โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แรงหนุนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐที่มุ่งหวังกระตุ้นคนไทยเที่ยวในประเทศช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ด้วยมีวันหยุดยาวและเทศกาลหลายช่วงเวลา อีกทั้งการทำการตลาดที่เข้มข้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ในช่วงปลายปีนี้จะมีปัจจัยเฉพาะภายในประเทศ แต่มองว่า คนไทยน่าจะยังคงมีการเดินทางท่องเที่ยว อาจมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของกลุ่มประชาชนทั่วไปและองค์กรทั้งภาครัฐภาคเอกชน โดยเมื่อพิจารณาด้านกำลังซื้อและไลฟ์สไตล์แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนกรุงเทพฯ เป็นตลาดที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างมุ่งเน้นทำการตลาดอย่างมากในระยะนี้เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม-18 พฤศจิกายน 2559 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯ จำนวน 982 คน ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพหลัก ช่วงอายุ และระดับรายได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงสาระสำคัญที่อาจเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ดังต่อไปนี้
แม้คนกรุงเทพฯ มีแผนเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ลดลงไปบ้างแต่มาตรการภาษีของภาครัฐอาจช่วยกระตุ้นกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ
โอกาสผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก/ธุรกิจนำเที่ยว ใช้จังหวะนี้ชูมาตรการภาครัฐทำการตลาดเพื่อกระตุ้นคนกรุงเทพฯ
จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนท่องเที่ยวในประเทศอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 55.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ (ร้อยละ 10.6) ดังนั้น กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนท่องเที่ยวในประเทศทั้งหมด (ร้อยละ 66.0) ซึ่งลดลงไปบ้างจากการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงหยุดยาวกับครอบครัว/กลุ่มเพื่อน (คิดเป็นร้อยละ 82.0 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ) อีกส่วน คือ กลุ่มที่มีแผนแวะท่องเที่ยวระหว่างทางกลับภูมิลำเนา/เยี่ยมญาติ (คิดเป็นร้อยละ 15.0 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ) ขณะที่ ที่เหลือเป็นกลุ่มที่เดินทางไปอบรมสัมมนาในต่างจังหวัด
ขณะที่ กลุ่มที่มีแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศอย่างเดียว (ร้อยละ 12.6) ส่วนใหญ่เลือก เดินทางไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับปลายทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไม่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ (ร้อยละ 21.4) โดยกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ที่ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในระยะนี้นั้น ด้วยมีหลากหลายเหตุผล เช่น บางรายไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวเพราะอยากจะลดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น บางรายยังไม่ได้ตัดสินใจแต่อาจเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้านาน ส่วนบางรายได้เดินทางไปท่องเที่ยวแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นต้น
จากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนตลาดไทยเที่ยวไทยในเดือนธันวาคม 2559 นี้ อาจช่วยกระตุ้นการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย โดยเฉพาะตลาดคนกรุงเทพฯ ที่ยังไม่มีแผน/ยังไม่ได้ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้เร่งทำการตลาดเพื่อดึงดูดตลาดกลุ่มนี้ เช่น จัดรายการส่งเสริมการขาย ส่วนผู้ประกอบการที่มีห้องพักว่างควรประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเป้าหมายทราบว่ายังมีห้องว่างสามารถสำรองได้ เป็นต้น
เมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างเชียงใหม่ ชลบุรี ยังคงได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 อย่างน้อย 1 ทริป
ผลการสำรวจ พบว่า “เชียงใหม่” เป็นปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รองลงมา คือ เชียงราย เลย กระบี่ และชลบุรี ทั้งนี้ ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ปลายทางท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯ มีแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ไม่ต่างจากผลการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก
จากผลสำรวจข้างต้น ชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ แม้ภาคธุรกิจในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลักจะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากตลาดคนกรุงเทพฯ แต่ผู้ประกอบการในเมืองรองก็ควรใช้จังหวะนี้นำเสนอบริการ/แพ็คเกจท่องเที่ยวเชื่อมโยง เช่น ธุรกิจนำเที่ยวใช้จังหวะที่ภาครัฐมีมาตรการนำค่าบริการจากบริษัทนำเที่ยวมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือนธันวาคม 2559 อาจนำเสนอแพ็คเกจทัวร์รับลมหนาวเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง แพ็คเกจทัวร์รับลมชมทะเลอันดามัน ภูเก็ต-กระบี่-พังงา เป็นต้น โดยในส่วนนี้ ภาครัฐอาจเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อทำให้เมืองท่องเที่ยวรองเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อให้การเดินทางระหว่างเมืองท่องเที่ยวหลักและรองมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
โดยกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีแผนทำระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว อันดับ 1 คือ เที่ยวชมความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อย่างภูเขา น้ำตก ทะเล รองลงมา คือ การทำบุญไหว้พระ และการลิ้มลองอาหารท้องถิ่นจากร้านที่มีชื่อเสียง ตามลำดับ
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนใหญ่มีแผนจะเดินทางไปกับครอบครัว/เพื่อน โดยมีแผนเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 1 ทริป คิดเป็นร้อยละ 75.3 และอีกส่วน คือ กลุ่มที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ 2 ทริปขึ้นไป
การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจทำให้มีการจัดโปรโมชั่นๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจวางแผนท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นพฤติกรรมการวางแผนท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2559 แตกต่างจากปีที่แล้ว โดยโปรโมชั่นของธุรกิจโรงแรม/ธุรกิจสายการบินเป็นปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญมากเป็นอันดับ 1 (เทียบกับการชักชวนของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจวางแผนท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว) รองลงมา ได้แก่ วันหยุดยาว/ความพร้อมด้านเวลา และโปรโมชั่นในงานท่องเที่ยว รวมถึงอิทธิพลจากสื่อต่างๆ เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
การสำรวจครั้งนี้ยังสะท้อนพฤติกรรมเกี่ยวกับการสำรองที่พัก พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยมากเลือกที่พักประเภทรีสอร์ทมากเป็นอันดับ 1 รองลงมา ได้แก่ โรงแรม และโฮมสเตย์ รวมถึงบ้านญาติ/เพื่อน ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ส่วนใหญ่มีผู้ร่วมเดินทางอยู่ที่ประมาณ 2-5 คนต่อทริป โดยกลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะสำรองที่พักโดยตรงกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของธุรกิจและการจัดรายการส่งเสริมการขายในงานท่องเที่ยว ขณะที่ อีกส่วนเลือกสำรองที่พักผ่านออนไลน์แทรเวลเอเจนซี่ (Online Travel Agency: OTA) อย่าง Agoda.com Booking.com และ Expedia.com เป็นต้น ผลการสำรวจครั้งนี้ ช่วยสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันในตลาดที่ภาคธุรกิจได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าเป้าหมาย อย่างธุรกิจสายการบินเพิ่มความถี่ในการนำเสนอโปรโมชั่นด้านราคาเพื่อกระตุ้นตลาดคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมการจองสินค้าท่องเที่ยวแบบนาทีสุดท้าย หรือ Last Minute Booking
การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ประมาณร้อยละ 64.7 ใช้จ่ายด้วยเงินสด
การสำรวจครั้งนี้สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 64.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดด้วยเงินสด รองลงมา คือ ใช้จ่ายด้วยเงินสดและบัตรเครดิตในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้จ่ายส่วนใหญ่สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคนต่อทริป รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายที่พัก ประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อคนต่อทริป และค่าใช้จ่ายสำหรับของฝากของที่ระลึก ประมาณ 500-1,000 บาทต่อคนต่อทริป
จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายด้วยเงินสดระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากร้านค้าที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึก ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นที่อาจสะดวกรับเป็นเงินสดมากกว่า แต่บางรายมีความพร้อม สามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น ก็ยินดีให้ลูกค้าสามารถเลือกชำระค่าสินค้าและบริการได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต
ที่มาข้อมูล: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มาภาพ: sivangold (CC0 Public Domain)
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ