นักกิจกรรมที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของคสช.จำนวนมากคงคิดอย่างเดียวกัน แต่ไผ่เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่คิดเรื่องนี้ชัดที่สุด
เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นที่คัดค้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ยิ่งกว่าเนื้อหาก็คือ หากทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติได้ คสช.จะตกที่นั่งลำบากมากขึ้น และนำไปสู่ความเสื่อมสลายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อแก้แค้นคสช. แต่เพื่อทำให้เป็นอุปสรรคแก่การยึดอำนาจอย่างผิดกฏหมายซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย
ในฐานะนักเรียนกฏหมาย ไผ่นำเอากฏหมายเข้าไปในบริบททางการเมือง ทั้งการเมืองในปัจจุบันและอนาคต ผมเข้าใจว่า ในทัศนะของไผ่ กฏหมายจึงไม่ใช่บัญญัติที่ลอยมาจากฟ้า แต่เป็นหลักความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมที่ทุกฝ่ายต้องเห็นว่ามีความเป็นธรรม จึงพร้อมใจกันปฏิบัติตาม
คำสั่งของคสช.ไม่ใช่กฏหมาย อย่างที่เนติบริกรทั้งหลายบัญญัติให้เป็น เพราะพื้นฐานของกฏหมายไม่ได้อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่อยู่ในความเห็นชอบของประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฏหมายต่างหาก
ผมไม่ทราบว่า แนวคิดอย่างนี้ถูกสั่งสมและเป็นฐานแห่งการแสวงหาความรู้ทางกฏหมายในวงวิชานิติศาสตร์ไทยหรือไม่ แต่วงวิชานิติศาสตร์ไทยได้ผลิตเนติบริกรมาอย่างไม่หยุดยั้ง คือนักเทคนิคทางกฏหมายที่พร้อมจะแปรความประสงค์และคำสั่งของผู้มีอำนาจให้ออกมาในรูปกฏหมายระดับต่างๆ โดยไม่ต้องถามถึงอำนาจของผู้มีอำนาจนั้นได้รับการยอมรับในใจคนไทยหรือไม่ และไม่ต้องถามถึงคำสั่งและความประสงค์นั้นว่าจะได้รับความเห็นชอบจากใจของคนไทยหรือไม่
เนติบริกรทำงานเหมือนช่างตัดผม คือตัดทรงที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น
ที่เหลือในการบัญญัติกฏหมายไทยจึงเป็นหน้าที่ของ“โรงงานผลิตความเห็นชอบ”ต่างๆ ตามสำนวนของ Noam Chomsky จึงไม่น่าประหลาดที่นักกฏหมายบางท่านดีอกดีใจที่ได้เป็นโฆษกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร เพราะในการบัญญัติกฏหมายของคณะรัฐประหาร การ“ผลิตความเห็นชอบ”มีความสำคัญเสียยิ่งกว่าการผลิตกฏหมายที่มาจากความเห็นชอบอย่างแท้จริงของพลเมือง
ผมไม่ทราบว่า หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ไผ่ ดาวดินจะไปทำงานอะไร หรือเข้าสู่วงการอะไร แต่แนวคิดทางกฏหมายของไผ่ที่เห็นว่าต้องเข้าใจกฏหมาย หรือแม้แต่ต้องบัญญัติกฏหมายในบริบททางการเมือง (และสังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม) ของสังคมนั้นด้วย หรือเป็นหลักความสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับได้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะถูกหรือผิดในทางนิติศาสตร์ผมไม่ทราบ แต่เป็นความเห็นทางวิชาการที่ควรจะต้องถูกไตร่ตรองพิจารณาและถกเถียงกัน เพื่อให้เกิดการยอมรับ หรือเพื่อให้ตกไปก็ตามแต่
อีกข้อหนึ่งของไผ่ ดาวดินที่มีความสำคัญแก่ผมอย่างมาก แต่ขอเล่าเรื่องนี้จากจุดยืนของ Bertrand Russel หรือ ลอร์ดรัสเซิล ก่อน
เมื่อเป็นหนุ่ม ลอร์ดรัสเซิลเป็นปัญญาชนที่ผมศรัทธามาก ในฐานะนักวิชาการ เขาได้รางวัลโนเบลร่วมกับเพื่อนนักวิชาการอีกคนหนึ่ง แต่ชื่อเสียงของเขากลับมาจากปฏิบัติการทางการเมืองและสังคมของเขามากกว่า ผลงานที่ทำให้ผู้คนรู้จักเขาก็ไม่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่ทำให้เขาได้โนเบล แต่เป็นผลงานที่แฉโพยความฉ้อฉลของอำนาจที่ครอบงำโลก ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือการทหาร หรือการเมือง
แม้ในภายหลังความศรัทธาของผมต่อเขาอาจคลายลง เพราะมองเห็นข้อจำกัดในวิธีคิดที่อิงกับประจักษ์นิยมมากเกินไปของเขา แต่การกระทำของเขาที่เป็นผลให้ต้องติดคุกติดตะรางบ้าง ทำให้นักการเมืองอเมริกันบีบบังคับให้เขาต้องสละตำแหน่งในมหาวิทยาลัยอเมริกันบ้าง ฯลฯ ยังทิ้งปัญหาคาใจสืบมาจนทุกวันนี้ นั่นคือนักวิชาการควรเป็นนักกิจกรรมด้วยหรือไม่ หรือได้หรือไม่ การกระทำของนักกิจกรรมแตกต่างจากนักวิชาการตรงที่ ดูเหมือนกิจกรรมเป็นผลสรุปทางความคิดที่เปิดช่องให้แก่การโต้แย้งน้อยลง (โต้แย้งได้นะครับ แต่ดูคล้ายๆ กับช่องของการโต้แย้งแคบลง) ซึ่งแน่นอนย่อมแตกต่างจากบทความที่พิมพ์ในวารสาร ซึ่งอาจ“สุดโต่ง”อย่างไรก็ได้ เพราะคนอื่นก็อาจโต้แย้งได้ตามธรรมชาติของการเสนอความเห็นในวารสารวิชาการ
สมัยที่ลอร์ดรัสเซิลทำกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองและสังคม ข้อสงสัยนี้ดูจะมีคำตอบไปแล้วว่า กิจกรรมไม่เกี่ยวกับงานของนักวิชาการ แต่หลังจากนั้น นักวิชาการหรือปัญญาชนลงมาทำกิจกรรมอย่างเดียวกับลอร์ดรัสเซิลมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว เช่นการต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐก็มีนักวิชาการเข้าร่วมอยู่ไม่น้อย
แต่ในเมืองไทย ดูเหมือนยังไม่ชัดเท่าไรนัก โดยเฉพาะหลัง ๖ ตุลาเป็นต้นมา นักกิจกรรมถูกมองด้วยความระแวงนานาประการ นับตั้งแต่ไม่รักชาติ ไปจนถึงรับเงินสิงคโปร์มาเคลื่อนไหว หรือรับเงินนักการเมือง ยิ่งนักกิจกรรมเป็นนักศึกษาด้วย ก็ยิ่งถือว่าไม่เหมาะ เพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของนักศึกษา หรือไม่ใช่หน้าที่ของนักวิชาการ
ไผ่สืบทอดปัญหาคาใจในเมืองไทยนี้ด้วยการเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ๒๕๕๗ แล้ว เท่ากับรื้อฟื้นหรือให้ชีวิตแก่คำถามสำคัญของสังคมไทยต่อไป และถูกเผด็จการและบริวารโจมตีตลอดมาว่า เกรดไม่ดีบ้าง หรือเรียนนานบ้าง แต่คำถามนี้สำคัญแก่สังคมไทยมาก เพราะวิธีคิดของนักอนุรักษ์นิยมไทยซึ่งมีอิทธิพลสูงมากก็คือ ทุกคนมีหน้าที่ตามอาชีพ, หรือสถานะทางสังคม ของตนเอง ซึ่งต้องปฏิบัติให้ดี (แล้วสังคมก็จะดีเอง) ทำให้ไม่มีใครต้องทำอะไรเพื่อรักษาความเป็นธรรมในสังคม ปล่อยให้คนเล็กคนน้อยจำนวนมากถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะไปขัดขวาง หรือแก้ไข ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่คือข้าราชการ และผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่กี่คนจัดการไปเองเท่านั้น
การปลดประชาชนออกจาก“กิจกรรม”คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เผด็จการไม่มีวันตายไปจากสังคมไทย
ในแง่นี้ ความเป็นนักกิจกรรมของไผ่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับเผด็จการ
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริพูดเสมอว่า สังคมอารยะจะไม่เอาคนหนุ่มสาวของตนเองไปกักขัง เพียงเพราะเขามีความคิดที่แตกต่างจากอำนาจ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง และหากยิ่งมองเฉพาะไปที่ไผ่ ดาวดิน ก็จะยิ่งเห็นเหตุผลที่สังคมอารยะควรเป็นเช่นนั้น เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้ไม่ใช่หรือ ที่จะสร้างคำถามใหม่ และคำตอบใหม่ให้แก่สังคมในอนาคต การจับกุมคุมขังหรือปิดปากคนหนุ่มคนสาว คือการทำให้สังคมไม่มีวันที่จะได้เผชิญกับคำถามใหม่และคำตอบใหม่ สังคมนั้นจึงถูกสาปให้วนเวียนอยู่กับปัญหาเก่า และทางออกเก่า ซึ่งไม่ตอบปัญหาไปตลอด และเสื่อมลงจนไร้อารยธรรมในที่สุด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ