ส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังอีก 5 แสนไร่ จ.อุบล ขยายกำลังผลิตเอทานอล

15 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 4063 ครั้ง


	ส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังอีก 5 แสนไร่ จ.อุบล ขยายกำลังผลิตเอทานอล

เปิดแผน 5 ปีกลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล ตั้งงบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ขยายกำลังการผลิตเอทานอล เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานีอีก 5 แสนไร่ (ที่มาภาพประกอบ: ichemeblog.org)

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2559 ว่านายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล เปิดเผยว่าแผน 5 ปีได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทในด้านกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนไปสู่ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทในอนาคต โดยมีโครงการที่เตรียมเอาไว้สำหรับการลงทุนประมาณ 26 โครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และมีแผนขยายพื้นที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานีอีกประมาณ 5 แสนไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่เดิม 5 แสนไร่ รวมเป็นประมาณ1ล้านไร่ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรพบว่ามีมากกว่า 9 แสนไร่ ที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว แต่เหมาะที่จะปลูกมันสำปะหลัง

โดยโครงการสำคัญที่คาดว่าจะมีการลงทุนในระยะแรกในปี 2560 ถึง 2561 คือการนำกากของเสียที่เหลือทิ้งในโรงงานมาผลิตกระแสไฟฟ้ารวมประมาณ7เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงาน  ซึ่งจะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประมาณ15ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ180 ล้านบาทต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนขยายสายการผลิตเอทานอลโรงที่ 2 กำลังการผลิต 900,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 1.3 ล้านลิตรต่อวัน โดยปัจจุบันโครงการส่วนขยายได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอและได้ผ่านการอนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว   นอกจากนั้น ยังมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากประเทศเกาหลีใต้ใน การสร้างเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคัลและไบโอพลาสติก

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายการลงทุนตามแผนลงทุน 5 ปี ดังกล่าว หากผู้ถือหุ้นไม่มีการเพิ่มทุนเข้ามา

นายเดชพนต์ ได้กล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลในอนาคต โดยคาดว่าจะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน ปริมาณการใช้เอทานอลเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่อยู่ในระดับต่ำทำให้รถยนต์ที่ใช้ LPG เริ่มหันกลับมาใช้น้ำมัน โดยในปี 2558 ปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันปี 2559 มีปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.61 ล้านลิตรต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 (อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)

“การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการใช้เอทานอลตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (แผน AEDP2015) จะยิ่งทำให้อนาคตพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเอทานอล มีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปีหน้า 2560 ความต้องการใช้เอทานอลจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้อีกประมาณร้อยละ 10” นายเดชพนต์กล่าว

นายเดชพนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งออกมันสำปะหลังปัจจุบันอยู่อันดับ 1 ของโลก ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก การได้รับส่งเสริมและกระตุ้นจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังให้กับประเทศได้ โดยเฉพาะโลกแห่งอนาคตจะก้าวไปสู่แนวทางวิถีอินทรีย์ คือนอกจากเกษตรกรจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์แล้ว การใช้พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบปิโตรเคมีก็จะลดน้อยลง แต่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพหรือการใช้ชีวเคมีภัณฑ์ต่างๆ จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตแบบชีวภาพค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตจะตอบโจทย์คำว่ายั่งยืนให้กับทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกรสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจท้องถิ่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 57.44, 21.28 และ 21.28 ตามลำดับ ก่อตั้งในปี 2551 โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังและพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมพลังงานครบวงจร ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบริษัทอุบล ไบโอเอทานอลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ธุรกิจผลิตเอทานอลกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน ธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลังกำลังการผลิต 700 ตันแป้งต่อวัน และธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 7.5 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ภายในกลุ่มบริษัทฯ และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: