ประมวลข้อถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 (ตอนแรก)

สิริวัฒน์ โพธิ์กระเจน : 15 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 26081 ครั้ง


อาทิ อักขรวิธีในจารึกที่ต่างไปจากจารึกอื่นๆ ในสมัยสุโขทัยและผิดแปลกไปจากอักขรวิธีของภาษาขอมและมอญโบราณที่มีใช้อยู่ในยุคสมัยนั้นและก่อนหน้านั้น การใช้คำที่ไม่ปรากฏในสมัยสุโขทัยและการหยิบยืมคำและประโยคจากจารึกหลักอื่นๆ และจากวรรณกรรมในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื้อหาที่ดูไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของสังคมสมัยสุโขทัยทั้งในเชิงกายภาพและโลกทัศน์ รวมทั้งการบรรยายโบราณวัตถุสถานในสุโขทัยที่คลุมเครือและไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดี และความไม่ชัดเจนของการค้นพบศิลาจารึกหลักดังกล่าว

การรวบรวมข้อถกเถียงในบทความนี้กระทำขึ้นในเวลาอันจำกัด ข้อมูลที่ผู้เขียนใช้ส่วนใหญ่ได้มาจากบทความและการอภิปรายที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2530-2532 อันเป็นช่วงที่นักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศเริ่มเสนอข้อถกเถียงในวงวิชาการอย่างจริงจัง จากที่แต่เดิมเคยมีการพูดถึงโดยนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในวงแคบๆ มาแล้วประมาณหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านั้น และในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 อันเป็นช่วงหลังจากที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนศิลาจารึกหลักที่ 1 ไว้ในทะเบียนความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World Register) ในปี พ.ศ. 2546 และวโรกาสครบรอบ 200 ปีแห่งวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2547 ดังนั้น ข้อมูลที่ใช้จึงนับว่าขาดความครบถ้วนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพสังคมโดยรวมของอาณาจักรสุโขทัย นอกจากนี้ ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่านักวิชาการเหล่านี้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแล้วบ้างในปัจจุบัน[1]

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนจำต้องยอมรับด้วยว่าตนมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และภาษาศาสตร์อยู่อย่างจำกัดมาก ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นแย้งหรือคล้อยตามการให้ข้อมูลและเหตุผลที่นักวิชาการทั้งสองฝ่ายหยิบยกมาเพื่อหักล้างกัน ข้อจำกัดนี้เป็นเหตุให้ผู้เขียนไม่สามารถศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 ในด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างเฉพาะเจาะจงและลงรายละเอียด เพราะจะยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการพยายามรวบรวมข้อถกเถียงที่แฝงมาด้วยความรู้ที่ผู้รู้ทั้งหลายได้ให้ไว้ในต่างวาระ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าบทความชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่รวบรวมข้อถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ในหลากหลายทัศนะและทิศทางการศึกษาที่สุด และพยายามนำข้อถกเถียงที่เป็นการโต้ตอบกันบางประเด็นโดยตรงมาเรียงต่อกันเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น

ประวัติและความสำคัญของศิลาจารึกหลักที่ 1

ประวัติและข้อมูลเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือที่เรียกกันว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่เผยแพร่และเป็นที่เข้าใจของคนไทยทั่วไปได้กล่าวว่าศิลาจารึกหลักนี้พบในปี พ.ศ. 2376 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ และทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) ระหว่างที่พระองค์ท่านได้จาริกธุดงค์ไปทางหัวเมืองเหนือในปีที่ว่านี้ได้พบจารึกหินดังกล่าวที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย จึงโปรดให้นำลงมากรุงเทพฯ พร้อมกับจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมร หรือที่กำหนดในภายหลังว่าเป็นศิลาจารึกหลักที่ 4 และพระแท่นมนังศิลาบาตรที่ได้พบในคราวเดียวกัน (ประมวลฯ, 2547, น. 14-16, 24; พิริยะ, 2547, น. 11) ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงสลักขึ้นในปีมหาศักราช 1214 หรือปี พ.ศ. 1835 ซึ่งเป็นปีที่ระบุไว้ในจารึกว่าพ่อขุนรามคำแหงมีรับสั่งให้ช่างทำพระแท่นมนังศิลาบาตรขึ้น จึงน่าจะเป็นการสกัดหินออกมาในคราวเดียวกันเพื่อทำทั้งจารึกและพระแท่น (พิริยะ, 2547, น. 16)

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงทำจากหินทรายแป้งเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่าทรงกระโจมหรือทรงยอ มีความสูง 111 เซนติเมตร และกว้างด้านละ 35 เซนติเมตร ข้อความจารึกมีปรากฏทั้งสี่ด้าน โดยด้านที่ 1 และ 2 มีจำนวน 35 บรรทัด และด้านที่ 3 และ 4 มีจำนวน 27 บรรทัด (ประมวลฯ, 2547, น. 23) ผู้ที่สามารถอ่านจารึกออกเป็นคนแรกคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ. 2379 คณะราชบัณฑิตในความควบคุมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นผู้คัดอักษรจากศิลาจารึก ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 ได้พระราชทานสำเนาคัดอักษรพิมพ์หินพร้อมด้วยคำแปลเป็นภาษาอังกฤษบางคำให้กับเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ราชทูตอังกฤษ ซึ่งได้นำไปพิมพ์ในหนังสือเรื่อง The Kingdom and People of Siam ในปี พ.ศ. 2399 (เรื่องเดียวกัน, น. 14-17) แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้กล่าวถึงศิลาจารึกมากนัก แต่ก็นับเป็นการเผยแพร่ประวัติการประดิษฐ์อักษรไทยให้นานาอารยประเทศได้รับรู้นับแต่นั้น (พิริยะ 2547, น. 274)

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้รับการขนานนามว่าเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย[2] (สุจิตต์ 2531/2546, น. (12) เนื่องจากมีข้อความระบุไว้ว่าลายสือที่ใช้ในการจารึกเป็นอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยพ่อขุนรามคำแหงในปีมหาศักราช 1205 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 1826 นอกจากความสำคัญในแง่จุดกำเนิดของอักษรประจำชาติไทยแล้ว ข้อความในจารึกยังถูกใช้อ้างอิงในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย ทั้งในแง่สิ่งปลูกสร้างและโบราณสถาน ศาสนา สภาพสังคม ประเพณีและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และกฎหมาย แม้ศิลาจารึกหลักนี้จะมีเนื้อความเพียง 124 บรรทัด แต่วงวิชาการของไทยก็เห็นว่าอุดมไปด้วยคุณค่าทางวิชาการในหลายด้าน ในด้านนิติศาสตร์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แสดงความเห็นว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงถือเป็นปฐมรัฐธรรมนูญของไทย เทียบได้กับเอกสารแมคนา คาร์ตา ซึ่งอังกฤษถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ (กำพล, 2546) เพราะมีการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการรักษาสิทธิมนุษยชน เช่น มีการคุ้มครองเชลยศึก ในด้านรัฐศาสตร์ จารึกได้กล่าวถึงความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนในแบบพ่อปกครองลูก ในด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงการเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์และเสรีทางการค้า ดังเช่นข้อความ “ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า (สะกดแบบนี้)” และ “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า” ในด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ กล่าวถึงอาณาเขตและความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย (คุณค่าฯ ม.ป.ป.) และในด้านภาษาศาสตร์ ลายสือที่ประดิษฐ์ขึ้นแตกต่างจากภาษาขอมที่นิยมใช้กันในสมัยนั้น เพราะมีพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์สำหรับเขียนภาษาไทยได้ทุกคำ พยัญชนะและสระถูกนำมาไว้บรรทัดเดียวกันและมีตัวสูงเท่ากัน ทำให้เวลาตีพิมพ์ตัวอักษรไม่หัก และประหยัดหน้ากระดาษ ทั้งยังเขียนได้เร็ว ไม่ต้องยกมือหลายครั้ง เพราะพยัญชนะทุกตัวเส้นต่อกัน (ประมวลฯ, 2547, น. 218)

ในการขอขึ้นทะเบียนความทรงจำแห่งโลกอันจะเป็นทั้งการรับรองศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นศิลาจารึกของจริงและเป็นเอกสารมรดกโลก คณะกรรมการของรัฐบาลไทยที่ทำหน้าที่จัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนได้ให้เหตุผลถึงความสำคัญของศิลาจารึกหลักนี้โดยมีใจความโดยสรุปว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง “เป็นตัวอย่างแบบฉบับทั้งในด้านความสวยงามของแท่งศิลา และของตัวอักษรที่เขียนเป็นระเบียบ แสดงถึงความภาคภูมิใจและความเฉลียวฉลาดสามารถของผู้สร้าง สำนวนภาษา ทำนองเขียนเรียบง่าย กระชับ มีพลังและความเคร่งขรึม” (ประมวลฯ, 2547, น. 209) การใช้ลายสือไทยคือ “เสรีภาพในการแสดงออกโดยใช้ภาษาเขียนของชาติ” “นับเป็นการประกาศเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความรู้สึก ความคิด และเรื่องราวของประเทศ” ในแง่เนื้อหา จารึกได้ “ให้ข้อความเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าไททั้งหมด” มี “ข้อความที่แสดงถึงคุณค่าทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณค่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เฉพาะสำหรับประเทศไทยเท่านั้น” ดังจะเห็นได้จากแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการค้า การปกครองแผ่นดินโดยธรรม รวมถึง “สิทธิในการครอบครองสมบัติที่ตนหามาได้ สิทธิในการร้องทุกข์ และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง” ในแง่ศาสนา “พ่อขุนทรงนับถือพระพุทธศาสนา แต่ยังรักษาไว้ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับเทพยดาอารักษ์ ผสมผสานกับนิกายที่นับถือในศรีลังกา เป็นแนวคิดใหม่ที่เป็นสากล” (เรื่องเดียวกัน, น. 208)

เห็นได้ว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแนวคิดเรื่องชาติและประวัติศาสตร์ของชาติไทย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การถกเถียงว่าศิลาจารึกหลักนี้เป็นของจริงหรือเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นในภายหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงจึงมีความรุนแรงอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเสนอว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแท้จริงแล้วทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเท่ากับว่าความรู้ที่มีในปัจจุบันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัยที่ได้จากจารึกหลักนี้ โดยเฉพาะความรู้ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และภาษาศาสตร์ เป็นเพียงสิ่งที่สมมติขึ้น ซึ่งย่อมจะกระทบต่อความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและการตระหนักรู้ในความเป็นชาติไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยถือเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดตั้งต้น

แรกเริ่มความคิดการปลอมศิลาจารึก

บุคคลที่ถูกอ้างถึงว่าเป็นคนแรกที่กล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้เป็นผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ 1 หากแต่เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือศาสตราจารย์แสง มนวิทูร (พ.ศ. 2443-2516) อาจารย์พิเศษคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าแผนกหอวชิรญาณ ในกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ในฐานะลูกศิษย์ของอาจารย์แสง สุจิตต์ วงษ์เทศเล่าว่าตนไม่เคยคิดจริงจังกับคำพูดนี้เพราะอาจารย์แสงมักกล่าวด้วย “โวหารแบบหักมุม” เช่นนี้เสมอ อย่างไรก็ดี อาจารย์แสงน่าจะพูดในทำนองนี้กับหลายๆ คนในหลายๆ โอกาส เพราะในการฉลอง 700 ปีลายสือไทยในปี พ.ศ. 2526 ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสงขลา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็อ้างว่าตนได้ยินมาเช่นนี้เหมือนกัน (สุจิตต์, 2531/2546, น. (12), (13), (17))

กระนั้น ไม่มีการบันทึกไว้ว่าอาจารย์แสงได้ให้เหตุผลกับคำพูดของตนอย่างไรบ้าง ผู้ที่ได้ยินบางส่วนเชื่อว่าเป็นเพียงสิ่งที่ท่านกุขึ้น และเรื่องกุนี้คงจะรั่วไหลไปถึงหูหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี (ประมวลฯ, 2547, น. 140) ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง Guide through the inscriptions of Sukhothai จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยฮาวายในปี พ.ศ. 2519 (สุจิตต์, 2531/2546, น. (14)) หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุเห็นต่างกับอาจารย์แสงในเรื่องสมัยที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 ถูกสลักขึ้น ท่านทรงมีพระดำริว่า “จารึกหลักนี้เขียนในสมัยลิไท โดยทรงให้เหตุผลว่า จารึกพูดถึงรามคำแหงเป็นบุรุษที่สาม และพระเจ้าลิไทมีความจำเป็นต้องใช้จารึกหลักที่ 1 และหลักที่เหมือนกันอีก 3 หลัก เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาชวนเชื่อ” (นิธิ, 2531, น. 24 อ้างถึงใน พิริยะ, 2547, น. 16) สำหรับการศึกษาศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงในช่วงทศวรรษ 2520 ผู้เขียนยังไม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างแน่ชัด แต่จากคำกล่าวของสุจิตต์ นักวิชาการส่วนมากในสมัยนั้นเชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงจารึกข้อความไว้เพียง 17 บรรทัดกับอีก 1 คำเท่านั้น (สุจิตต์, 2531/2546, น. (16)) หรือสิ้นสุดตรงประโยคที่ว่า “พี่กูตาย จึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม” หลังจากประโยคนี้แล้ว นามพ่อขุนรามคำแหงถูกกล่าวถึงในฐานะบุรุษที่สาม

ต่อมาไมเคิล วิกเกอรี่ (Michael Vickery) ได้เขียนบทความลงในวารสาร Journal of the Siam Society ปีที่ 66 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2521 ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบการเขียนของศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่นำสระทั้งหมดมาไว้บรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ วิกเกอรี่อ้างว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในจารึกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมจารึกรุ่นหลังจึงไม่ทำตาม (นิธิ, 2531, น. 64-65 อ้างถึงใน พิริยะ, 2547, น. 16-17) และในปี พ.ศ. 2527 นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความเรื่อง “ความฉงนของรอบ 700 ปี” ลงพิมพ์ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมกราคม ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบอักษรและเนื้อหาในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่แตกต่างจากจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่นๆ (สุจิตต์, 2531/2546, น. (17)-(18))

การถกเถียงเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 เริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2530 เมื่อ รองศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้แสดงปาฐกถาที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีสาระว่าศิลาจารึกหลักนี้เป็นผลงานสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมวลฯ, 2547, น. 217) และในปีเดียวกัน วิกเกอรี่ได้เสนอบทความเรื่อง The Ram Khamhaeng Inscription: A Piltdown Skull of Southeast Asian History ในการสัมมนาทางวิชาการ International Conference on Thai Studies ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ณ กรุงแครนเบอร์ร่า โดยยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นจารึกที่ไม่ได้ทำขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 และในงานเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้เดินทางไปเสนอความเห็นคัดค้านในที่ประชุมด้วย (พิริยะ, 2547, น. 17; สุจิตต์, 2531/2546, 2531 น. (19))

ข้อเสนอของทั้ง ดร. พิริยะ และวิกเกอรี่นำไปสู่การอภิปรายเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่าเป็นของจริงหรือปลอมที่จัดที่สมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2531 และอีกครั้งที่สยามสมาคมฯ ในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2532 (ประมวลฯ, 2547, น. 62-147) และการตรวจพิสูจน์จารึก ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารศิลปากรในปี พ.ศ. 2534 (จิราภรณ์ และ ศรีโสภา, 2534, น. 87-103) การอภิปรายครั้งแรกที่สมาคมโบราณคดีมีแต่นักวิชาการฝ่ายที่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมาร่วมแสดงการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี และศาสตราจารย์ ม.ล. สุภัทรดิศ ดิศกุล ส่วนการอภิปรายครั้งที่ 2 ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ร่วมเสนอข้อมูลจากงานวิจัยของตนที่ทำให้เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฝ่ายที่เสนอความเห็นค้านประกอบไปด้วยนักวิชาการทั้งสามท่านที่ร่วมกันอภิปรายในคราวแรก นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมฟังการอภิปรายที่ขอแสดงความคิดเห็นอีกห้าราย ได้แก่ ดร. วินัย พงษ์ศรีเพียร ดร. ปราณี กุลวณิชย์ อาจารย์พิทยา บุนนาค รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก และนายภาษิต จิตรภาษา ซึ่งทั้งห้าท่านแสดงความเห็นไปในทางที่ว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงจริง ในตอนท้ายของการอภิปราย มีการแนะนำนางจิราภรณ์ อรัณยะนาค นักวิทยาศาสตร์ 7 กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพิสูจน์ศิลาจารึกหลักดังกล่าวด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ข้อถกเถียงที่ได้จากการอภิปรายทั้งสองครั้งนี้และที่ได้จากแหล่งข้อมูลอื่นจะได้นำเสนอต่อไปบทความ โดยจะตั้งหลักที่ผลงานวิจัยของ ดร. พิริยะ เนื่องจากเป็นโต้โผสำคัญของฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง



[1] จากการศึกษาข้อมูล ผู้เขียนพบว่ามีนักวิชาการบางรายที่มีความคิดเห็นเรื่องนี้เปลี่ยนไป เช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ และไมเคิล ไรท์ ใน “คำไม่นำ” ของหนังสือเรื่อง “วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย” สุจิตต์ได้เล่าถึงความเชื่อแต่เดิมของตนและการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ในปี พ.ศ. 2520 โดยสำนักพิมพ์การเวกที่สุจิตต์ร่วมก่อตั้ง โดยบอกว่าช่วงนั้นตนยังเชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงจริง นอกจากนี้ สุจิตต์ได้อ้างถึงคำนำที่เขียนโดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในหนังสือเรื่อง “คำประกาศความเป็นไท” ซึ่งเอ่ยถึงข้อเขียนของไมเคิล ไรท์ ที่คัดค้านความคิดที่ว่าจารึกดังกล่าวเป็นของปลอมแปลงขึ้น ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2530 (สุจิตต์, 2531/2546, น. (12)-(13)) ในปัจจุบันทั้งสุจิตต์และไรท์ต่างเชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในการปาฐกถาเรื่อง “ความเป็นไทยใน ‘ความเป็นอื่น’: มลายูมุสลิมในฐานะส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไท­ย” สุจิตต์ได้ตั้งคำถามแม้กระทั่งว่าพ่อขุนรามคำแหงมีตัวตนจริงหรือไม่ (KerisMidia Kreatif, 2555) เป็นไปได้ว่าอาจจะมีนักวิชาการรายอื่นอีกที่ได้เปลี่ยนความคิดเห็นของตนหลังจากได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทั้งที่อาจเปลี่ยนจากเชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นเชื่อว่าทำขึ้นในสมัยหลังจากนั้น หรือที่เปลี่ยนจากเชื่อว่าศิลาจารึกหลักนี้ทำขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เป็นทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่อาจเปลี่ยนความเชื่อในลักษณะที่สวนทางจากที่กล่าวมา เช่นกรณีรองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก (ประมวลฯ, 2549, น. 136)

[2] ขณะที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนได้เรียนมาว่าไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง เป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย ผู้เขียนยังไม่พบคำอธิบายที่เป็นที่น่าพอใจเกี่ยวการพิจารณาที่ต่างกันในจุดนี้

 


บรรณานุกรม

กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2527). ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ฉบับผลการสัมมนา
พุทธศักราช 2523. กรุงเทพฯ.

กำพล จำปาพันธ์. (2546, กันยายน 19-25). ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย.
มติชนสุดสัปดาห์, 1205, น. 87-88.

คุณค่าของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง. (ม.ป.ป.) ใน มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นจาก
http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/srj5.htm

จิราภรณ์ อรัณยะนาค และ ศรีโสภา มาระเนตร์. (2534). การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์.
ศิลปากร 34(2), น. 87-103.

ชัชวาล บุญปัน. (กุมภาพันธ์ 2547). ข้อสงสัยการตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์.
ศิลปวัฒนธรรม 25(4), น. 35-39.

เซเดส์, ยอช. (2468). ตำนานอักษรไทย. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2531). ฉากแรกของไมเคิล วิคเคอรี. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), จารึกพ่อขุนรามคำแหงใครแต่งกันแน่? “ของจริง” หรือ “ของปลอม” (น. 62-67).

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2470). พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รวมครั้งที่ 6. พระนคร: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดให้พิมพ์.

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2479). พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ 5. พระนคร: พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานปลงศพ จีน อมาตยกุล.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2546). จารึกพ่อขุนฯ “แหวกประเพณี” เมื่อสระลอยลอยมาจมอยู่ใน “ศิลาจารึกหลักที่ 1”. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย (น.83-91) (ต้นฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. 2532). กรุงเทพฯ: มติชน.

ภูวดล สุวรรณดี. (มกราคม 2542). พิริยะ ไกรฤกษ์ จับ “พิรุธ” ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง. ศิลปวัฒนธรรม 20(3), น. 109-111.

ไรท, ไมเคิล. (2549). ไมเคิล ไรท มองโลก. กรุงเทพฯ: มติชน.

ไรท์, ไมเคิล. (2546). จารึกพ่อขุนรามคำแหงทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์จริงหรือไม่. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย (น. 95-100) (ต้นฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. 2530). กรุงเทพฯ: มติชน.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2546). คำไม่นำ. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.), วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจารึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งในยุคสุโขทัย (น. (12)-(23)) (ต้นฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. 2531). กรุงเทพฯ: มติชน.

KerisMidia Kreatif. (2555, มิถุนายน 21). ปาฐกถา : คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ | PATANI in History 4/5 [วิดีโอ]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=JVIsRzztNJs

โปรดดิตตามตอนจบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: