากลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักข่าวมติชน  สะท้อนประสบการณ์ทำงานกว่า 40 ปีในสนามข่าวว่า แม้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิงจะไม่ใช่ปัญหาหลักในการทำงาน นักข่าวหญิงสามารถทำงานข่าวภาคสนามในประเด็นที่ท้าทายได้ไม่ต่างกับนักข่าวชาย แต่สิ่งที่ต่างกันคือเรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพ  การขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการข่าวของผู้หญิงค่อนข้างยาก  ที่ผ่านมาผู้บริหารสื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย  ซึ่งมักส่งต่อตำแหน่งบรรณาธิการให้กับนักข่าวชายเป็นหลัก  ส่วนนักข่าวหญิงจะได้รับตำแหน่งหัวหน้าข่าวสังคม  ข่าวการศึกษา  หรือประเด็นข่าวที่มีความสำคัญลำดับรอง  เช่น ข่าวบันเทิง

“ในกรอบคิดการทำงานแบบเก่ามักมองว่า ผู้ชายจะสนใจข่าวการเมืองมากกว่า  และคิดว่าข่าวการเมืองเท่านั้นที่มีความสำคัญ นักข่าวชายส่วนใหญ่จึงมักได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบข่าวประเภทนี้เป็นหลัก ขณะที่ข่าวสาธารณสุข  ข่าวเศรษฐกิจ  ข่าวการศึกษา ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงมา  นักข่าวผู้หญิงจึงมักจะถูกให้รับผิดชอบข่าวประเภทนี้แทน”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าในองค์กรสื่อผู้หญิงจะไม่มีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง  นิธินันท์กล่าวว่า ผู้หญิง สามารถขึ้นสู่ตำแห่งงานบริหารได้ไม่ยาก แต่ไม่ใช่ในฐานะคนทำงานข่าว  หากแต่มักเป็นสายงานโฆษณาหรือการตลาด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ฝ่ายการตลาดได้พยายามเข้ามาควบคุมการทำงานของฝ่ายบรรณาธิการด้วยคติการทำเงินเข้าบริษัทเป็นหลัก

นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ ผู้สื่อข่าวโต๊ะซันเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  เจ้าของรางวัลสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2558 ที่มอบให้โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย  สะท้อนถึงประสบการณ์การทำงานเกือบ 7 ปีในสนามข่าวว่า แม้เรื่องเพศสภาพจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน แต่ทัศนคติของสังคมยังคงมองอาชีพนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวภาคสนามว่าเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายสำหรับผู้หญิง รวมถึงทัศนคติของเพื่อนร่วมสายอาชีพ หรือบรรณาธิการข่าว ที่มักให้นักข่าวหญิงรับผิดชอบงานข่าวที่ไม่รุนแรง

ขณะที่ภาพลักษณ์ของนักข่าวผู้หญิงส่วนใหญ่ในมุมมองของนันท์ชนก  ยังถูกผูกอยู่กับข่าวบันเทิง หรือข่าววัฒนธรรม เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หลายครั้งเมื่อแนะนำตัวกับแหล่งข่าวว่ามาจากโต๊ะข่าวเศรษฐกิจจะถูกถามกลับในทันที เพราะคิดว่านักข่าวผู้หญิงส่วนใหญ่จะรับผิดชอบแต่ข่าวบันเทิง

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว ประเด็นข่าวหนักๆ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะนักข่าวชาย  ปัจจุบันแผนกข่าวสืบสวนที่รับผิดชอบอยู่ ทั้งแผนกมีนักข่าวชายเพียงคนเดียวตั้งแต่ก่อตั้ง และไม่เคยเพิ่มจำนวนขึ้นเลย  และก็ไม่ได้ป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเราแต่อย่างใด”

สำหรับความก้าวหน้าในสายอาชีพ  นันท์ชนกมองว่า นักข่าวหญิงส่วนใหญ่สามารถก้าวขึ้นไปได้ถึงระดับบรรณาธิการข่าว ซึ่งในองค์กรต้นสังกัดของตน  บรรณาธิการข่าวหลายคนเป็นผู้หญิง  อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตำแหน่งระดับบรรณาธิการบริหารสื่อ  สัดส่วนของผู้หญิงยังถือว่าน้อยมาก

เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากเพื่อนร่วมงานและแหล่งข่าว

เพศหญิง ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด มักตกเป็นเป้าหมายของการถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งจากในและนอกองค์กร เช่นเดียวกับอาชีพชื่อมวลชน  ซึ่งจากรายงานของยูเอ็นวีแมน ชี้ว่า 1 ใน 3 ของนักข่าวหญิงที่ได้รับการสำรวจระบุว่า เห็นการถูกคุมคามทางเพศในที่ทำงาน  และเกือบ 1 ใน 5 ของนักข่าวหญิงที่ได้รับการสำรวจ ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน  และร้อยละ 59 ในกลุ่มนี้ถูกคุกคามโดยผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า ขณะที่ครึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้ถูกคุกคามโดยเพื่อนร่วมงาน   มากไปกว่านั้นองค์กรสื่อส่วนใหญ่ไม่มีกลไกในการร้อง เรียน  หรือไม่มีนโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศอย่างเป็นทางการในที่ทำงาน

ในประเด็นเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับนักข่าวหญิง ทั้ งนิธินันท์และนันท์ชนก ต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า นักข่าวหญิงมักถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นประจำ ทั้งจากเพื่อนร่วมงานและแหล่งข่าวที่เป็นเพศตรงข้าม  เช่น  ทางวาจา  โดยเฉพาะกับนักข่าวผู้หญิงที่เข้าข่ายหน้าตาและบุคลิกภาพดี  มักตกเป็นเป้าหมายของการล่วงละเมิดทางเพศ  หนึ่งในปัจจัยของปัญหาดังกล่าว นิธินันท์ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากทัศนคติของเพศชายที่ยังมองว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีไว้เพื่อชื่นชมในความงามน่ารัก หรือเพื่อเชยชม มากกว่าจะใส่ใจคุณค่าสมอง  และเห็นผู้หญิงเป็นเพื่อนร่วมงาน

ขณะที่นันท์ชนกระบุว่า เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในหลายกรณีเกิดจากแหล่งข่าวหรือเพื่อนร่วมงานแสดงความสนใจเรา และหากเราแสดงความสนใจตอบในลักษณะชู้สาว ในทางหนึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายคิดว่าสามารถแสดงออกได้มากกว่านั้น  นันท์ชนกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่นักข่าวผู้หญิงจะถูกเกี้ยวพาราสีจากแหล่งข่าวหรือจากผู้ชายในองค์กร ที่สำคัญคือต้องมองสถานการณ์ให้เข้าใจและวางตัวให้ถูก

หากไล่เรียงดูจะพบว่า ตั้งแต่ภาพลักษณ์ของนักข่าวหญิงที่ถูกตราประทับไว้กับข่าวบันเทิง หรือการสงวนข่าวเฉพาะประเด็นสำคัญให้กับนักข่าวชาย  ตลอดจนการตกเป็นเป้าของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสายอาชีพสื่อมวลชน  เหล่านี้  อาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ในกระแสที่ความเท่าเทียมทางเพศ ไปไกลเกินกว่าแค่ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง  หากยังรวมถึงเพศทางเลือกด้วย  แต่วงการสื่อมวลชนยังคงยึดโยงความสามารถของคนทำงานไว้กับเพศสภาพอย่างนั้นหรือ ?

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายได้ ตำแหน่งงาน นักข่าวหญิงในเอเชีย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: