การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประกาศพื้นที่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ในช่วง10 ปีจากนี้ รวม 127.3 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท นำร่อง 3 โครงการในปี 2559 ยืนยันไม่กระทบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม (ที่มาภาพ: prd.go.th)
15 มี.ค. 2559 Energy News Center : ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานว่านายนิพนธ์ จิรทวีวุฒิ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.เตรียมนำสายไฟฟ้าที่อยู่บนถนนสายหลักลงใต้ดิน ตาม "แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 1" รวม 127.3 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (2559-2568) โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 48,717 ล้านบาท
โดยพื้นที่ที่จะนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในช่วง10 ปีจากนี้ แบ่งเป็น 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการติวานนท์-แจ้งวัฒนะ 2. โครงการลาดพร้าว-รามคำแหง 3. โครงการสามเสน-รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 4. โครงการสาทร-เจริญราษฎร์ 5. โครงการวงเวียนใหญ่-อรุณอมรินทร์ 6. โครงการเทพารักษ์-สุขุมวิท และ 7.โครงการเขตพื้นที่เมืองชั้นใน
อย่างไรก็ตามในปี 2559 นี้จะเริ่ม 3 โครงการก่อน ได้แก่ 1. โครงการสามเสน-รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จะเริ่มดำเนินการในเดือนมี.ค. 2559 ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับงานโครงการของการประปานครหลวง (กปน.) บริเวณโดยรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน คาดเสร็จสิ้นปี 2562 รวมระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี 2. โครงการเทพารักษ์-สุขุมวิท ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (อ่อนนุช-แบริ่ง และแบริ่ง-สมุทรปราการ) คาดเสร็จสิ้นปี 2564 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี และ 3. โครงการวงเวียนใหญ่-อรุณอมรินทร์ ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับโครงการของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช คาดเสร็จสิ้นปี 2565 รวมระยะเวลา 7 ปี
อย่างไรก็ตามการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินดังกล่าว จะไม่กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเดิม เว้นแต่ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าเป็นระดับแรงดันสูงตั้งแต่ 12,000 โวลต์ ขึ้นไป รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพื้นที่อยู่ในระยะ 50 เมตรจากขอบถนน โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ กฟน. เพื่อรับทราบข้อกำหนดมาตรฐานในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับกับระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยจะมีการคิดค่าบริการขอใช้ไฟฟ้าระดับแรงดันสูงเพิ่มเติมจากเดิม นับตั้งแต่ 10 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1130 ตลอด24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียด www.mea.or.th
นายนิพนธ์ กล่าวว่า กฟน.มีเป้าหมายนำสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน 1,300 กิโลเมตร โดยทำเสร็จแล้ว 40.6 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 2,527 ล้านบาท ได้แก่ สีลม ปทุมวัน จิตรลดา พหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท ส่วนโครงการที่กำลังดำเนินการ 175 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 66,705 ล้านบาท ได้แก่ ส่วนเพิ่มเติมในพื้นที่ จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท รวมทั้งนนทรี พระราม3 รัชดาภิเษก-พระราม 9
นอกจากนี้มีโครงการ "แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 2" อีก 134.3 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 94,375 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการระหว่างปี 2565-2574 ซึ่งยังเหลือพื้นที่อีกกว่า 900 กิโลเมตรที่ต้องดำเนินการต่อไปตามเป้าหมาย
สำหรับการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน นอกจากจะสร้างความสวยงามสบายตาแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้มากขึ้น เพราะมีสายไฟฟ้าในท่อมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 2 ในอาเซียน ของการเป็นประเทศที่มีคุณภาพไฟฟ้าดีสุด ซึ่งตั้งเป้าหมายจะทำให้ได้ในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ