แรงงานพลัดถิ่น: เล็งจัดระเบียบบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าว

15 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2436 ครั้ง


	แรงงานพลัดถิ่น: เล็งจัดระเบียบบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าว

ก.แรงงานระบุหลังพบปัญหาแรงงานต่างด้าวถูกยึดพาสปอร์ต และไม่ได้ทำสัญญาจ้างกับบริษัทที่ขอโควต้านำเข้าแรงงานต่างด้าว แต่กลับต้องทำสัญญากับบริษัทจัดหางานแทน เตรียมตรวจสอบบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวย้อนหลังว่ามีกี่บริษัทที่เข้าข่ายลักษณะนี้ หากพบจะเข้าช่วยเหลือ เพิกถอนใบอนุญาต เตรียมเชิญบริษัทที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในลักษณะซับคอนแทรกหารือเพื่อขอความร่วมมือให้ทำสัญญาจ้างกับแรงงานต่างด้าวโดยตรง (ที่มาภาพ: mcot.net)

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงแนวทางแก้ปัญหาบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวและแจ้งจดทะเบียนเป็นนายจ้าง ก่อนจะส่งแรงงานไปทำงานเป็นลักษณะแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรก) ในจังหวัดต่าง ๆ ว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาแรงงานต่างด้าวถูกยึดหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) และไม่ได้ทำสัญญาจ้างกับบริษัทที่ขอโควต้านำเข้าแรงงานต่างด้าว แต่กลับต้องทำสัญญากับบริษัทจัดหางานแทนซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้น กกจ.จะตรวจสอบบริษัทจัดหางานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวย้อนหลังว่ามีกี่บริษัทที่เข้าข่ายลักษณะนี้ และมีแรงงานต่างด้าวที่บริษัทจัดหางานจดเป็นลูกจ้างกี่คน หากพบ กกจ.จะเข้าช่วยเหลือ และในฐานะนายทะเบียนจัดหางานกลางจะใช้อำนาจสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต อีกทั้งเชิญบริษัทที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในลักษณะซับคอนแทรกหารือเพื่อขอความร่วมมือให้ทำสัญญาจ้างกับแรงงานต่างด้าวโดยตรง

“ยอมรับว่าปัจจุบันไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง กกจ.จึงได้จัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การนำการคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. … เพื่อให้มีมาตรการควบคุมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในไทย โดยมีสาระสำคัญ ให้แรงงานต่างด้าวทำสัญญาจ้างโดยตรงกับสถานประกอบการที่ทำงาน โดยบริษัทจัดหางานห้ามทำสัญญาจ้างกับแรงงานต่างด้าวโดยตรง กำหนดความรับผิดชอบที่บริษัทจัดหางานและสถานประกอบการต้องมีต่อแรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาจนกระทั่งหมดสัญญาจ้างและเดินทางกลับประเทศต้นทาง และกำหนดโทษสำหรับบริษัทจัดหางาน โดยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่ง ครม.รับหลักการแต่มีมติให้ส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง” นายอารักษ์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: