สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 9 - 15 พ.ค. 2559

15 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2197 ครั้ง


	สรุปข่าวอาเซียนประจำสัปดาห์ 9 - 15 พ.ค. 2559

ฟิลิปปินส์

Duterte ประกาศชัยชนะเลือกตั้งปธน.ฟิลิปปินส์พร้อมสัญญาแก้ไขรธน.ฉบับใหม่ / Rodrigo Duterte ได้รับคะแนนการเลือกตั้งสูงที่สุดตามการประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ Peter Lavina โฆษกของ Duterte กล่าวว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงจากระบอบอำนาจศูนย์กลางสู่ระบอบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาจากการรณรงค์หาเสียงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังให้คำมั่นว่าจะฆ่าอาชญากรให้ได้หมื่นคน อย่างไรก็ตามผลการนับคะแนนการเลือกตั้งรองประธานาธิบดีนั้นเข้มข้นและสูสีกว่า เพราะคะแนนของ Leni Robredo ผู้ลงเลือกตั้งที่เป็นทนายและนักเคลื่อนไหวทางสังคมนำหน้า Ferdinand Marcos Jr. ที่เป็นลูกชายของผู้นำเผด็จการคนล่าสุดอยู่เพียงแค่ 0.4 คะแนน ลิงค์ข่าว

เวียดนาม

เวียดนามชงโครงการพัฒนาแม่น้ำแดงเชื่อมเส้นทางจีน / กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนามมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาแม่น้ำแดง ที่รวมโครงการพัฒนาช่องทางเดินเรือทรานสเอเชียที่เชื่อมโยงกับประเทศจีน โดยโครงการนี้มีบริษัท Xuân Thiện ของเวียดนามเป็นผู้เสนอโครงการ ประกอบด้วยการเปิดช่องทางเดินเรือกับการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเดินเรือในแม่น้ำแดง บริษัทดังกล่าวเผยว่าต้องการยอดการลงทุนประมาณ 1,100 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการต่อต้านจากผู้เชี่ยวชาญและชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากมีความกังวลว่าโครงการนี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อม เหมือนโครงการที่แล้วๆ มาของรัฐบาล ลิงค์ข่าว

กัมพูชา

รบ.กัมพูชาถูกภาคเกษตรกดดันเร่งแก้ไขปัญหานำเข้าข้าวผิดกฏหมาย / กว่าหนึ่งเดือนหลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาออกมาให้คำมั่นว่าจะพยายามหยุดการนำเข้าข้าวอย่างผิดกฏหมาย และยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถส่งออกผลิผลิตของตนเองได้ โดย Cambodian Rice Federation หรือ CRF ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขสองปัญหาหลักของอุตสาหกรรมข้าว คือปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนและปัญหาการนำเข้าข้าวอย่างผิดกฏหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ Moul Sarith รักษาการตำแหน่งเลขาธิการกลุ่ม CRF เผยว่าขณะนี้พวกเขาก็ยังกำลังรอมาตรการจากรัฐอยู่ว่าจะแก้ปัญหาให้เราอย่างไร รวมถึงปัญหาการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม และจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการรายงานจากรัฐบาล แต่เราได้ยินมาว่าจำนวนข้าวที่นำเข้ามีจำนวนลดลงเพียงเล็กน้อย ลิงค์ข่าว

อินโดนีเซีย

งานประชุมเหตุการณ์ 1965 ความหวังใหม่ในอินโดนีเซีย? / งานประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 1965 ถูกจัดขึ้นในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 18-19 เมษายน 2016 โดยใช้แนวทางประวัติศาสตร์ การที่รัฐบาลอินโดนีเซียเห็นชอบในการจัดงานประชุมถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ ท่ามกลางพื้นที่การวิเคราะห์การเมืองที่จำกัดการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 1965 และความรุนแรงของขบวนการ anti-communist ในประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามงานประชุมครั้งนี้ไม่ถูกต่อต้าน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง ต่างจากงานครั้งอื่นๆ ที่ถูกต่อต้าน ก่อกวน ข่มขู่ และถูกยกเลิกมาแล้วหลายครั้ง สิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งคือมีการรวบรวมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เคยไม่เห็นด้วยกับการสรุปเหตุการณ์ของรัฐบาลก่อนหน้านี้ หลังการประชุมครั้งนี้ จะมีทีมงานรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้รับการนำเสนอสำหรับประธานาธิบดี Joko Widodo เพื่อติดตามประเด็นทั้งหมด อินโดนีเซียอาจกำลังเดินถูกทางในด้านของการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีและการตอบสนองโดยการดำเนินงานต่อไปของประธานาธิบดีเช่นกัน ลิงค์ข่าว

พม่า

นักเคลื่อนไหวโรฮิงญาชี้ การ์ตูน 'boat people' อันตรายและน่ารังเกียจ / นิตยสาร Irrawaddy ของพม่าเผยแพร่การ์ตูนล้อเลียน boat people ที่ถูกนักวิจารณ์วิพากษ์ว่าเป็นสิ่งที่ 'น่ารังเกียจ' 'เหยียดชาติพันธุ์' และ 'อันตราย' โดยการ์ตูนดังกล่าวมีภาพของคนที่มีผิวคล้ำที่คล้องป้ายกำกับข้างหลังว่า 'boat people' แซงคิวกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ของพม่าที่กำลังเข้าแถวอยู่ คล้ายว่าเข้ามาแทนที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ขณะที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าการ์ตูนดังกล่าวสื่อถึงชาวโรฮิงญาที่ไร้สัญชาติที่กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในพม่า นอกจากนี้ Wai Wai Nu นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญาเผยว่าการ์ตูนดังกล่าวส่งเสริมการกีดกันมุสลิมและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการ์ตูนที่กีดกันมุสลิมเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ลิงค์ข่าว

รบ.ดอว์ซูจียังคงกฏหมายจำกัดเสรีภาพตามแบบรบ.ทหาร / รัฐบาลพม่าที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี เสนอที่จะคงข้อจำกัดตามแบบฉบับของรัฐบาลทหารไว้ เพื่อควบคุมเสรีภาพในการพูดและสิทธิในการประท้วง โดยข้อเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฏหมายที่มีชื่อว่า 'กฏหมายการชุมนุมอย่างสงบ' (Peaceful Assembly Law) ที่ได้นำเสนอเมื่ออาทิตย์ก่อนระบุไว้ว่าผู้ประท้วงที่เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดจะได้รับโทษและห้ามคนที่ไม่ใช่พลเมืองทำการประท้วง ทั้งนี้ผู้ที่ถูกพิจารณาว่ามีพฤติกรรมรบกวนหรือน่ารำคาญก็ได้รับโทษเช่นกัน ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองกลุ่มใหญ่ก็คือชาวโรฮิงญาที่เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในพม่า ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากกระทรวงต่างประเทศพม่าเตือน ผู้แทนทางการทูตคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาไม่ให้ใช้คำว่า 'โรฮิงญา' ทำให้ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์พรรค National League for Democracy (NLD) ของออง ซาน ซูจี ที่คงกฏหมายของรัฐบาลทหารที่กดขี่ไว้ทั้งที่ต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ลิงค์ข่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: