จาก 'รายงานผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 (1 ตุลาคม 2557 - 30 กันยายน 2558)' ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า ณ เดือน ก.ย. 2558 มีประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 48.386 ล้านคน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนสิทธิแล้ว จำนวน 48.336 ล้านคน ในด้านการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข พบว่า มีการใช้บริการผู้ป่วยนอก จำนวน 159.480 ล้านครั้ง อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเท่ากับ 3.298 ครั้ง/คน/ปี และการใช้บริการผู้ป่วยใน จำนวน 5.707 ล้านครั้ง อัตราการใช้บริการเท่ากับ 0.118 ครั้ง/คน/ปี
ในด้านการรักษาโรคต่าง ๆ นั้น พบว่าในปีงบประมาณ 2558 มีการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้ารับบริการ 322,996 คน ได้รับยาต้านไวรัสจำนวน 258,039 คน (ร้อยละ 79.89) และผู้ยังคงอยู่ในระบบการดูแลรักษาต่อเนื่อง จำนวน 204,363 คน (ร้อยละ 79.20) ด้านการบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 40,429 คน เป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง จำนวน 21,474 คน ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 13,289 คน ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรายใหม่รับยา EPO (HD selfplay) จำนวน 4,077 คน ผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวน 185 คน และผู้ป่วยรับยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไต จำนวน 1,404 คน
ในด้านการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้รับการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคภายหลังการเจ็บป่วยเพื่อลดหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อน (Secondary prevention) จำนวน 3,606,930 คน
ด้านการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ มีผู้พิการลงทะเบียนสะสมจำนวน 1,146,156 คน มีการสนับสนุนเครื่องช่วยคนพิการจำนวน 26,991 คน/ 28,240 ชิ้น มีการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลุ่มผู้พิการจำนวน 231,902 คน ผู้สูงอายุ 235,499 คน และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ 316,094 คน
การบริการการแพทย์แผนไทย มีหน่วยบริการแพทย์แผนไทยที่ผ่านการรับรองจำนวน 597 แห่ง และมีผู้รับบริการแพทย์แผนไทยประเภท นวด ประคบ อบสมุนไพร จำนวน 1,800,511 คน/ 4,477,501 ครั้ง รับการบริการฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอด 35,668 คน/ 132,161 ครั้ง และมีการสั่งใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 3,618,412 คน/ 6,089,216 ครั้ง รวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จำนวน 2,222,297 คน
ร้องเรียน 4,269 เรื่อง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับบริการตามสิทธิ
ในปีงบประมาณ 2558 นั้น สปสช. ได้ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 4,269 เรื่อง โดยเป็นเรื่องไม่ได้รับบริการตามสิทธิที่กำหนด จำนวน 1,580 เรื่อง (ร้อยละ 37.01) เรื่องไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร จำนวน 1,013 เรื่อง (ร้อยละ 23.73) เรื่องถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ จำนวน 956 เรื่อง (ร้อยละ 22.39) และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน จำนวน 720 เรื่อง (ร้อยละ 16.87) โดยเรื่องร้องเรียนดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 3,585 เรื่อง และเรื่องร้องเรียนได้รับการแก้ไขภายใน 25 วันทำการ จำนวน 2,862 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 74.05 ทั้งนี้ประชาชนที่ใช้สิทธิ สปสช. สามารถโทรร้องเรียนได้ที่โทรศัพท์สายด่วน สปสช. 1330.
ปี 2560 เหมาจ่ายรายหัว 3,109.87 บาท เตรียมเพิ่มงบให้ รพ.ห่างไกลมากขึ้น
ทั้งนี้จากการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 เฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มร้อยละ 2.67 ส่วนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขย้ายไปตั้งที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งทั้งหมดผ่านการหารือร่วมระหว่าง สปสช. และ สธ. แล้วโดยจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ลดระยะเวลารอคิวผ่าตัด การได้รับบริการแพทย์แผนไทย และการได้รับการส่งเสริมป้องกันโรค และ สธ. สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะทำงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เป็นต้น ขณะที่การออกแบบการจัดสรรงบฯ จะทำให้หน่วยบริการมีความคล่องตัวในการให้บริการมากขึ้น และเพิ่มกลไกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รักษาการเลขาธิการ สปสช. ได้ระบุกับสื่อมวลชนว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 ได้รับทั้งสิ้น 165,773.0144 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ 42,307.234 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช. 123,465.7804 ล้านบาท สำหรับ งบประมาณทั้ง 6 รายการได้แก่ 1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 48.8029 ล้านคน จำนวน 151.770.6746 ล้านบาท 2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 291,900 ราย 3,122.408 ล้านบาท 3.ค่า บริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 52,911 ราย 7,529.2353 ล้านบาท 4.บริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง รวมจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 2,822,600 ราย 960.409 ล้านบาท 5.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 173 แห่ง 1,490.2875 ล้านบาท และ 6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 150,000 คน 900 ล้านบาท
ในส่วนของการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 ที่ได้รับ 3,109.87 บาทต่อประชากรนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน และคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้พิจารณาแล้ว แบ่งเป็น 8 รายการ ดังนี้ 1.บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป 1,137.58 บาท 2.บริการผู้ป่วยในทั่วไป 1,090.51 บาท 3.บริการกรณีเฉพาะ 315.98 บาท 4.บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 405.29 บาท 5.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 16.13 บาท 6.บริการแพทย์แผนไทย 10.77 บาท 7.ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาท และ 8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา41 4.92 บาท
ทั้งนี้ รักษาการเลขาธิการ สปสช. ยังได้ระบุว่า เกณฑ์การจัดสรรงบฯ บัตรทองที่มีการปรับเปลี่ยนในปีนี้ อาทิ มีการยกเลิกการจ่ายเงินล่วงหน้าให้หน่วยบริการ เนื่องจากมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องที่หน่วยบริการถูกเรียกเงินคืนกลับในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบฯแบบขั้นบันได โดยหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่กันดารประชากรน้อย แต่จำเป็นต้องมีหน่วยบริการ จะได้รับการจัดสรรงบฯ รายหัวมากกว่าปกติ มีการกันเงินไว้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท สำหรับการปรับเกลี่ยแบบขั้นบันได ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสังกัด สธ.เข้าเกณฑ์นี้ 200 แห่ง จากทั้งหมด 1,000 แห่ง และการบริหารจัดการค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และป้องกันโรคนั้น ได้มีการกันเงินไว้ปรับเกลี่ยระดับประเทศ เขต จังหวัด จำนวนไม่เกิน 1,900 ล้านบาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ