“คิดถึงพี่ไหม” บทเพลงที่ไม่เคยตาย จากปลายปากกาของนักดนตรีที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย

อิทธิเดช พระเพ็ชร 16 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 13690 ครั้ง


หลังอ้อมกอดทั้งน้ำตาของไอ้แผนและนางสะเดา  เสียงเพลง “คิดถึงพี่ไหม” ผ่านการขับร้องของวันชนะ เกิดดี พลันดังขึ้นมา  และนับจากนั้น “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ก็กลายเป็นหนังที่อยู่ในหัวใจของใครหลายคน

คิดถึงพี่หน่อย นะกลอยใจพี่ ห่างกันอย่างนี้ น้องคิดถึงพี่บ้างไหม อย่าลืม อย่าลืม อย่าลืมสัจจา สัญญาที่ให้ ว่าตัวห่างไกลหัวใจชิดกัน....”

กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2493 บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ปรากฏคอลัมน์ข่าวเล็กๆพร้อมรูปนักดนตรีชายผู้หนึ่ง ข้อความบรรยายใต้ภาพเขียนว่า

“ศิลปินผู้เคราะห์ร้าย พยายามฆ่าตัวตาย 3 ครั้งๆ สุดท้ายครวญถึง น.ส.พ. ตำหนิแพทย์” [1]

ดูเหมือนว่านักดนตรีชายผู้นี้ตั้งใจแน่วแน่ที่จะพาตนเองไปเผชิญหน้ากับยมบาลเจ้าขา เพราะเขาได้เขียนจดหมายลาตายไว้ว่า

“ผมถูกโรคร้ายทรมานมาสิบปี ผมกินยาครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว วัณโรคในไตทรมานผมมาก..”

แล้วเขาก็ยังจบประโยคใจความสำคัญของจดหมายอย่างขมขื่น

 “ความจนนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมต้องตัดสินใจในวิธีขี้ขลาดอย่างนี้ ซึ่งเห็นว่าง่ายและไม่ลำบากกับคนอื่น ”

แต่อนิจจา ยมบาลเจ้าขากลับปฏิเสธความต้องการของเขา ด้วยการที่แพทย์สามารถล้างท้องได้สำเร็จช่วยให้เขารอดตายอย่างทันท่วงที  ภายหลังจากการล้างท้องเขาได้แต่รำพึงว่า

“เวรเท่านั้นที่ยังไม่ยอมให้ผมหนีมันไป...”

อีกหลายวันต่อมา  ปรากฏว่าได้มีบุคคลผู้เห็นอกเห็นใจบริจาคเงิน 10 บาทให้แก่ชายนักดนตรี  โดยผู้บริจาคนั้นเป็นดาราละครเวทีคนสำคัญแห่งยุคนามว่า “พรรณี สำเร็จประสงค์”  

ชายนักดนตรีที่เวรเท่านั้นยังไม่ยอมหนีจากเขาไป คือชายคนเดียวกันกับผู้ที่อีก 41 ปีต่อมาได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2534  เขาถูกเรียกขานในวงการเพลงว่า “ครูพยงค์ มุกดา”

“คิดถึงพี่ไหม” เป็นผลงานการประพันธ์จากปลายปากกาของครูพยงค์ มุกดาเมื่อปี พ.ศ. 2506 [2] (เข้าใจว่าแต่เดิมเพลงมีชื่อว่า “คิดถึงพี่หน่อย”) เพื่อมอบให้กับลูกศิษย์รูปหล่อนาม “ทิว สุโขทัย” โดยทิวนั้นมาสมัครเป็นนักร้องประจำวงครูพยงค์พร้อมกับเพื่อนรักอย่าง ชินกร ไกรลาศ แต่ครูพยงค์กลับเลือกรับทิวเข้าสู่วงดนตรีไว้แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม  ต่อมาภายหลัง ทิวได้ขอร้องครูพยงค์ให้ช่วยรับ ชินกร ไกรลาศ เข้าเป็นนักร้องประจำวงด้วย [3]

ครูพยงค์เคยเล่าถึงการเขียนเพลง “คิดถึงพี่ไหม” ให้กับลูกศิษย์หนุ่มไว้ว่า

"ทิว สุโขทัยเป็นเด็กมาจากบ้านนอก...เขาจากบ้านมาเพื่อจะก่อสร่างสร้างตัว เพราะฉะนั้น การจากไกลของเขามาย่อมจะห่างคนรัก หัวใจเขายังคิดถึงอยู่ จุดนี้ล่ะที่ผมเอามาสร้างจินตนาการว่า เวลาไหนคิดถึงกัน ก็สัญญาว่าให้มองดูดวงจันทร์ คืนไหนข้างแรมฟ้าแซมดารา น้องจงมองหาดาวประจำเมือง  อะไรอย่างนี้  คืนไหนข้างขึ้นก็ดูพระจันทร์  ข้างแรมก็ดูดาวประจำเมือง  เราต่างเห็นกันเนืองๆ  ถึงสุดมุมเมืองไม่ไกล   ความรู้สึกที่เรามาคิดถึงในแง่ที่จะทำเพลงให้คนดูบุคลิกการร้องของนักร้อง เราก็เอาความรู้สึกที่เอาจิตเอาใจมาใส่ให้เขา...มีความรู้สึกคิดถึงคู่รักของเขาที่อยู่ที่บ้าน  เขาจะร้องเพลงนี้ได้เพราะ..." [4]

อย่างไรก็ตาม เพลง “คิดถึงพี่ไหม” เวอร์ชั่นที่โด่งดังที่สุดกลับถูกถ่ายทอดผ่านนักร้องเจ้าของเสียงหวานหยดปานน้ำผึ้งอย่าง “ศรคีรี ศรีประจวบ” ผู้ที่เคยมาสมัครเป็นลูกศิษย์ครูพยงค์ถึงสองครั้งแต่ถูกปฏิเสธ  ทว่าต่อมาเขากลับไปเป็นนักร้องโด่งดังจากผลงานการเขียนเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน [5]

เหตุที่ “คิดถึงพี่ไหม” เวอร์ชั่นของทิว สุโขทัยไม่ประสบความสำเร็จนัก  อาจมาจากการที่ทิวไม่ถนัดเพลงแนวลูกทุ่งจ๋า แต่เหมาะกับเพลงกึ่งลูกทุ่งกึ่งลูกกรุงมากกว่า [6] ภายหลังจากที่นักร้องหนุ่มหล่อคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง  ครูพยงค์ มุกดาจึงได้ไปตามศรคีรี ศรีประจวบซึ่งถึงแม้ตอนนั้นชื่อเสียงค่อนข้างแผ่วลงไปบ้าง  เนื่องจากมีชื่อเข้าไปพัวพันคดีสังหารคนในวงการเดียวกัน[7]  โดยให้กลับมาขับร้องบทเพลงนี้ใหม่ในปลายปี พ.ศ. 2514    

เพลง “คิดถึงพี่ไหม”  ผ่านลูกเอื้อนอ่อนหวานได้ทำให้ศรคีรี ศรีประจวบกลับมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่ง  ขณะเดียวกันก็กลายเป็นบทเพลงสุดท้ายที่เขาบันทึกเสียงเอาว้  เพราะในต้นปี พ.ศ. 2515 ศรคีรีเกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต

สำหรับการบันทึกเสียงบทเพลงนี้  เล่ากันว่า ศรคีรีขับร้องโดยปิดไฟในห้องบันทึกให้มืดสนิทเพื่อให้ได้อารมณ์บรรยากาศค่ำคืน[8] และยังมีเสียงลือเล่าอ้างอีกว่า เมื่อครั้งที่ศรคีรีนำบทเพลงนี้ไปทำการแสดง เขาจะดับไฟบนเวทีและร้องท่อนแรกของเพลงด้วยเสียงสด  และเมื่อศรคีรีปรากฏตัวขึ้น พลันเสียงปรบมือก็ดังอย่างกึกก้องจากแฟนเพลง [9]

“คิดถึงพี่ไหม”  เป็นหนึ่งบทเพลงที่ยังคงถูกร้องขับขานโดยนักร้องรุ่นแล้วรุ่นเล่า อาทิ  สายัณห์ สัญญา, สันติ ดวงสว่าง, ก๊อต จักรพรรณ์, ไมค์ ภิรมย์พร, ไท ธนาวุฒิ, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, เอกชัย ศรีวิชัย ไปจนถึงนักร้องรุ่นใหม่อย่าง โดม จารุวัฒน์ หรือ อะตอม ชนกันต์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าครูพยงค์ มุกดา, ทิว สุโขทัย  และศรคีรี ศรีประจวบ  ทุกคนล้วนได้ลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว  ไอ้แผนกับนางสะเดาแห่งมนต์รักทรานซิสเตอร์จะกลายเป็นเพียงตัวละครในภาพยนตร์เก่าๆเรื่องหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ไทย  อีกทั้งผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้อย่างวัฒน์ วรรลยางกูร ก็ยังมิได้กลับคืนบ้านเกิดเมืองนอน  รวมถึงเป็นเอก รัตนเรืองก็คงจะไม่หวนกลับมาทำภาพยนตร์แนวนี้อีกครั้ง

แต่ถึงกระนั้น ชีวิตชีวาของบทเพลง “คิดถึงพี่ไหม” และภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์”  ก็ยังคงอยู่กับความทรงจำอันแสนสุขของผู้ชมเสมอมา  เหมือนประโยคสุดท้ายของเพลงที่พรั่งพรูผ่านปลายปากของชายคนเดียวกันกับที่เคยเขียนจดหมายลาตายให้กับความขื่นขมของลมหายใจตัวเอง

“ ฝากใจกับจันทร์ ฝากฝันกับดาว ทุกคราวก็ได้ เราต่างสุขใจเมื่อคิดถึงกัน ”

             



[1] ถาวร สุวรรณ. ฝ่าทะเลน้ำหมึก. (กรุงเทพฯ:มติชน,2550). หน้า 97-98.

[2] วัฒน์ วรรลยางกูร, “คมเคียวคมปากกา-ครูพยงค์ กับ ทิว สุโขทัย “ ,ที่มา http://www.komchadluek.net/news/ent/50214

[3] ดู ประวัติและผลงาน นายชิน ฝ้ายเทศ หรือ ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง,ที่มา http://www.m-culture.go.th/ewtadmin/ewt/sukhothai/ewt_dl_link.php?nid=424

[4] ดู ตำนานลูกทุ่งไทย ทิว สุโขทัย, ที่มา http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=22688.0

[5] ดู บ้านคนรักลูกทุ่ง, “ประวัติของศรคีรี ศรีประจวบ - ตำนานลูกคอ 7 ชั้น”, ที่มา http://www.bankhonrakluktung.com/board/index.php?topic=1261.0

[6] วัฒน์ วรรลยางกูร, อ้างที่มาแล้ว.

[7] บ้านคนรักลูกทุ่ง,อ้างที่มาแล้ว.

[8] บ้านคนรักลูกทุ่ง,อ้างที่มาแล้ว.

[9] ดู ความคิดเห็นของ บุญยัง กาญจนา ใน https://www.youtube.com/watch?v=r9t8KJSCRug

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: