เทียบส่วนต่าง'มอไซค์วิน vs แกร็บไบค์' เพราะสัมปทานเสื้อ 2 หมื่นถึง 5 แสน?

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ : 15 พ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 12732 ครั้ง

จากกรณีผู้โดยสารรายหนึ่ง เรียกบริการจักรยานยนต์รับจ้างผ่านแอพลิเคชั่น (application) ทับที่บริการของวินจักรยานยนต์รับจ้างประจำเขต หรือวินมอเตอร์ไซค์ จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะคารมยื้อแย่งกุญแจรถ เนื่องจากวินประจำเขตไม่พอใจที่ถูกแย่งผู้โดยสาร โดยให้เหตุผลว่าหากจะเรียกบริการผ่านแอพลิเคชั่น ให้เรียกใช้ในเขตที่ไม่มีวินประจำเขต

ข้อขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการรถรับจ้างผ่านช่องทางออนไลน์ กับผู้ให้บริการเดิม ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างไร ราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คนขับแท็กซี่และจักรยานยนต์สามล้อกว่าพันคนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย รวมตัวปิดสายถนนสายหลักประท้วง อูเบอร์ (Uber) และแอพลิเคชั่น เรียกรถออนไลน์อื่นๆ พร้อมให้เหตุผลว่าบริการออนไลน์เหล่านี้เข้ามาแย่งลูกค้าและทำให้พวกเขาเสียรายได้เป็นจำนวนมาก เพราะรถรับจ้างเหล่านี้เสนอค่าบริการที่ถูกกว่า เช่นเดียวกับที่กรุงโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย คนขับแท็กซี่หลายร้อยคน รวมตัวปิดถนนประท้วงอูเบอร์ ด้วยเหตุผลว่า บริการดังกล่าวทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับพวกเขา และย้อนไปราวเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คนขับแท็กซี่หลายร้อยคนรวมตัวปิดถนนประท้วงอูเบอร์ โดยระบุว่า บริการดังกล่าวทำให้พวกเขาเสียรายได้ไปถึงร้อยละ 30

ในประเทศไทย แม้ข้อขัดแย้งระว่างผู้ให้บริการแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ กับ บริการเรียกรถออนไลน์ผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ จะยังไม่รุนแรงและลุกลามจนถึงขั้นปิดถนนประท้วงอย่างในต่างประเทศ  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของธุรกิจแอพลิเคชั่นเรียกรถออนไลน์เหล่านี้  ย่อมสร้างความไม่พอใจต่อผู้ให้บริการเดิม โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้ บริการหน้าใหม่เสนอบริการที่สะดวกกว่า ราคาถูกกว่า  ปัจจุบันในประเทศไทย มีบริการแอพลิเคชั่นเรียกรถออนไลน์โดยประมาณทั้งสิ้น  4 ผู้ให้บริการ  ได้แก่ Easy Taxi, Grab Taxi, Uber  และ Lyft (อ่านเพิ่มเติมใน : ธุรกิจแอพแท็กซี่สู้เดือดบนถนนเมืองไทย ขาย’รวดเร็ว-ปลอดภัย-ไม่ปฏิเสธลูกค้า’)

Grab Bike คือหนึ่งในบริการเรียกรถผ่านแอพลิเชั่นบนมือถือ ประเภทจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งในประเทศไทยยังถือเป็นผู้ให้บริการเพียงรายดียว หลักการใช้งานโดยทั่วไปไม่ต่างกับบริการเรียกรถออนไลน์ประเภทต่างๆ  ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน ที่รองรับแอพลิเคชั่นดังกล่าว

หนึ่งในจุดเด่นที่ผู้รับบริการส่วนใหญ่สะท้อนกับ TCIJ คือ ราคาค่าโดยสาร ที่ถูกกว่ามอเตอร์ไซดค์วินในอัตราเกือบครึ่งหนึ่ง โดยค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 10 บาท และคิดเพิ่มจากระยะทางบริการในอัตรากิโลเมตรละ 5 บาท  ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจเปรียบเทียบราคาระหว่าง Grab Bike และวินมอเตอร์ไซค์ประจำเขต  TCIJ พบว่าราคาต่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง

ค่าบริการที่ถูกกว่ากันราวกับตั้งใจตัดราคา นำมาสู่คำถามที่ว่า เช่นนั้นแล้วค่าโดยสารที่จ่ายให้กับมอเตอร์ไซค์วิน ในความเป็นจริงสามารถปรับราคาลงได้ แล้วอะไรคือปัญหาหรือส่วนต่างที่ทำให้ราคามอเตอร์ไซค์วินสูงขึ้น

'สัมปทานเสื้อวิน' ส่วนต่างดึงราคา

ไล่เรียงจากประวัติศาสตร์การขนส่งสาธารณะของไทยจะพบว่า บริการขนส่งสาธารณะในเมืองส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การผูกขาดปรากฎขึ้นในรูปแบบของระบบวิน ภายใต้ระเบียบการดูแลของกรมการขนส่งทางบก หลังจากนำรถเข้าจดทะเบียนรถสาธารณะ ผู้ขับขี่จะต้องเปลี่ยนสีป้ายทะเบียนเป็นสีเหลือง ชำระค่าธรรมเนียมให้รัฐตามกำหนดพร้อมปฏิบัติตามกฏข้อบังคับที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร การคิดค่าบริการ และสภาพรถที่นำมาใช้ ขณะที่การขึ้นทะเบียนวิน ผู้ขับขี่ในละแวกเดียวกัน สามารถทำได้โดยรวมกลุ่มยื่นขอจดทะเบียนกับเขต พร้อมระบุเส้นทางการวิ่งรับผู้โดยสาร ส่วนใหญ่จะระบุเส้นทางไม่ให้ซ้อนทับกับผู้ขับขี่รายอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง

พิจารณาเฉพาะหลักปฏิบัติ การเข้าสู่อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สามารถทำได้เพียงมีพาหนะพร้อมใช้ และทักษะการขับขี่ที่รัฐการันตีผ่านการออกใบอนุญาติ  ทว่าในทางปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก มอเตอร์ไซค์วินรายหนึ่งเล่าถึงต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อเข้าสู่อาชีพว่า สิ่งสำคัญที่มอเตอร์ไซค์วินต้องใช้เป็นต้นทุนคือ “เสื้อวิน” เสื้อวินสามารถเปลี่ยนผู้สวมใส่ได้ในรูปของการซื้อขาย เหมือนหนึ่งการซื้อขายทรัพย์สิน  เจ้าของเสื้อวินเดิมสามารถยื่นเรื่องกับสำนักงานเขตเพื่อขอเปลี่ยนชื่อบุคคล

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่าปี 2558 เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งสิ้น 105,894 คน กระจายอยู่ตามซุ้มวิน หรือวินตามเขตพื้นที่ 5,445 วิน ในแต่ละวันรับผู้โดยสารเฉลี่ยคนละ 19 เที่ยว ซึ่งเขตคลองเตยเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ขับขี่วินมากที่สุด คือ 4,650 คน ขณะที่เขตจตุจักรเป็นเขตที่มีจำนวนวินมากสุดถึง 230 วิน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่จับตา “จำนวนวินและผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร")

นายเอ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ที่หันมาขับจักรยานยนต์รับจ้างผ่าน Grab Bike เป็นอาชีพเสริม ระบุถึงราคาค่าโดยสารที่ถูกกว่ามอเตอร์ไซค์วินว่า ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ Grab Bike ไม่มีระบบเสื้อวิน รายได้จากค่าโดยสารจะถูกหักให้กับระบบ ร้อย 15 ของรายได้ต่อวัน ซึ่งผู้ขับขี่จะได้รับการประกันรายได้อยู่ที่วันละ 60 บาท นายเอ กล่าวถึงเพื่อนร่วมอาชีพหลายคนที่เคยขับวินเสื้อกั๊กว่า บางคนตัดสินใจทิ้งเสื้อวินและหันมาอยู่ภายใต้ระบบแอพฯ ดังกล่าว เพราะรายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ผู้ขับขี่ มากกว่าจะหักเข้า “ซุ้มวิน” หรือหักไปจ่ายค่าเสื้อวิน สอดคล้องกับนายบี ที่ระบุถึงสาเหตุที่ตัดสินใจหันมาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านระบบแอพฯ เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าเสื้อวินฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนต้องจ่ายอยู่ที่ 20,000 บาท ต่อเสื้อวินหนึ่งตัว และจะไม่สามารถรับผู้โดยสารข้ามเขตได้

สำหรับผู้ขับขี่ เสื้อวินคล้ายกับสัมปทานที่รัฐอนุญาติให้  มูลค่าของเสื้อวินจะขึ้นอยู่กับเส้นทางและจำนวนผู้ โดยสาร จากการสำรวจของ TCIJ พบว่า ย่านที่เสื้อวินมีราคาสูงมักเป็นย่านที่ขนส่งสาธารระประเภทหลัก เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ เข้าไม่ถึง หรือมีจำนวนน้อยและความถี่ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะย่านที่เป็นแหล่งรวมสำนักงานและธุรกรรมต่างๆ เช่น สุขุมวิท  เสื้อวินมีราคาสูงถึง 3 แสนบาท บางปีราคาซื้อขายอยู่ที่ 5 แสนบาท ซึ่งราคานี้ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลวิน เช่น ค่าจ้างคนคุมวิน สินน้ำใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อเทียบกับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายราว 2,000 บาทต่อวัน นับว่าคุ้มค่ากับส่วนต่างที่ต้องจ่าย

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ราคาค่าโดยสารถูกปรับให้ถูกลงตามระเบียบกรมการขนส่ง พร้อมกับการเกิดขึ้นของ Grab Bike ผลคือทำให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบางส่วนขายเสื้อวินทิ้งและหันมาอยู่ภายใต้ระบบที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างให้กับระบบ กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงส่วนใหญ่ที่สมาชิก Grab Bike ต้องแบกรับคือ การทำผิดระเบียบกรมการขนส่ง เนื่องจากรถที่นำไปใช้รับส่งผู้โดยสารไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ รวมถึงความขัดแย้งกับระบบวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่ ดังกรณีที่เกิดขึ้น

แนะรัฐสร้างกติการ่วม ปล่อยให้แข่งขัน

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลัก วิเคราะห์ถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า สะท้อนถึงความเปราะบางของระบบมอเตอร์ไซค์วิน คล้ายกับเป็นการตกลงกันระหว่าง 'เจ้าถิ่น’ กับ ‘เจ้าพ่อ’ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือรัฐ  ส่วนเจ้าถิ่นคือวินมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะค่าโดยสาร ผู้ใช้บริการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไปกำหนดราคากลางแต่อย่างใด และเมื่อเกิดบริการทางเลือกที่ราคาถูกกว่าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้โภคส่วนใหญ่จะเลือกใช้ ย่อมกระทบกับวงจรผลประโยชน์เดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ปรากฎการณ์ของ Grab Bike สะท้อนว่าค่าโดยสารสามารถถูกลงได้ แปลว่าเป็นไปได้ที่ค่าโดยสารมันจะต่ำกว่านี้ หากว่ามีการแข่งขัน  แต่ระบบวินฯ ไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน และการตั้งราคาวินฯ ก็ไม่ได้คุยกับประชาชนที่อยู่ในละแวกนั้น สะท้อนถึงความเปราะบางในระดับเขต ระดับละแวกบ้านของเรามาก ว่าเราไม่มีความสามารถในการรวมตัวกันเป็นประชาสังคมเพื่อสร้างการต่อรอง”

ข้อสังเกตของ ผศ.ดร.พิชญ์ ที่ชวนให้คิดต่อคือ ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนกรุงจำนวนมหาศาล กลับไม่ได้กระทบต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด ย่อมหมายความว่าหากปล่อยให้ระบบมีการแข่งขัน สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะลงตัวกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ใช้บริการ  ทางออกที่รัฐสามารถเข้ามาจัดการได้คือ การเข้าไปเจรจากับบริการขนส่งออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ประเภทต่างๆ และสร้างข้อตกลงร่วมกัน ในการทำให้ถูกต้องตามระเบียบรถรับจ้างสาธารณะ  รวมถึงการจัดสรรค์ผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ระหว่างกลุ่มเหล่านี้ 

อ่าน 'จับตา': “จำนวนวินและผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6201

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: